นักวิชาการส่อง‘พท.’ แตกตัว-ตั้งพรรค(อีก) รับการเมืองวิถีใหม่

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการถึงกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) บางส่วนจะแยกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ รวมถึงกลุ่มการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพรรคเพื่อไทยมีปัจจัย 3 ประการ 1.จากโครงสร้างภายในพรรค ปัญหาสำคัญคือความไม่ชัดเจนในตัวผู้นำหรือแกนนำในทางยุทธศาสตร์ของพรรค มีทั้งแกนนำที่เป็นหัวหน้าพรรค ประธานยุทธศาสตร์พรรค ประธานกิจการพิเศษ ความเป็นเอกภาพจึงไม่เกิดขึ้น ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้นำตัวจริง และในสถานการณ์ปัจจุบันพรรคไม่สามารถที่จะหาบุคคลในระดับแกนนำได้อย่างชัดเจน

พรรคนี้ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อในสภา ทำให้เป็นปัญหาอุปสรรคกับการทำงานของพรรค และในอนาคตอาจนำไปสู่ความแตกแยกเพิ่มเติม พรรคเพื่อไทยถือเป็นกลุ่มการเมืองขนาดใหญ่ ดังนั้น การมีกลุ่มย่อยในพรรคจึงเป็นเรื่องปกติ และบุคคลในแต่ละกลุ่มจะมีทัศนคติ อุดมการณ์ วิธีปฏิบัติทางการเมืองที่ต่างกัน

Advertisement

2.ปัจจัยที่เกิดขึ้นจากบริบทแวดล้อมทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ขาดความคล่องตัว และเสียเปรียบในการเลือกตั้ง

นอกจากนั้น บริบททางสังคมวันนี้การเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากมาย การเมืองในมิติใหม่ได้เกิดขึ้น พรรคการเมืองจึงต้องปรับตัวให้ทัน ไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่พรรคเพื่อไทยเป็นคิวต่อไป แม้จะก่อตั้งพรรคเพียง 20 ปี ดังนั้นกระบวนการนี้พรรคต้องปรับตัวให้สอดรับกับบริบทแวดล้อม

3.สมดุลทางการเมืองและโครงสร้างในสภาที่เปลี่ยนแปลงไป เดิมฝ่ายค้านกับรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ แต่หลังจากยุบพรรคอนาคตใหม่ ในสภาวะผึ้งแตกรัง ทำให้เสียงของฝ่ายค้านลดลง ประกอบกับการเลือกตั้งซ่อมหลายเขต โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น พื้นที่ยุทธศาสตร์หลักของพรรคเพื่อไทยก็ยังแพ้การเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นคะแนนเสียงในสภาที่เปลี่ยนไป ทำให้พรรคเพื่อไทย ต้องปรับตัว

Advertisement

การแยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่ เป็นพรรคขนาดกลางเพื่อให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อในอนาคต หากมองในแง่ยุทธศาสตร์ ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน ระหว่างช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้งและช่วงที่มีการเลือกตั้ง สำหรับช่วงที่มีการเลือกตั้งการใช้วิธีการแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อยอาจทำให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเติมเต็มพรรคเพื่อไทย จากการเลือกตั้ง
ที่ผ่านมา

แต่ถ้าแยกตัวออกมาในช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้งเชื่อว่าไม่เป็นผลดีมากนัก เพราะว่าในกระบวนการทางการเมืองในสภา การมีมติพรรค เพื่อให้เป็นเอกภาพคงเกิดขึ้นได้ยาก แม้จะมีฐานรากมาจุดเดียวกัน การตัดสินใจคงไม่เหมือนกัน เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าหากเป็นพรรคใหญ่เหมือนเดิมความเป็นเอกภาพจะมีมากกว่า

ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงของพรรคเพื่อไทยจะเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ของพรรคฝ่ายค้านโดยภาพรวม และยืนยันว่าการตั้งพรรคใหม่ในช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้งไม่เป็นผลดี หากไม่ดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม เหมือนเป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึก

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

พรรคเพื่อไทย มีปัญหาภายในมานานแล้ว ขณะที่นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยน่าจะลดบทบาทลง ไม่คล่องแคล่วเหมือนในอดีต ส่วนพรรคก็มีบุคคลระดับแกนนำ ที่ยังไม่ยอมลงรอยกันในบางเรื่อง ดังนั้น การมอบหมายให้บุคคลใดมาทำหน้าที่โดยอำนาจเต็มคงทำได้ยาก

อีกประการนักการเมืองระดับมืออาชีพคงประเมินแล้วว่าการตั้งพรรคการเมืองที่มีขนาดกลางจะมีความคล่องตัวมากกว่า เหมือนที่พรรคเพื่อไทย เคยแตกออกเป็นหลายพรรคก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562

