เปิดสภาชำแหละ 3 พ.ร.ก.กู้เงิน ‘บิ๊กตู่’ ยกเหตุผล- ‘สมพงษ์’ทักท้วง

รายงานหน้า 2 : เปิดสภาชำแหละ3พ.ร.ก.กู้เงิน ‘บิ๊กตู่’ยกเหตุผล-‘สมพงษ์’ทักท้วง

เปิดสภาชำแหละ 3 พ.ร.ก.กู้เงิน ‘บิ๊กตู่’ ยกเหตุผล- ‘สมพงษ์’ทักท้วง

หมายเหตุ – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุ การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3 ฉบับ เพื่อเยียวยาและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายแนะนำและข้อห่วงใยต่อการออก 3 พ.ร.ก.กู้เงินและการใช้จ่ายเงิน ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญนัดแรก ที่รัฐสภา เกียกกาย เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เนื่องจากปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิดไปทั่วโลก ยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน ไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาสิ้นสุดได้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2563 ที่ต้องมีการปิดสถานประกอบการ สนามบิน ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว มีผลต่อการจ้างงาน ประเมินว่า การระบาดจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2563 ทำให้รายได้ประเทศลดลง 928,000 ล้านบาท อาจมีคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นถึงล้านคน จีดีพีไทยจะติดลบ 5.0-6.0 แม้รัฐบาลจะพยายามทุกวิถีทางในการบริหารจัดการแหล่งเงินภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งการจัดสรรงบรายจ่ายปี 2563 งบกลาง

รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น การจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 แต่แหล่งเงินดังกล่าวไม่เพียงพอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นประเทศให้กลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องหยุดยั้งการแพร่ระบาดโรค และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ การดำเนินการดังกล่าวรัฐบาลประมาณการว่า ต้องใช้เงินเร่งด่วนประมาณ 1 ล้านล้านบาท ที่ไม่อาจดำเนินการโดยงบประมาณปกติได้ จึงเป็นกรณีฉุกเฉิน และเป็นทางเลือกสุดท้ายรัฐบาลในการตรา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

การตรา พ.ร.ก.ดังกล่าว รัฐบาลตระหนักถึงข้อห่วงใยต่อประเด็นการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่า และความโปร่งใสการใช้จ่ายเงินกู้ จึงกำหนดกรอบวินัยการกู้เงิน โดยกำหนดให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2563 การกู้เงินตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้นำไปใช้จ่ายใน 3 แผนงานหลัก

Advertisement

ได้แก่ 1.โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท 2.โครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ชดเชยให้ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคโควิด-19 วงเงิน 555,000 ล้านบาท 3.โครงการพื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาท กำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองโครงการก่อนเสนอ ครม.อนุมัติ โดยกำหนดให้กระทรวงการคลังจัดทำรายงานผลการกู้เงินเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ ภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณด้วย รายงานดังกล่าว จะครอบคลุมถึงรายละเอียดการกู้เงิน วัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงผลสัมฤทธิ์ประโยชน์ที่ได้รับ

การตรา พ.ร.ก.กู้เงินครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานะหนี้ของประเทศ แต่เพื่อให้สภาและประชาชนมั่นใจการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาล ขอเรียนว่า การกู้เงินของรัฐบาล 1 ล้านล้านบาทเมื่อรวมกับการกู้เงินกรณีอื่นๆ แล้ว จะไม่กระทบต่อกรอบบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี สิ้นเดือนกันยายน 2564 จะมีสัดส่วนร้อยละ 59.96 ซึ่งไม่เกินกรอบร้อยละ 60

สำหรับแนวทางการกู้เงิน จะพิจารณาแหล่งเงินกู้ในประเทศเป็นหลัก ขณะเดียวกันจะพิจารณาเงื่อนไขและต้นทุนการกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ต่างประเทศอีกทางเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำรอง หากสภาพคล่องในประเทศไม่เพียงพอ เพื่อไม่เป็นการแย่งเงินทุนกับภาคเอกชนที่จำเป็นต้องระดมเงินจากตลาดการเงินในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่การชำระหนี้นั้น กระทรวงการคลังวางแผนการชำระหนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อกระจายความเสี่ยง และดูแลต้นทุนการกู้เงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

Advertisement

การชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก.ยังอยู่ในระดับที่รัฐบาลบริหารจัดการได้ ทั้งนี้รัฐบาลให้ความสำคัญในการกำหนดกระบวนการกลั่นกรองโครงการผ่านกลไกคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ จะต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ อยู่ภายใต้แผนงานและโครงการที่กำหนดตามบัญชีท้าย พ.ร.ก.เท่านั้น ต้องกลั่นกรองความคุ้มค่าโครงการ ไม่ช้ำซ้อนกับเงินงบประมาณ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาจะอนุมัติ พ.ร.ก.ดังกล่าว เพื่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจประเทศต่อไป และขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนที่มีความห่วงใยต่อการใช้เงินจำนวนดังกล่าว

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.)
สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.)

