เสวนาหลังหย่าศึก! ย้อนมอง ‘พันธมิตรชานม’ ไขปมวัยรุ่นไทย ‘อินจัด’ ชี้ ‘สู้กันระดับประชาชน’

เสวนาหลังหย่าศึก! ย้อนมอง ‘พันธมิตรชานม’ ไขปมวัยรุ่นไทย ‘อินจัด’ ชี้ ‘สู้กันระดับประชาชน’

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) จัดเสวนาออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Foreign Correspondents’ Club of Thailand – FCCT หัวข้อ “พันธมิตรชานม : การทูตยุคโซเชียลมีเดีย?” วิทยากรโดย นายธีรภัทร เจริญสุข นักเขียนชาวหนองคาย เจ้าของบทวิเคราะห์ในประเด็นลุ่มแม่น้ำโขงกับจีน และประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไต้หวัน, รศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาและอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไต้หวัน, น.ส.หทัย เตชะกฤตธีรนันท์ ผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทย หนังสือพิมพ์เดอะสเตรต์สไทมส์ และนายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

น.ส.หทัย กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดจากช่างภาพชาวไทยแชร์ภาพผ่านทวิตเตอร์จำนวน 4 ภาพ พร้อมระบุว่ามาจาก 4 ประเทศคือฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไทย ต่อมา “ไบร์ท วชิรวิชญ์ ชีวอารี” นักแสดงหนุ่ม รีทวีตข้อความดังกล่าว เสมือนเป็นการสนับสนุนว่าฮ่องกงเป็นประเทศจริง กระทั่งมีผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวจีนมาเปิดประเด็นว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ช่างภาพรายดังกล่าวได้ทวีตข้อความใหม่ พร้อมกล่าวขออภัยว่าไม่ได้มีเจตนาสร้างความแตกแยก โดยลง 4 ภาพเดิมแต่ระบุว่าถ่ายจาก 4 สถานที่ ขณะที่นักแสดงหนุ่มก็ออกมาขอโทษจากการรีทวีต ระบุว่าไม่ตั้งใจ พร้อมสัญญาว่าระมัดระวังกว่านี้

น.ส.หทัยกล่าวว่า วันแรกๆ ของเหตุการณ์เหล่านี้ยังไม่มีแฮชแท็กใดเกิดขึ้น แต่เริ่มมีในภายหลัง ขณะเดียวกันชาวฮ่องกงและไต้หวันรู้อยู่แล้วว่าไม่ได้เป็นประเทศ แต่ใช้ข้อความนี้เป็นการแสดงออก พร้อมแสดงจุดยืนของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจของชาวเน็ตจีนทำให้เริ่มออกมาวิจารณ์การทำงาน การบริหารประเทศของรัฐบาลไทย แต่สิ่งที่ชาวจีนคาดไม่ถึงคือคนไทยไม่ได้รู้สึกแย่ ทั้งนี้ จากการติดตามในฐานะผู้สื่อข่าวพบว่าทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการแสดงความเห็นทางการเมือง คนส่วนใหญ่ในทวิตเตอร์เท่าที่พบคืออายุยังน้อย เช่น นักเรียน นักศึกษา ซึ่งแนวคิดทางการเมืองแตกต่างค่อนข้างมากจากผู้ใช้เน็ต หรือคนอีกเจนเนอเรชั่นหนึ่ง สะท้อนว่าสังคมไทยและหลายประเทศสามารถเห็นช่องว่างระหว่างวัยได้อย่างชัดเจน

“หลังจากคนไทยโต้ตอบกลับอย่างสนุกสนานทำให้เกิดมีม (meme) ขบขันมากมาย ขณะเดียวกันภาคประชาชนที่ใช้โซเชียลในไต้หวันเริ่มรู้สึกว่ามีคนมาช่วยตัวเองแล้ว กลายเป็นดราม่าที่เกิดขึ้นท่ามกลางประเด็นหลายอย่างระหว่างประเทศอยู่แล้ว ต่อมา โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง ทวีตข้อความสนับสนุนไทย อีกทั้งนักการเมืองของไต้หวันเข้ามาขอบคุณคนไทยด้วยเช่นกัน ตลอดจนไช่ อิงเหวิน ประธานาธิดีไต้หวัน ทวีตอวยพรชาวไทยเป็นภาษาไทยเนื่องในวันสงกรานต์ นี่เองคนไทยหลายคนมองว่าเป็นการสนับสนุนไทยหรือไม่ หรือเป็นบ่อเกิด #พันธมิตรชานม หรือไม่

