ส.ส.ก้าวไกล จี้รัฐ โชว์ความโปร่งใสใช้ข้อมูลไทยชนะ หลัง ‘สแปม เมสเสจ’ ระบาดอื้อ

ส.ส.ก้าวไกล จี้รัฐแสดงความโปร่งใสใช้ข้อมูลไทยชนะ หลัง ปชช.ได้รับ ‘สแปม เมสเสจ’ อื้อ

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวแสดงความเห็นกรณีปัญหาผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในระบบไอโอเอสจำนวนมากได้รับข้อความ “สแปม เมสเสจ” ผ่านทาง imessage ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งช่วงเวลาที่สแปมข้อความดังกล่าวระบาดสอดคล้องกับช่วงของเวลา นโยบายของภาครัฐ ที่ให้มีการสแกนคิวอาร์โค้ด โดยต่างกังวลว่าเกิดจากระบบถูกเจาะแฮกเข้ามาหรือไม่

นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ตนรับทราบว่าเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นมากขณะนี้ แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเว็บไทยชนะที่รัฐบาลตั้งขึ้นให้ประชาชนไปสแกนลงทะเบียนเข้าและออกห้าง เพราะคนที่ไม่เคยสแกนหรือลงทะเบียนก็ได้รับข้อความสแปมดังกล่าวด้วย ส่วนตัวคาดว่าจะเกิดจากปัญหาค่ายโทรศัพท์ค่ายหนึ่งที่ออกมายอมรับว่าข้อมูลผู้ใช้บริการหลุดรั่ว แม้ทางผู้ให้บริการดังกล่าวจะออกมาชี้แจงยืนยันว่าข้อมูลที่หลุดไม่ใช่ข้อมูลสำคัญในระดับความลับ แต่เป็นข้อมูลการใช้บริการของผู้ใช้โทรศัพท์ทั่วไป แต่กรณีดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และคาดว่าจะเป็นสาเหตุ “สแปม เมสเสจ” ในขณะนี้

“เรื่องนี้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือออกมายอมรับว่ามีข้อมูลผู้ใช้อินเตอร์เน็ตรั่วไหลมากกว่า 8,000 ล้านข้อมูล ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่มาก แม้จะระบุว่าไม่ได้ถึงขั้นที่เป็นข้อมูลเชิงลึกที่ระบุตัวตน หรือที่เกี่ยวกับธุรกรรมการเงิน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีความน่าเป็นห่วงมาก และประชาชนไม่มั่นใจว่าจะเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนตัวหรือไม่ และเป็นเรื่องที่เครือข่ายผู้ให้บริการมือถือต้องรับผิดชอบ” นายปกรณ์วุฒิระบุ

วันเดียวกัน นายปกรณ์วุฒิยังได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า

Advertisement

1.ถึงแม้ว่า พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลบางส่วน จะถูกเลื่อนการบังคับใช้ไปแล้ว แต่ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ และแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของเอกชน ที่จะปกป้องข้อมูลของลูกค้าอย่างรัดกุม เพราะก่อนหน้านี้ไม่ (น่าจะ) มีใครรู้มาก่อนว่า พ.ร.บ.นี้จะถูกเลื่อนออกไป

2.ถึงแม้ว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์จะบอกว่า ข้อมูลที่รั่วเป็นข้อมูลการใช้งาน internet ที่ไม่มีข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ นามสกุล อีเมล์ รหัสผ่าน หลุดออกไป ..แต่หากนิยามกันตามความหมายสากลในกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ข้อมูลที่หลุดออกไปนี้ อาจเข้าข่ายข้อมูลส่วนบุคคล เพราะเป็นการระบุตัวตนในทางอ้อม

3.เหตุการณ์นี้ทำให้ได้เห็นปรากฏการณ์หนึ่ง คือ เมื่อเกิดเหตุขึ้น ประชาชนจำนวนมากต่างพุ่งเป้าไปที่แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” อาจจะเป็นเพราะจังหวะเวลาค่อนข้างเหมาะเจาะหรืออะไรก็แล้วแต่ ..แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ประชาชนจำนวนมาก ไม่ให้ความเชื่อใจ “ไทยชนะ” ภายใต้การดูแลของรัฐ

Advertisement

4.“พรรคก้าวไกล” เห็นว่า แพลตฟอร์ม contact tracing แบบไทยชนะนั้น จำเป็นต้องมี เพื่อที่จะป้องกันการระบาดรอบ 2 ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการคลาย lockdown

5.การที่ประชาชนไม่เชื่อใจรัฐบาลนั้น ไม่ใช่ความผิดของประชาชน ประเด็นสำคัญคือ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะสร้างความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นด้วย “ความโปร่งใส” เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า ข้อมูลของพวกเขาจะได้รับความคุ้มครอง และไม่ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพราะอย่างน้อยข้อมูลส่วนบุคคลที่ ไทยชนะ ได้ไปแน่ๆ คือ เบอร์โทรศัพท์มือถือ

6.แต่นอกจากรัฐบาลจะไม่เคยแสดงถึงความโปร่งใสในการดูแลข้อมูลของ “ไทยชนะ” แล้ว ทางพรรคก้าวไกลยังไปรับเอกสารฉบับหนึ่งจากแหล่งข่าวท่านหนึ่ง ซึ่งระบุในเอกสารว่า หน่วยงานรัฐได้ประสานไปยังค่ายมือถือต่างๆ เพื่อขอข้อมูล เบอร์โทรศัพท์ของผู้ที่อยู่ในบริเวณต่างๆ ในช่วงเวลาต่างๆ ที่มีความเสี่ยง โดยอ้างว่าเพื่อการสืบสวนโรค

7.ในประเด็นดังกล่าว หากใช้ในการสืบสวนโรคเพียงอย่างเดียวนั้น ก็ยังพอเข้าใจได้ แต่ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการขอข้อมูลต่างๆ นี้จะไม่เลยกรอบความจำเป็น ไปจนถึงการติดตามตัว และละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

8.เรื่องการประสานกับค่ายมือถือเพื่อขอข้อมูลนั้น โดยส่วนตัวผมเองยังไม่เคยเห็นว่า รัฐบาล เคยเปิดเผยเรื่องนี้ออกมาในการแถลงข่าวแต่อย่างใด ซึ่งยิ่งเป็นข้อที่ทำให้ต้องคำถามว่า ทำไมต้องแอบไปทำโดยไปเปิดเผยสู่สาธารณะ

ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นของการแถลงข่าววันนี้ในนามพรรคก้าวไกล …ซึ่งเมื่อหลังแถลงข่าว ผมจึงพบว่า “ไทยชนะ” ได้ออกมาในรูปแบบ mobile app แล้ว .. และมีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล และยืนยันตัวตนอย่างชัดเจน ที่มากกว่านั้นคือ มีการเก็บ GPS Location ระบุตำแหน่งของทุกคนอีกด้วย ..ซึ่งการเก็บข้อมูลระดับนี้ หากไม่สามารถให้ความมั่นใจในความปลอดภัยที่ดีพอ .. สุดท้าย ประชาชนก็จะไม่กล้าใช้ และ “ไทยชนะ” ก็จะไม่สามารถตอบโจทย์ที่ตัวมันถูกสร้างขึ้นมาได้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image