ขอชื่นชมไปยังบุคลากรสาธารณสุขทุกท่าน ด้วยศักยภาพของหมอ พยาบาล และระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งของไทย ที่เป็นทัพหน้าการเผชิญศึกโรคภัยในครั้งนี้ แต่ในความสำเร็จนั้นแฝงด้วยความผิดพลาดของการบริหารจัดการภายใต้ภาวะวิกฤตในหลายครั้งของรัฐบาล ไม่ว่าเป็นความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดหาหน้ากากอนามัยและการขาดแคลนชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ความสับสนในมาตรการกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ

การสั่งปิดกิจการในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อนประกาศมาตรการเยียวยาให้ชัดเจน ความล่าช้า และการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึงและรวดเร็ว ความล่าช้าในการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และที่สำคัญที่สุด ความล่าช้าในการคลายล็อกให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการต้องปิดการดำเนินธุรกิจจากการประกาศล็อกดาวน์ของรัฐบาล วันนี้ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กับตัวเลขของผู้ที่ฆ่าตัวตายเนื่องจากภาวะกดดันทางเศรษฐกิจ เกือบจะไม่แตกต่างกัน

ต้นทุนทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลที่ต้องเสียไป จำเป็นที่ต้องใช้เงินและงบประมาณจำนวนมาก เข้ากอบกู้เศรษฐกิจไม่ให้ทรุดหนัก จนเกินเยียวยา จึงนำไปสู่การกู้เงินจำนวนมหาศาล ตาม พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับนี้ รัฐบาลต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า เงินกู้จำนวนมหาศาลนี้ คนที่ต้องร่วมกันชดใช้คือประชาชนทั้งประเทศ ลูกหลานเป็นลูกหนี้ จึงต้องนำเงินไปใช้ด้วยความรับผิดชอบ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยแท้จริง ไม่ใช่การแบ่งเค้กชิงผลประโยชน์ การใช้เพื่อสร้างฐานคะแนนเสียง

การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องผ่านโครงการต่างๆ ทั้งนี้เพราะ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้สูงมาก แต่การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินมีเพียงการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพียงไม่กี่คน จึงเป็นความจำเป็นที่ตัวแทนของประชาชนมีหน้าที่ที่จะต้องร่วมกันตรวจสอบให้การใช้เงินก้อนนี้เป็นไปอย่างสุจริตและมีประสิทธิภาพสูงสุด ป้องกันไม่ให้เป็นการตีเช็คเปล่าให้รัฐบาลใช้เงินโดยตามอำเภอใจ จนอาจส่งผลเสียต่อประเทศ

ในส่วนของ พ.ร.ก.ฉบับแรก ได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือเราอาจเรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น สามารถแยกพิจารณาเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

ส่วนที่ 1 แก้ไขการระบาดโควิด-19 (45,000 ล้านบาท) ผมเห็นถึงความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอด้านสาธารณสุข แต่รัฐบาลต้องสามารถชี้แจงต่อสังคมให้ได้ว่า งบก้อนที่มีรายละเอียดการใช้จ่ายอย่างไร ใครได้ประโยชน์บ้าง เพราะเท่าที่รัฐบาลชี้แจง การรักษาผู้ป่วยคนละ 1 ล้านบาท คิดแล้วเป็นเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาทเท่านั้น แล้วที่เหลือไปไหน

ส่วนที่ 2 การช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ (555,000 ล้านบาท) การเยียวยาเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่การเยียวยาในแบบของรัฐบาลมีปัญหาในเชิงปฏิบัติ ยิ่งคัดกรองมาก ยิ่งหลุดมาก ไม่ทั่วถึง คนเดือดร้อนจริงกลับไม่ได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมและโศกนาฏกรรม หลักคิดเรื่องนี้ ผมมองว่าประชาชนเป็นคนจ่ายภาษี ควรใช้ระบบถ้วนหน้าในการเยียวยา

