สนท. ชี้ เพราะความไม่เป็นธรรม คือชนวนเหตุ ทำนิสิตนศ. ร่วมแฟลชม็อบไล่รบ.

ตัวแทน สนท. เผย ชนวนจุดร่วมม็อบ นศ. บอก ที่ไม่ทนเพราะ ‘ไม่เป็นธรรม’

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 22 พฤษภาคม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ร่วมกับ เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) และ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย จัดเสวนา “เมื่อเกิดรัฐประหาร การต่อต้านจึงเป็นหน้าที่” เนื่องในวันครบรอบ 6 ปีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านเฟซบุ๊ก กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group – DRG

นายฟาห์เรนน์ นิยมเดชา กรรมการกลางสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) กล่าวถึง การรัฐประหารว่า ย้อนไปปี 2557 ตนยังเรียนอยู่มัธยม ที่โรงเรียนประจำแห่งหนึ่ง จึงจำได้พอเลือนลางเพราะยังไม่สนใจประเด็นสังคม การเมืองมากนัก เพราะไม่มีโทรศัพท์ และโทรทัศน์ แต่เมื่อมีการทำรัฐประหาร ปี 2557 จำได้ว่าก็มีการประกาศยุบสภานักเรียน ในโรงเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับการรัฐประหาร แต่ส่วนตัวมีความซึมซับทางการเมืองจากครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้น เวลาพูดถึงรัฐประหารจึงต้องพูดว่า เป็นพลพวงมาจากปี 2549 – 2557 ระนาบความขัดแย้งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อพูดถึงการปฏิรูป โดยนัยยะเรามักหมายถึง “การนำพาสังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น” หากจำได้ที่ผ่านมามีม็อบทั้ง 1.พันธมิตร 2.นปช. และ 3. กปปส. จนกระทั่งปี 2563 ก็ยังแทบจะไม่เห็นการปฏิรูป คำถามคือ คนเหล่านั้นที่เรียกร้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ตอนนี้ไปอยู่ไหน หรือมองให้ดีคนเหล่านั้นได้ดิบได้ดีในรัฐบาลประยุทธ์ 2 หรือไม่

“ชัดเจนว่า ม็อบใหญ่ล่าสุดไม่ใช่ม็อบด้วยความบังเอิญ แต่ชนชั้นนำปูทิศทางให้สังคมไทยเดินไปเช่นนี้ ย้อนกลับไปปี 57 อาจไม่ชัด แต่ปัจจุบันย้อนมารัฐบาลประยุทธ์ 2 พูดได้ว่า มีส่วนยึดโยงกับรัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่มาจากการยึดอำนาจ ตอนปี 2540 เราพยายามถกให้มีองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อสร้างความสมดุลให้กับรัฐบาล แต่ ณ วันนี้ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนเดียวกันกับรัฐบาล เป็นองค์กรอิสระที่มีความพิลึก พิกล ไม่ใช่ระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตย แต่รวมอยู่ในรัฐบาลที่ชี้ได้ว่าองค์กรใดจะเป็นอย่างไร หลังจากปี 2557 มีการประกาศคำสั่ง คสช.จำนวนมาก โดยส่วนมากโยกย้าย ปลด หรือ แต่งตั้ง ตำแหน่งทางราชการ ชวนให้คิดว่า นี่คือการบงการ บริหารระบบราชการให้อยู่ในกำมือให้ได้ ระบบราชการจึงพังลายจนแทบไม่เหลือภาพความเป็นระเบียบของระบบราชการแบบเดิม