ต้องเข้าใจว่านักการเมืองไทยส่วนใหญ่มีเป้าหมายเป็นนักปฏิบัติการ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้มีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศหรือเป็นพรรครัฐบาล มีน้อยมากที่จะเป็นนักอุดมการณ์ที่ไม่ชอบพวกสืบทอดอำนาจ ดังนั้น ในวันนี้นักการเมืองอาชีพจะต้องเลือกว่าจะมีอุดมการณ์แบบเก่า โดยเป็นฝ่ายค้านไปอีก 7-8 ปี หรือจะไปอยู่กับทหาร

เชื่อว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคเพื่อไทยอาจถูกปรับให้เล็กลง หรืออาจจะชูอุดมการณ์เดิมๆ น้อยกว่าในอดีต เพราะในสายตาคนนอก ที่ไม่ทราบว่าวงในของจริงจะเป็นอย่างไร เพราะเมื่อเห็นว่านายทักษิณ เงียบไปหรือวางมือ อาจมีผลกระทบกับท่อน้ำเลี้ยง หรือทุนในการบริหารพรรค ดังนั้น ผู้ที่จะตั้งพรรคใหม่จึงต้องลงทุนเองและไม่ต้องฟังคำสั่งใคร เพราะเดิมบุคคลระดับที่จะตั้งพรรคก็เป็นหัวหน้ามุ้งในพรรคมาก่อนแทบทั้งนั้น

การเปลี่ยนแปลงของพรรคเพื่อไทย ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทาบทาม เจรจากันหลวมๆ เพื่อรอโอกาสในการปรับโครงสร้างในช่วงเวลาที่เหมาะสม ถ้าจะให้ชัดเจนก็ต้องรอจนกว่าได้กลิ่นว่าจะมีการเลือกตั้งใหญ่

ส่วนตัวเชื่อว่านักการเมืองอาชีพเหล่านี้จะต้องเท่าทันกับสถานการณ์ ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปีนี้หรือต้องรอจนครบวาระ ระหว่างนี้ก็ออกตัวแทงกั๊กไปเรื่อยๆ และการแตกตัวไปตั้งพรรคใหม่ แต่ภายหลังจะมาร่วมกันทำงานอีกก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเคยมีทั้งพรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติมาแล้ว และผมไม่เชื่อว่าผู้ทำงานกับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคเครือข่ายขนาดกลางแนวร่วมเดียวกันจะกินอุดมการณ์เดิม เพราะคงไม่ต้องการเป็นฝ่ายค้านไปจนตาย

ธเนศวร์ เจริญเมือง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กรณีแกนนำพรรคเพื่อไทย จะแยกไปตั้งพรรคใหม่นั้น เป็นเอกสิทธิ์แต่ละบุคคล สามารถตั้งพรรคใหม่ได้ ถือเป็นทางเลือกให้ประชาชนที่ไม่ยึดติดกับพรรคเดิม ทางการเมืองอาจมองว่าเป็นพรรคสำรองหรืออะไหล่ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคใหม่ ส่วนใหญ่เป็นพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่ออุดช่องว่างและเติมเต็มทางการเมือง นำไปสู่จัดตั้งรัฐบาลในอนาคต

ดังนั้น การตั้งพรรคใหม่ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแกนนำพรรคเพื่อไทย เคยแตกมาเป็นพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคเพื่อชาติ มาแล้ว แต่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบพรรค จากฝ่ายอนุรักษ์หรือมีอำนาจบางกลุ่ม ดังนั้นแกนนำของพรรคไทยรักษาชาติ จึงต้องรวบรวมสมาชิกตั้งพรรคใหม่ เพื่อลุกขึ้นมาต่อสู้ทางการเมือง และทวงคืนประชาธิปไตยอีกครั้ง ภายใต้อุดมการณ์และทิศทางการเมืองแบบใหม่ ที่ตอบโจทย์และสนองความต้องการประชาชนมากที่สุด

การตั้งพรรคใหม่ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศและสังคมยังมีปัญหาที่รอแก้ไขอีกมาก จำเป็นต้องหาทางออก เพื่อให้เกิดทางเลือกที่หลากหลาย เพราะรัฐบาลไม่เปิดกว้างรับฟังปัญหาประชาชนมากนัก แต่ออกแบบการปกครองให้เดินตามระบอบทหาร หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้องเป็นสำคัญ ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเกิดการทะเลาะเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์อยู่ตลอดเวลา ในทางตรงข้ามหากเป็นฝ่ายประชาธิปไตย จะขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์และแนวนโยบายเท่านั้น

การแตกเพื่อตั้งพรรคใหม่ เชื่อว่าเป็นยุทธศาสตร์แตกเป็นลำน้ำสายย่อยเพื่อรวมตัวเป็นแม่น้ำสายใหญ่อีกครั้ง เพียงแต่เปลี่ยนแนวคิด และยุทธวิธีใหม่ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม จับต้องได้ และพร้อมสู้ไปด้วยกัน

