นัยยะการเมือง ศึกเลือกตั้งส.ส.ลำปาง

นัยยะการเมือง ศึกเลือกตั้งส.ส.ลำปาง

เลือกตั้งซ่อม – ศึกเลือกตั้งที่น่าจับตามอง ในช่วงที่ยังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส.ลำปาง เขต 4 แทนตำแหน่งที่ว่างลง ได้เริ่มขึ้นแล้ว

หลังปิดรับสมัครมีม้าศึกของ 5 พรรค การเมือง ลงชิงชัยในครั้งนี้

หมายเลข 1 นายวัฒนา สิทธิวัง ผู้สมัคร จากพรรคพลังประชารัฐ, หมายเลข 2 ร.ต.ท.สมบูรณ์ กล้าผจญ ผู้สมัครจากพรรคเสรีรวมไทย, หมายเลข 3 นายอำพล คำศรีวรรณ ผู้สมัครจากพรรคพลังท้องถิ่นไท หมายเลข 4 นายองอาจ สินอนันต์เศรษฐ์ ผู้สมัครจากพรรคไทรักธรรม และ หมายเลข 5 นางสาวปทิตตา ชัยมูลชื่น พรรคเศรษฐกิจใหม่

การเลือกตั้งครั้งนี้ ไร้ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ทั้งที่เขตนี้เก้าอี้ที่นั่งเป็นของพรรคเพื่อไทยมานานกว่า 15 ปี ที่ นายอิทธิรัตน์ จันทร์สุรินทร์ ส.ส.ลำปาง เขต 4 พรรคเพื่อไทย ครองฐานเสียงอยู่นาน แต่เสียชีวิตกะทันหัน (ย้อนอ่าน : ‘อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์’ ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย ติดเชื้อในกระแสเลือดเสียชีวิต )

Advertisement

ผู้เป็นพ่อคือ นายพินิจ จันทร์สุรินทร์ อดีต ส.ส.หลายสมัย ขอถอนตัวกลางคันในเช้าวันที่ 26 พ.ค.63 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเปิดรับสมัครลงเลือกตั้งซ่อม

โดยบอกว่า ยังเสียใจที่ลูกชายจากไป และเตรียมที่จะไปสู้ศึกเลือกตั้ง อบจ.ลำปาง แทน ทำให้ทางพรรคเพื่อไทยส่งคนลงแข่งรักษาพื้นที่ไว้ไม่ทัน

ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่คนในตระกูลจันทร์สุรินทร์ ซึ่งเป็นผู้มากบารมีในโซนอำเภอตอนใต้ของ จ.ลำปาง ไม่ลงชิงชัยรักษาแชมป์ในพื้นที่เขตนี้ ปล่อยให้พรรคการเมืองอื่น

Advertisement

ย้อนอ่าน : ด่วน! เพื่อไทยถอนตัว ไม่สู้ศึกเลือกตั้ง ส.ส.ลำปาง ฝ่ายค้านเหลือ เสรีรวมไทย ลงสนาม
‘หัวหน้าพรรคเพื่อไทย’ แจงเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ส่งคนลงเลือกตั้งซ่อมลำปาง

โดยเฉพาะ พรรคพลังประชารัฐ ที่หมายปองจะยึดเก้าอี้ที่นั่งนี้ให้ได้ โดยการแข่งขันรับเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา นายวัฒนา สิทธิวัง อายุ 63 ปี ชาว อ.เกาะคา จ.ลำปาง อดีตรองประธานสภา อบจ.ลำปาง และสมาชิกสภา อบจ.ลำปาง เขต อ.เกาะคา ลงสนามสู้ศึกในนามพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็พ่ายไป ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 จำนวน 30,368 คะแนน แพ้ นายอิทธิรัตน์ พรรคเพื่อไทย ที่ได้คะแนนอันดับ 1 จำนวน 42,984 คะแนน

มาในครั้งนี้ โอกาสที่นายวัฒนาจะเข้าสู่เส้นชัย ได้เก้าอี้ตัวนี้ไปครองคงจะไม่ยากเย็นนัก เพราะฐานคะแนนเดิมมีมากโข

