“เพื่อไทย” จ่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.ก.เงินกู้ทั้ง 3 ฉบับ หลังผ่านสภา

“เพื่อไทย” จ่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.ก.เงินกู้ทั้ง 3 ฉบับ หลังผ่านสภา เพิ่มช่องทางตรวจสอบการใช้เงินให้เข้มข้น

เมื่อเวลา 15.35 น. วันที่ 26 พฤษภาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พท. แถลงถึง พรก.กู้เงิน 3 ฉบับรวม 1.9 ล้านล้านบาท ว่า พรรคเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่รัฐบาลต้องเยียวยาทุกกลุ่ม เห็นด้วยกับการกับฟื้นฟูเศรษกิจ แต่ต้องเยียวยาอย่างเข้าใจ ซึ่งพรรคจะตรวจสอบการใช้เงินกู้อย่างเต็มที่ ซึ่งรัฐต้องมีวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์และแผนงานในการแก้ปัญหาโควิดและปัญหาเศรษฐกิจ แต่เรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ การเมืองต้องเป็นประชาธิปไตย รับฟังความคิดเห็นประชาชน ระบบราชการต้องเล็กลง กฎหมายที่ไม่เอื้อประโยชน์ต้องยกเลิก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยดำเนินการแก้ไขอะไรเลย หากรัฐบาลไม่ปฏิรูปการเมือง จะทำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรากหญ้าลำบาก สร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อไป ที่สำคัญเชื่อว่ารัฐจะไม่สามารถใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและกอบกู้เศรษฐกิจไ้ด้ เพราะรัฐไม่เข้าใจปัญหา มุ่งแต่การเมืองมากกว่า

นายโภคิน กล่าวอีกว่า สำหรับการอภิปรายของ ส.ส.จะเน้นไปในช่วงการบริหารของรัฐในช่วงก่อนเกิดปัญหาโควิด ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวย่ำแย่อยู่แล้ว ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาก็อยู่ที่ประชาชน แพทย์ พยาบาลและ อสม.ที่ช่วยกันอย่างเต็มที่ แต่รัฐบากลับทำให้การเยียวยาสับสน เป็นภาระของหน่วยงานอื่น และหากภาครัฐยังคงเคอร์ฟิวอีก เศฐกิจจะไปไม่ได้

ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพท. กล่าวว่า พรรค พท.เห็นข้อบกพร่องใน พ.ร.ก.กู้เงินทั้งสามฉบับ เช่น ในเรื่องของการควบคุมการตรวจสอบใช้เงิน 1 ล้านล้านบาทซึ่งหละหลวม หรือการจัดการเงินกู้ 5 แสนล้านบาทให้กับเอสเอ็มอี ซึ่งจากข้อมูลของสภาวิสาหกิจฯ รายงานว่ามีกลุ่มเอสเอ็มอีเพียงแสนรายจากสามแสนรายที่จะเข้าถึงเงินก้อนนี้ และหากเอสเอ็มอีเหล่านี้ไม่สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ คนจะตกงานอีกมากแค่ไหน และจะไม่มีรายได้อีกเป็นปี ดังนั้น พรรค พท.เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.เงินกู้ทั้ง 3 ฉบับในกรณีที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ซึ่งมีเนื้อหาสาระสามารถดูแลประชาชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างกลไกการตรวจสอบการใช้เงิน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าการทุจริตจะน้อยที่สุดโดยสภาฯ เข้ามาตรวจสอบเป็นระยะ สรุปคือเราจะแก้เนื้อหาบางส่วนของแต่ละ พ.ร.ก.เพื่อให้เงินถึงมือคนตัวเล็ก และสร้างกลไกการตรวจสอบใก้เข้มข้นขึ้น เช่น ให้มีสัดส่วนของคณะกรรการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ โดยต้องมีการเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิในสัดส่วนของ ส.ส. และผู้ประกอบการนอกเหนือจากคณะกรรมการที่นายกฯ แต่งตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image