นักวิชาการโคราชชื่นชม ส.ส.รุ่นใหม่อภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้าน มีสาระ ห่วงใช้เงิน 4 แสนล. มีช่องโหว่เพียบ

นักวิชาการโคราชชื่นชม ส.ส.รุ่นใหม่อภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้าน มีสาระ ห่วงใช้เงิน 4 แสนล้านมีช่องโหว่เพียบ หึ่งทุจริต

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคอีสาน ในฐานะนักวิชาการอิสระ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ ที่รัฐสภาเกียกกาย เพื่อพิจารณาการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ว่า สำหรับ พ.ร.ก.กู้เงินนี้ ถือว่าเป็นเงินกู้ก้อนใหญ่ที่จะกลายเป็นหนี้สาธารณะของประชาชนในประเทศ ซึ่งขณะนี้หนี้สาธารณะก็ใกล้ถึงเพดานอันตรายแล้ว ดังนั้นถ้าเรากู้เงินมามาก ก็จะมีปัญหาเหมือนยุควิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ขณะที่บรรยากาศการอภิปรายครั้งนี้ ตนเห็นว่า ส.ส.ส่วนใหญ่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยมีการเตรียมการณ์นำเสนอข้อมูลที่ดีมาก มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงเป็น ส.ส.แบบเก่า อภิปรายแบบลำตัด พูดไปเรื่อยจนหมดเวลา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อภาพลักษณ์ของรัฐสภายุคใหม่ ที่ ส.ส.ยุคใหม่จะต้องมีความรู้มาก รู้จริง รู้เรื่องเศรษฐกิจ รู้เรื่องสังคม และรู้เรื่องกฎหมาย ให้สมกับเป็นผู้แทนของราษฎร

สำหรับความเห็นเกี่ยวกับการใช้เงินกู้ ซึ่งจะนำไปใช้ 3 แผนงานหลัก ได้แก่ 1.โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท ส่วนนี้ตนเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เพราะต้องการช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหยุดโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2.โครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ชดเชยให้ประชาชนเกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคโควิด-19 วงเงิน 555,000 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้ไม่มีใครพูดถึงเลย ส.ส.ก็ไม่มีใครเปิดอภิปราย เพราะส่วนใหญ่เห็นชอบด้วยที่เงินจะไปถึงมือประชาชนโดยตรง ไม่มีการรั่วไหลระหว่างทางแน่นอน แม้ประชาชนจะผิดพลาดบ้าง แต่ก็เป็นเงินเล็กน้อย สมมติว่ามีความผิดพลาดในประชาชนคนใดคนหนึ่ง ก็แค่ 15,000 บาทเท่านั้น แต่เงินก้อนที่มีการเปิดอภิปรายมากที่สุดก็คือเงินก้อนที่ 3.โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ใช้จ่ายผ่านคนกลางเหมือนในอดีต ซึ่งหลายคนกลัวว่าอาจจะมีการทุจริตเกิดขึ้นได้ เพราะยังไม่ทันไรก็มีข่าวลือแล้ว

ซึ่งประเด็นเงิน 400,000 ล้านบาทนี้ ตนก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเขาระบุว่าจะเอาไปใช้ 4 อย่าง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเอาไปทำอย่างไร คือ 1.จะเอาไปยกระดับการทำมาหากินของประชาชน แต่ไม่รู้ว่าจะยกระดับอย่างไร 2.จะสร้างอาชีพให้กับประชาชน เรื่องนี้ตนเห็นด้วย เพราะทุกวันนี้คนตกงานมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เมื่อเจอวิกฤตเช่นนี้ ไม่มีนักท่องเที่ยวแล้วจะทำอย่างไร 3.จะนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เงินหมุนเวียน ซึ่งตนเห็นด้วย เพราะคนจนเมื่อได้เงินแล้วเขาจะไม่เก็บไว้แน่ จะต้องนำมาใช้จ่ายซื้อของกินของใช้ ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ แต่อย่างที่ 4.คือการนำไปใช้ในงานโครงสร้างพื้นฐาน เช่นงานก่อสร้างถนนหนทางแบบเดิม โดยระบุว่าเพื่อไปฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะจะมีช่องทางการรั่วไหลของเงินอยู่เป็นจำนวนมาก แม้แต่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเอง ก็อภิปรายในเรื่องนี้เหมือนกัน เนื่องจากงบ 400,000 ล้านบาทนี้มีวิธีการไม่เหมือนงบปกติ เพราะใครอยากได้ให้เสนอเรื่องมาที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่สภาพัฒน์ฯ มีคนจำกัด ดังนั้นผู้ที่จะผ่านย่อมจะมีแต่เจ้าเก่าที่เป็นมืออาชีพเท่านั้น ส่วนประชาชนธรรมดาที่จะขอ จะทำเป็นอย่างไร และใช้เวลาเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้นที่จะเสนอ หลังจากนั้นสภาพัฒน์ฯ ก็จะอนุมัติเงินให้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ตนเองก็รู้สึกเป็นห่วงประชาชนทั่วไป จึงเสนอขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมา โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยในพื้นที่, ผู้พิพากษาสมทบ และนักบัญชีที่เป็นสมาคมอยู่ตามจังหวัดต่างๆ มาเป็นคณะกรรมการร่วม เพื่อพิจารณางบประมาณที่ประชาชนทำเรื่องขอ ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ เพราะถ้ามีการตั้งราคาสูงเกินจริง รัฐบาลจะเป็นผู้เสียหาย ซึ่งเงินจำนวนนี้เราต้องใช้หนี้ไม่ต่ำกว่า 20 ปี

Advertisement

ที่สำคัญตนอยากจะตั้งคำถามว่า เงินที่กู้มานี้ รัฐบาลจะใช้ไปได้อีกกี่วัน กี่เดือน เพราะเรายังไม่รู้ว่าโรคโควิด-19 มันจะอยู่อีกนานแค่ไหน เราจะต้องมี พ.ร.ก.เงินกู้อีกรอบหรือไม่ เรื่องนี้ตนยังไม่ได้ยินรัฐบาลพูดถึงเลย ดังนั้นตนคิดว่าการกู้เงินครั้งนี้เป็นภาระหนักมากของคนไทย เพราะเราจะต้องแบกรับภาระหนี้ร่วมกันไปอีกหลายปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image