“วิโรจน์”ย้อนวันนี้ไทยชนะจริงหรือ ปชช.ยังเข้าคิวรับข้าวกล่อง-บุกคลังถามเงินเยียวยา

“วิโรจน์”ย้อนวันนี้ประเทศไทยชนะจริงหรือไม่ หลังเห็นภาพปชช.เข้าคิวรับอาหารกล่อง – บุกคลังถามเงินเยียวยา ชี้หยุดพูดคำว่าชนะให้ปชช.แสลงหูอีก วิกฤตโควิด-19 ต่างจากต้มยำกุ้ง เหตุซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ย่ำแย่หลังรัฐประหาร ย้ำการบริหารจัดการใช้จ่ายเงินกู้สำคัญมาก

เวลา 13.45 น. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า วันนี้สถานการณ์ของประเทศไทยชนะจริงหรือไม่ ถ้าชนะเหตุใดเรายังเห็นภาพของประชาชนยังไปเข้าคิวรับอาหารกล่อง ประชาชนจำนวนมากยังไปกระทรวงการคลังเพื่อสอบถามเรื่องเงินเยียวยา สิ่งเหล่านี้ตนไม่เรียกว่าชัยชนะ แต่เป็นการได้มาบนสิ่งที่รัฐบาลยืนบนความทุกข์ยากของประชาชน เป็นการประกาศชัยชนะโดยเอาประชาชนเป็นเครื่องเซ่น เอาธุรกิจขนาดเล็กเป็นเครื่องสังเวยของรัฐบาล ประชาชนตัวเล็กตัวน้อยต้องเป็นผู้แบกรับปัญหา ใครรับไม่ไหวรัฐบาลก็ปล่อยให้ตายไป ทัศนคติของรัฐบาลที่มองว่าโควิด – 19 แค่ไข้หวัดชนิดหนึ่ง ถือเป็นการเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป ปล่อยปละละเลยให้เกิดการระบาดใหญ่ที่สนามมวยลุมพินี และกว่าจะยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศก็เข้าประเทศไทยก็เข้าสู่วันที่ 11 มีนาคม 2563 ซึ่งสถานการณ์สายเกินไปแล้ว เป็นการยืนยันว่าไม่ใช่ชัยชนะ แต่เป็นการแก้ปัญหาจากความประมาทของรัฐบาลที่ต้องแลกมาด้วยความทุกข์ยากของประชาชน

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า อย่าพูดคำว่าชนะให้แสลงหูประชาชนอีกเลย ปัจจุบันใครชนะไม่รู้ แต่ประชาชนพ่ายแพ้ ภายใต้วิธีคิดของรัฐบาลนี้ และแนวคิดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หากเปรียบเทียบการช่วยเหลือประชาชนกับการอุ้มชูนายทุน เราเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับอะไร ประชาชนต้องรอไปก่อน เกิดคำถามว่าทำไมรัฐบาลถึงอยากอุ้มนายทุน แต่การช่วยเหลือประชาชนกลับซื้อเวลาไปเรื่อยๆ หลอกประชาชนแบบหลอกแล้วหลอกเล่า เหมือนรัฐบาลรับหน้าที่ดูแลน้ำในเขื่อน แต่ไม่ควบคุมระดับน้ำสุดท้ายต้องปล่อยน้ำออกมา ปล่อยให้ประชาชนตะเกียกตะกายล้มหายตายจากพัดกับกระแสน้ำไปเรื่อยๆ การเยียวยาที่ล่าช้าสะท้อนว่ารัฐบาลไม่เข้าใจไม่มีความเข้าใจ และพอประชาชนนำอาหารมาแจกจ่ายกันเอง ก็ถูกจับกุมดำเนินคดีโดยไม่เข้าใจเจตนาของประชาชนเลย

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า การกู้เงินครั้งนี้พรรคก้าวไกลเห็นด้วยว่าจำเป็นต้องกู้ การกู้ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือฐานคิดและวิธีจัดการการใช้เงินที่กู้มา นายทุนต้องมาก่อน ประชาชนรอไปก่อน มีฟูกสำหรับนายทุน มีกระบองสำหรับประชาชน คิดว่าตัวเองคือเจ้าของเงินเพื่อสมทบประชาชนแบบนี้ไม่ถูกต้อง วิกฤตนี้ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะผลกระทบวิกฤตต้มยำกุ้งคือกลุ่มคนรวย และธุรกิจขนาดใหญ่กระทบมาก แต่วิกฤตโควิด – 19 ซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศที่ย่ำแย่อยู่แล้วหลังการรัฐประหาร เป็นการพังทลาย และผุกร่อนจากฐานราก การบริหารจัดการใช้จ่ายเงินกู้วันนี้จึงสำคัญมาก เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลานในอนาคต การตัดสินใจวันนี้ต้องไม่ถูกเด็กรุ่นหลังคนรุ่นหน้าด่าทอต่อว่า

“การใช้งบเพื่อแก้ปัญหาโควิด – 19 ที่ผ่านมามีลักษณะเป็นเบี้ยหัวแตก ขาดยุทธศาสตร์ไม่เห็นผล ถ้ารัฐบาลทำงานเป็นพ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับจะต้องสอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 แต่ปรากฎว่าไม่มีการคิดก่อนกู้แต่จะกู้อย่างเดียว และพอแก้ไม่ไหวเกินสติปัญญาก็ใช้อำนาจผ่านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ พิมพ์คำสั่งใส่กระดาษเอสี่ เป็นการแก้ปัญหาแบบอันธพาลคุมซอย รัฐบาลต้องไม่ลืมว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งให้ธุรกิจไม่ขาดทุนไม่ได้ เสกเงินให้ประชาชนที่สิ้นเนื้อประดาตัวเพื่อให้มีเงินไปใช้หนี้ไม่ได้ การแก้ปัญหาต้องไม่ใช้อำนาจ แต่ต้องใช้การวางแผนและการจัดการที่รอบคอบ ดังนั้น รัฐบาลต้องให้ความร่วมมือสภาในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ พรรคก้าวไกลจะดูท่าทีของรัฐบาลในเรื่องนี้ เพราะเป็นจุดชี้ขาดของพรรคว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อการลงมติพ.ร.ก.เงินกู้”นายวิโรจน์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image