แต่ต้องจับตา ร.ต.ท.สมบูรณ์ กล้าผจญ อายุ 62 ปี ผู้สมัครจากพรรคเสรีรวมไทย ที่ถือว่าประกาศตัวเองอยู่ฝั่งประชาธิปไตย ลงสู้ศึกครั้งนี้ เพื่อให้คนที่เคยเทคะแนนให้พรรคเพื่อไทย ได้กากบาทพรรคเสรีรวมไทย ที่ถือว่าเป็นพรรคหนึ่งเดียวทางฝั่งฝ่ายค้าน ที่เรียกว่าเป็นฝั่งประชาธิปไตย เข้าไปนั่งเติมเต็มเก้าอี้ในสภาที่เสียงขาดหายไปในเขตเลือกตั้งนี้

ร.ต.ท.สมบูรณ์ เดิมเป็นชาว อ.ลี้ จ.ลำพูน แต่ได้ภรรยาชาว อ.สบปราบ จ.ลำปาง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งครั้งนี้ ประกาศว่าจะสู้ และมั่นใจว่าจะได้เป็น ส.ส.ในเขตนี้แน่นอน ทั้งที่การเลือกตั้งครั้งก่อน ได้คะแนนเพียง 2,466 คะแนน รั้งอันดับที่ 6 ก็ยังไม่ถอดใจ เตรียมลุยทุกพื้นที่ เพราะครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมากสุดในชีวิต และแอบลุ้นว่าจะเข้าวิน เพราะพรรคเพื่อไทยไม่สามารถส่งคนลงสมัครได้ทัน ประกอบกับพรรคอนาคตใหม่ที่เคยรั้งคะแนนอันดับ 3 ครั้งก่อนก็ถูกยุบไป และผู้สมัครคนเดิมก็สังกัดพรรคก้าวไกลไม่ครบ 90 วัน จึงไม่มีคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง

ทำให้ความหวังของคนไม่เอาขั้วฝั่งรัฐบาล หรือไม่ปลื้มพรรคพลังประชารัฐ จะเทคะแนนมาให้ผู้สมัครพรรคเสรีรวมไทย ทำให้พรรคพลังประชารัฐประมาทคู่แข่ง ไม่ได้เช่นกัน

ขณะที่พรรคเล็กในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ถูกมองว่าเข้ามาช่วยตัดคะแนนคู่แข่ง ซึ่งล้วนเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันทั้งนั้น ทั้ง “อำพล” เดิมทีลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ลำปาง ในเขต 1 ได้คะแนนในครั้งนั้น 302 คะแนน ได้โยกเขตมาลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 4 แทนผู้สมัครคนเดิม รวมถึง “องอาจ” ก็โยกจากเขต 1 ที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งไว้จากในครั้งก่อน ที่ได้รับคะแนน 214 คะแนน ก็มาลงสนามชิงชัยในเขตเลือกตั้งที่ 4 ด้วยเช่นกัน

ส่วนคนสุดท้ายเป็นหญิงหนึ่งเดียว “ปทิตตา” นักธุรกิจใน จ.ลำปาง ลงสมัครในนามพรรคเศรษฐกิจใหม่ ถึงแม้จะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ของวงการเมือง

แต่ทำงานการเมือง และช่วยเหลืองานพรรคมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความสดใหม่ และเป็นผู้สมัครหญิงเพียงคนเดียว อาจจะเกิดความสะดุดตา ทำให้ประชาชนสนใจ และได้รับเลือกก็เป็นได้

ดังนั้น สนามแข่งขันจาก 5 ขุนศึกที่จะชิงพื้นที่ครั้งนี้ ถึงแม้จะไร้เงาผู้สมัครพรรคเพื่อไทย หรือคนของตระกูลจันทร์สุรินทร์ แต่ก็ต้องจับตามองว่า ผู้สมัครจากพรรคใด ฝั่งใด ขั้วรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน จะคว้าที่นั่งไข่แดงเดิมของพรรคเพื่อไทยนี้ไปครองได้สำเร็จ