Advertisement

“ดราม่ากลับมาอีกครั้งเมื่อสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์ถึงเรื่องนี้ทางเฟซบุ๊ก เสมือนจุดชนวนรอบ 2 พร้อมมีแฮชแท็กใหม่คือ #ชานมข้นกว่าเลือด ทำให้คนไทยบางส่วนแสดงความเห็นต่อต้าน ต่อมาเฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้ออกมาให้กำลังใจชาวไทยในการผ่านพ้นโควิด-19 โดยนำเอานักแสดงชาวจีนมาร่วมให้กำลังใจ จังหวะเดียวกันนี้มีรายงานจากอเมริกาที่นำเสนอว่ามีการทำรีเสิร์ชว่าเขื่อนที่จีนสร้าง 11 แห่งในลุ่มแม่น้ำโขง มีส่วนทำให้เกิดภัยแล้งในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนจะเกิดประเด็นนี้อีกครั้งหนึ่ง แน่นอนว่าทางการจีนไมได้นิ่งนอนใจ พยายามชี้แจงว่าจริงๆ แล้วภัยแล้งในภูมิภาคนี้ไม่ได้มาจากเขื่อน แต่เพราะน้ำน้อยผิดปกติในรอบปีที่ผ่านมา” น.ส.หทัยกล่าว

นายธีรภัทรกล่าวว่า เรื่องพันธมิตรชานมส่วนมากเริ่มจากวัฒนธรรมป๊อบคัลเจอร์และคนอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งเป็นฐานผู้ใช้หลักของทวิตเตอร์ เห็นได้ว่าผลงานสร้างสรรค์ทั้งหลายเกี่ยวข้องกันอย่างมากกับการเมืองยุคใหม่ของไต้หวัน โดยหลังปี 2016 เป็นต้นมา หลังจากไช่ อิงเหวิน เป็นประธานาธิบดี พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าได้นำเสนอ 2 นโยบายซึ่งส่งผลต่อการเมืองระหว่างประเทศและนโยบายสร้างสรรค์ของเยาวชน คือการมุ่งใต้ครั้งใหม่ของไต้หวัน โดยให้โอกาสแก่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเยาวชนในการให้ทุนไปเรียนต่อที่ไต้หวัน อีกประการคือการสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เรื่องการออกแบบ วาดภาพ พร้อมนำแอนิเมชั่นเข้ามาสื่อโซเชียลยุคใหม่ กระทั่งนักการเมืองไต้หวันก็ใช้การสื่อสารผ่านโซเชียลมากขึ้น

นายธีรภัทรกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไต้หวันมีข้อพิพาทกับจีนแผ่นดินใหญ่เรื่องนโยบายที่แตกต่างกัน โดยข้อพิพาทนี้ทำให้ปี 2014 เกิดปฏิวัติดอกทานตะวัน เกิดนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ และมีการใช้ภาพวาดแอนิเมชั่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่ชาวจีนอาศัย VPN เข้ามาก่อดราม่าครั้งนี้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจภาษาและวัฒนธรรมกัน คนจีนพูดมา แต่เราไม่เจ็บ จึงทำให้คนฮ่องกงกับไต้หวันรู้สึกว่ามีคนที่ต่อกรกับกลุ่มชาวเน็ตจีนที่บูลลี่ตนมา 5-6 ปีได้แล้ว เสมือนชาวเน็ตไทยเป็นผู้มาโปรด

Advertisement

“เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ วัยรุ่นไทยรู้สึกอิน เพราะเป็นการต่อสู้กันระดับประชาชนกับประชาชน แม้กระทั่งงานการ์ตูน งานคอสเพลย์ หรือสำนักพิมพ์ไทยก็ขายลิขสิทธิ์ให้ไต้หวัน ส่วนหนึ่งก็เพื่ออ้อมไปขายที่จีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องนิยายชายรักชาย และ LGBT อีกจำนวนมาก ซึ่งกระทบไปถึงจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะ 2-3 ปีให้หลังมีการปราบปราม เพราะมองว่าไม่เหมาะสม ทำให้นักเขียน นักสร้างสรรค์ต่างๆ ต้องอพยพมาใช้แพลตฟอร์มไต้หวันมากขึ้น ดังนั้น ไต้หวันจึงเป็นจุดเชื่อมศูนย์กลางระหว่างไทยและจีนแผ่นดินใหญ่ในการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์เหล่านี้

“ทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้ชาวเน็ตที่เป็นวัยรุ่นไทยในภาคประชาชนมีความรู้สึกที่เข้าข้างไต้หวันมากกว่าที่จะเข้าข้างจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมมองว่าจีนวางอำนาจต่อประเทศหรือคนที่เล็กกว่า ซึ่งชาวเน็ตจีนแผ่นดินใหญ่ก็มองว่าตัวเองเป็นพี่ใหญ่ พูดอะไรก็ได้ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่พอใจ และเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างพันธมิตรของชาวเน็ต เพื่อต่อต้านกลุ่มที่กลั่นแกล้งข่มเหง” นายธีรภัทรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image