ส่วนที่ 3 งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ (400,000 ล้านบาท) ก้อนนี้ เป็นก้อนที่ฝ่ายค้านเป็นห่วงที่สุด เพราะจะเป็นส่วนที่มีปัญหามากที่สุด มีข้อสังเกตว่าแบ่งไว้ตามกระทรวงต่างๆ หมดแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสภา และตามที่รัฐบาลกล่าวถึงทิศทางการใช้เงินก้อนนี้ ไม่ตอบโจทย์ และไม่ได้คิดถึงภาพใหญ่และโอกาสของประเทศ เพราะจะสนับสนุนการจ้างงานภาคการเกษตร ใช้ฝึกอบรม

รวมถึงใช้เป็นงบชุมชน เปิดช่องการใช้เป็นเงินเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แจกจ่ายให้กับ ส.ส. เสมือนเป็นการตีเช็คเปล่า หรือนำไปทำโครงการแบบเดิมๆ เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง โดยที่ถูกต้องโครงการต้องเป็นไปเพื่อตอบสนองและตอบโจทย์เรื่องโควิด ฝ่ายค้านไม่ขัดข้องกับการกู้เงิน เพราะเล็งเห็นถึงความจำเป็น แต่ขอทักท้วงในด้านการนำไปใช้จ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์ ถูกต้อง ครอบคลุม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ และยังต้องคำนึงถึงศักยภาพของรัฐบาลที่เป็นผู้ใช้งบด้วย

ในส่วนของ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 นั้น ผมเห็นถึงความจำเป็นของการช่วยเหลือให้เอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุน ในแง่หลักการผมเห็นด้วย แต่เมื่อลงไปสู่การปฏิบัติ ตามพ.ร.ก.ฉบับนี้ ผมมองว่าดุลพินิจของการปล่อยกู้อยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ ที่มีแนวโน้มปล่อยให้ลูกค้าเดิมที่แข็งแรงอยู่แล้ว เพราะไม่ต้องการความเสี่ยงเพิ่ม จึงส่งผลให้ลูกค้าที่แข็งแรง

มีแนวโน้มเป็นขนาดกลางขึ้นไป ได้ประโยชน์จากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่เอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา ได้รับผลกระทบจากโควิด ยังคงเข้าไม่ถึงสินเชื่อเหมือนเดิม นอกจากนั้นยังเปิดช่องทางที่เอกชนรายที่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อ เอาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไปปล่อยต่อให้เอกชนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในราคาสูง มีลักษณะเหมือนสินเชื่อนอกระบบ รายใหญ่ได้ประโยชน์ รายเล็กโดนเอาเปรียบ ผมจึงขอเน้นความห่วงใยของผมไปที่เรื่องของความทั่วถึง และให้เงินกู้ลงถึงมือคนที่เดือดร้อนจริง

ส่วน พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 นั้น เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเป็นอีกแหล่งทุนสำคัญในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน แต่ผมมีข้อห่วงใยว่าการดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะส่งผลเสียหลายประการ เช่น โดยหลักแล้วธนาคารชาติมีหน้าที่เป็นธนาคารของรัฐบาล และเป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ ไม่มีหน้าที่ลงไปจัดสรรสินเชื่อเอง

เพราะอาจสร้างความเสียหายเกี่ยวกับความเชื่อมั่น และเสียหายในเชิงหลักการของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ หลีกเลี่ยงไม่พ้นการเลือกปฏิบัติ อาจถูกกล่าวหาใช้เงินรัฐอุ้มคนรวย อาจเกิดปัญหาคอร์รัปชั่น และเกิดความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ

ในเรื่องนี้จะดีกว่าหรือไม่ถ้าให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณารับซื้อตราสารหนี้เอกชนตามความเสี่ยง จากนั้นธนาคารพาณิชย์สามารถนำตราสารหนี้เหล่านี้มาค้ำประกันเพื่อกู้เงินเสริมสภาพคล่องจากธนาคารชาติ จะดีกว่าธนาคารชาติเข้าไปทำการจัดสรรสินเชื่อเอง แม้มีคณะกรรมการ ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นการเลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านจะร่วมกันอภิปรายถึงรายละเอียดในเชิงลึกของ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับต่อไป ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อทำให้ประโยชน์ของ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับนี้ ลงสู่การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นผลต่อการกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการบริหารจัดการที่โปร่งใส มิใช่เป็นแหล่งทุนที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โปรดระลึกไว้ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์นั้นคือเงินอนาคตของลูกหลาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image