ขณะที่ ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางบางเตียว รัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ให้ความเห็นว่า พื้นที่การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้มีความสำคัญกับทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน แน่นอนว่าพื้นที่นี้จะช่วยพิสูจน์พลังศรัทธาทางการเมืองของประชาชน รัฐบาลก็อยากชนะเพื่อใช้เป็นข้ออ้างกับประชาชนว่าสิ่งที่รัฐบาลเดินมา ทั้งการบริหารประเทศ ทั้งนโยบาย ทำให้ประชาชนเข้าถึงและเห็นความสำคัญของรัฐบาลมากขึ้น

โดยเฉพาะการแก้ปัญหาโควิด-19 หรือมาตรการเยียวยา 5,000 บาท

สำหรับฝ่ายค้านเองก็มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน เนื่องจากสถานการณ์การเลือกตั้ง ณ ตอนนี้อยู่ภายใต้บรรยากาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีโรคระบาดร้ายแรงอย่างโควิด-19 ซึ่งนี่เป็นจุดอ่อนของทางฝ่ายค้าน ส่วนจุดแข็งคือพื้นที่นี้เป็นฐานที่มั่นเดิมของพรรคเพื่อไทย

ภายใต้จุดแข็งและจุดอ่อนเช่นนี้ทำให้สถานการณ์ทางการเมือง ณ ขณะนี้ โดยหลักแล้วฝ่ายค้านต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อทำให้ประชาชนเห็นว่าหากเลือกพรรคฝ่ายค้านเหมือนเดิมก็เป็นการยืนยันว่านี่คือฐานที่มั่นของเขา รวมทั้งเพื่อจะยึดโยงไปถึงรัฐบาลได้ว่ารัฐบาลทำงานล้มเหลว

โดยประชาชนเริ่มเสื่อมศรัทธาจากรัฐบาลแล้ว แต่ปรากฏว่าฝ่ายค้านเลือกจะไม่สู้ กลายเป็นการเมืองที่ส่วนตัวมองว่ามีวาระซ่อนเร้นอยู่พอสมควร แม้ฝ่ายค้านจะบอกว่าผู้สมัครสนใจลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมากกว่า

แต่คิดว่า ในฐานที่มั่นของพรรคเช่นนี้ หากผู้สมัครลำดับที่ 1 ไม่ยินดีลงสมัคร พรรคก็ต้องหาคนอื่นมาลง

ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนดูสถิติการเลือกตั้งเดิม พบว่า 3 พรรคที่สู้กันมาคือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งปัจจุบันถูกยุบไปแล้ว และมีพรรคใหม่คือพรรคก้าวไกล แต่ก็พบว่าพรรคก้าวไกล ไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งเช่นกัน

พรรครัฐบาลควรลงสมัครแน่นอน เพราะต้องการทำให้เห็นว่าหากตัวเองชนะการเลือกตั้ง สามารถเคลมได้ว่าผลงานเป็นที่ประจักษ์ เมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้รับเลือกเป็นที่ 2 ครั้งนี้จะเป็นที่ 1 ขณะที่พรรคฝ่านค้านก็ต้องลงสมัคร เพื่อจะใช้พื้นที่นี้พิสูจน์ว่ารัฐบาลทำงานล้มเหลว และพรรคก้าวไกลก็ควรลงสมัคร เพื่อพิสูจน์ว่าหลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไปแล้ว พลังศรัทธาของประชาชนต่อพรรคก้าวไกลมีอยู่ในระดับไหน

“ผมว่ามันมีนัย เพราะโดยหลักแล้วต้องลง ไม่ว่าแพ้หรือชนะก็ต้องลง เพื่อที่จะใช้โอกาสนี้พิสูจน์อะไรบางอย่างทางการเมือง แต่ปรากฏว่านี่จะเป็นการเมืองภายใต้การต่อรองอะไรหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม คนที่ติดตามการเมืองคงรู้ว่าในพื้นที่การเมืองภาคเหนือถูกกลุ่มเพื่อไทย หรือนักการเมืองหน้าเดิม อาจมีข้อแลกเปลี่ยนกับนักการเมืองที่อยู่ในซีกรัฐบาลแล้วมีอิทธิพลในพื้นที่ภาคเหนือ จนประเมินและตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image