Advertisement

อีกประการ คือ มิติ ทางเศรษฐกิจ หลายคนที่ไม่นิยมระบบประชาธิปไตย มองว่า ประชาธิปไตยไม่เคยทำให้ไทยก้าวหน้าได้ แต่ลองย้อนดูรัฐประหารตั้งแต่ปี 2475 จนถึง ปัจจุบัน มีรัฐบาลที่อยู่ครบวาระ 4 ปี ได้เพียงชุดเดียว จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน ว่า ประชาธิปไตยพาประเทศไปข้างหน้าได้ เมื่อไม่เปิดให้ประชาธิปไตยทำหน้าที่ด้วยตัวเอง ไม่ได้ปล่อยให้กลไกที่มีอยู่คอยตรวจสอบถ่วงดุล แต่พยายามเอาอำนาจนอกระบบมาแทรกแซง แล้วบอกว่า เป็นอำนาจที่ชอบธรรม ซึ่งตรวจสอบไม่ได้ เพราะระบบตรวจสอบทั้งหมดบอด และถูกปิด เราจึงพูดไม่ได้อย่างถึงที่สุด ว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่คอร์รัปชั่น”

“เศรษฐกิจไทย ย้อนกลับไปเราเคยได้รับการยอมรับในอาเซียนว่า คือประเทศก้าวหน้ากว่าสิงคโปร์ ในมิติ ประชาธิปไตย และมิติเศรษฐกิจ เมื่อก่อนเราไม่เป็นรองเวียดยาม และมาเลเซีย ทุกวันนี้เราแทบรั้งท้าย จาก 7 ใน 10 ประเทศ ที่เข้าร่วมการวัดค่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐ ไทยอยู่อันดับที่ 6 ถามว่า การยึดอำนาจของ คสช.นำพาประเทศไปข้างหน้าได้หรือไม่ ตัวเลขที่ปรากฏตอบได้อย่างชัดเจน”

นายฟาห์เรนน์ เปิดเผยว่า ส่วนตัวก้าวมาเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งแรก เริ่มจากกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เทพา มีโอกาสต่อต้านด้วยการเดินขบวนหลายครั้ง จนสุดท้ายเบรกไป ที่ผ่านมามีการอุ้มพลเรือนเข้าค่ายทหารและออกมาเสียชีวิตบ้าง ทุพพลภาพบ้าง จนเหตุการณ์ล่าสุด มีการเลือกตั้ง ตนไม่ได้เลือกพรรคอนาคตใหม่ แต่สิ่งที่ปรากฏและเกิดขึ้น คืออารมณ์ที่เราไม่ยอมทนอีกต่อไป ว่าสังคมไทยเป็นอะไร พรรคการเมืองหนึ่งเปิดรับเงิน บอกไม่ผิด อีกพรรคกู้เงิน มีดอกเบี้ย และสัญญากู้ บอกว่า ผิด คิดว่าสังคมไทยเดินมาถึงรอยร้าวที่ยากมากจะประสานกลับมา เมื่อระบบที่มีอยู่ไม่สามารลถเปิดโอกาสให้แชร์ความคิดเห็นได้อย่างเป็นธรรม รัฐบาลคุณประยุทธจึงย้อนกลับไปยิ่งกว่า สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งกลไกที่เกื้อหนุนคุณประยุทธ์ ไม่ว่าจะ ส.ว. พรรคการเมือง และองค์กรอิสระที่คอยถ่วงดุล ถูกพังไปทั้งหมดจนไม่เหลือความสมดุลของประชาธิปไตย

Advertisement

“ในวาระครอบรอบ 10 ปี สลายชุมนุม 53 จึงอยากเรียกร้องเรื่องความเป็นธรรมในสังคม ถ้าเราพิสูจน์ไม่ได้ว่าความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน ให้มองทหาร ทหารในม็อบหนึ่งเป็นการ์ดให้ประชาชน อีกม็อบทหารเอาปืนยิงกราดประชาชน อยากให้มองว่ามีความเป็นธรรมน้อยแค่ไน เรื่องโควิด-19 รัฐสามารถเยียวยาให้ทุกคนได้อย่างถ้วนหน้า โดยอาจลดจำนวนเงินเหลือ 3,000 บาท เพราะไม่ใช่เวลาพิสูจน์ว่า ใครลำบากกว่าใคร มีคำกล่าวที่ว่า ช่วยคนรวย 100 คน ดีกว่าช่วยคนจน 1 คนที่ทุกข์ยาก ทางออกที่เหลือทางเดียว คือเยียวยาทั่วถึง และ ถ้วนหน้า” นายฟาห์เรนน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image