พิชิต รัชตพิบุลภพ
ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต
มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ จะมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มการเมืองดังกล่าวอยู่ในสถานะไหน หากอยู่ในสถานะเป็นแกนนำรัฐบาล ต้องยอมรับว่าธรรมชาติการเกิดของพรรคดังกล่าวมีที่มาจากการรวมกลุ่มการเมืองต่างๆ เมื่อตำแหน่งบริหารในรัฐบาลมีจำกัด การก้าวเข้าสู่ตำแหน่งจึงต้องต่อรอง อยู่ที่ว่าแต่ละกลุ่มจะมีอิทธิพลเพียงใด ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกภายในกลุ่ม จำนวนทุนทรัพย์ที่ช่วยเหลือ และเข้าถึงผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ

ที่น่าสนใจคือ ทำไมพรรคที่เป็นแกนนำหลักจัดตั้งรัฐบาลจึงเกิดกระแสการต่อรองอำนาจภายในพรรคช่วงนี้ มีความเป็นไปได้ที่แต่ละกลุ่มประเมินสถานการณ์กันแล้วเห็นว่าระดับความนิยมของรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไป หากไม่ได้ตำแหน่งบริหารครั้งนี้ อาจต้องรอลุ้นใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ส่วนความเคลื่อนไหวกลุ่มการเมืองในพรรคฝ่ายค้าน มีอยู่ 2 ประการ คือ 1.กติกาการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่เอื้อต่อการเป็นพรรคใหญ่ หากยังฝืนรวมกลุ่มกันต่อไป โอกาสจะได้จัดตั้งรัฐบาลยังคงเป็นฝันเช่นเดิม

2.ความขัดแย้งในการนำ เมื่อขาดหัวเรือหลัก ผู้นำกลุ่มการเมืองแต่ละคนต่างมีแนวทางแตกต่างกัน การรวมกลุ่มกันต่อไปอาจเกิดกระทบกระทั่งกัน เสียความรู้สึกกันไปเปล่าๆ สู้แยกตัวออกมาดำเนินการตามวิถีทางของตน อย่างน้อยที่สุดยังสามารถร่วมงานกันได้ในอนาคต

นันทนา นันทวโรภาส
คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมืองมหาวิทยาลัยเกริก

สาเหตุที่กลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นมาโดยที่ยังไม่เป็นพรรคการเมืองน่าจะเพราะ 1.สถานการณ์ช่วงนี้ค่อนข้างอ่อนไหว อาจมีการเปลี่ยนปลงในอนาคตอันใกล้ 2.พรรคการเมืองถูกจำกัดบทบาทด้วยตัวบทกฎหมาย ขยับเขยื้อนอะไรไม่ได้ 3.รัฐบาลกระชับอำนาจสูงสุดผ่าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตรึงให้ทุกอย่างหยุดอยู่กับที่ และ 4.ในพรรคพลังประชารัฐขัดแย้งแตกหัก การจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาในช่วงนี้เพื่อจะแสดงบทบาทอย่างคล่องตัว สื่อสารได้อย่างอิสระ เพราะหากเป็นพรรคการเมืองจะมีกฎระเบียบที่ขยับอะไรไม่ได้ คล้ายกับกรณีคณะก้าวหน้าที่แสดงบทบาทคล่องตัวกว่าการเป็นพรรคการเมือง

คาดว่าหลังจากโควิด-19 ซาจะเกิดการเคลื่อนไหวนอกสภามากขึ้น ความทุกข์ยากของประชาชนจะปรากฏชัด เพราะโควิดทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ การเยียวยาประชาชนของรัฐบาลขาดประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการเคลื่อนไหวนอกสภา

เชื่อว่าในอนาคตจะมีกลุ่มการเมืองเกิดขึ้นมากกว่าตอนนี้แน่ๆ เพราะเมื่อปลดล็อกแล้ว กลุ่มเกษตรกรต่างๆ อาจเริ่มขยับ ซึ่งได้รับผลกระทบมากมาย หากรัฐบาลยังกระชับอำนาจไว้แบบนี้ก็จะสร้างความอึดอัด ขาดรูระบาย ปลดล็อกเมื่อไหร่ก็จะระเบิด การเมืองหลังโควิดจะไม่นิ่ง อาจมีปฏิกิริยาต่อรัฐบาลสูงมากขึ้น

การเคลื่อนขยับของกลุ่มใหม่ๆ ชี้ให้เห็นถึงการไม่ตอบสนองในระบบของกลไก ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายต่างๆ ทางที่จะปลดล็อกไม่ให้เกิดกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่แก้ไขปัญหาก็จะลุกลามกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image