‘ธีรัจชัย’ ห่วงนิยามเอสเอ็มอีตาม พ.ร.ก. เอื้อทุนใหญ่ อัด เยียวยาไม่ตอบโจทย์ ปล่อยกู้แค่ลูกค้าชั้นดี

‘ธีรัจชัย’ ห่วงนิยามเอสเอ็มอีตาม พ.ร.ก. เอื้อประโยชน์ทุนใหญ่ อัด เยียวยาไม่ตอบโจทย์ ปล่อยกู้แค่ลูกค้าชั้นดี

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 30 พฤษภาคม ที่รัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปราย พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 5 แสนล้าน โดยระบุว่า ปัญหาเรื่องการนิยามเอสเอ็มอี ของ พ.ร.ก. ดังกล่าวไม่ตรงกับนิยามที่กฎหมายอื่นๆ ในประเทศที่เคยมีอย่างสิ้นเชิง ก่อนหน้านี้มีการนิยามวิสาหกิจขนาดย่อย ขนาดย่อม และขนาดกลาง ตามการจ้างงานและรายได้ของแต่ละธุรกิจ อาทิ ขนาดย่อย ไม่เกิน 5 คน รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก. ที่เสนอมาใหม่โดยรัฐบาลนั้น นิยามเอสเอ็มอี ว่า คือ วิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท ไม่ระบุการจ้างงานหรือระดับรายได้เลย หมายความว่า บริษัทที่มีรายได้ 1,000 ล้านบาท 2,000 ล้านบาท หรือ 3,000 ล้านบาท มีลูกจ้าง 2,000 – 3,000 คน ก็สามารถกู้ยืมเงินก้อนนี้ เพียงแค่ต้องไม่มีหนี้กับธนาคารเกิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งอย่างนี้ จะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ที่ไม่ใช่เอสเอ็มอีได้อย่างง่ายๆ

“ตาม พ.ร.ก.คาดจะมีกลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยและรายย่อมตกหล่นจากเกณฑ์การมีสินเชื่อในธนาคารที่กำหนดไว้แน่นอน การปล่อยกู้ร้อยละ 2 ที่กำหนดไว้ ธนาคารเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกผู้กู้ได้ด้วยตนเองตามระดับเครดิตหรือความเป็นลูกค้าชั้นดีของธนาคาร ไม่มีการผ่อนปรน กฎเกณฑ์ การให้สินเชื่อใดๆ เลย เอสเอ็มอีเหล่านี้ที่ไม่ได้มีเครดิตดีจนเข้าสายตาธนาคารจึงยากที่จะเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยถูก ตาม พ.ร.ก. นี้ เพื่อพยุงกิจการและรักษาการจ้างงานได้ เพราะกฎเกณฑ์ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินนี้ ผมได้คุยกับผู้ประกอบการรีสอร์ตแถวชายแดนไทย-พม่า ส่วนใหญ่ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ บางคนไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และเกือบทั้งหมดไม่ค่อยได้ใช้เงินกู้จากธนาคาร แต่เสียภาษีให้รัฐถูกต้อง ที่ผ่านมาถูกมาตรการปิดเมือง ไม่มีลูกค้าทั้งคนไทยและต่างประเทศมาพัก ไม่มีรายได้ 2 เดือนเศษแล้ว ต้องจ่ายค่าแรงลูกจ้าง บางรายไม่ไหวต้องเลิกจ้างลูกจ้าง เป็นต้น คาดว่าเอสเอ็มอีอย่างนี้ไม่น่าจะเข้าถึงเงินกู้ได้” นายธีรัจชัยกล่าว

นายธีรัจชัย กล่าวว่า ตัวเลขการจ้างงานของเอสเอ็มอีทั้งหมดในประเทศอยู่ที่ 3,070,177 ราย ขนาดย่อมและย่อยจำนวน 3,029,525 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.2 หรือเกือบทั้งหมดของเอสเอ็มอี ในขณะที่ขนาดกลางมีจำนวน 40,652 ราย หรือร้อยละ 1.8 เท่านั้น และเมื่อเราตามไปดูการจ้างงานจะพบว่า ขนาดย่อยมีการจ้างงาน 4,974,613 คน ขนาดย่อม 4,140,563 คน และขนาดกลาง 2,070,936 คน ซึ่งขนาดย่อมและขนาดย่อยไม่มีสินเชื่อกับธนาคาร ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แน่นอนว่าไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือนี้ได้เลย ผู้ประกอบการและแรงงานหลายล้านชีวิตกำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสและกำลังจะล้มลงโดยปราศจาการเหลียวแลหรือให้ความช่วยเหลือใดๆ ของรัฐบาล

Advertisement

“ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีกว่า 3 ล้านราย จ้างงานกว่า 12 ล้านคน ถ้าหากล้มหายตายจากไป กลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบคือ แรงงานพนักงานที่ถูกจ้าง จะถูกลดชั่วโมงการทำงาน ตกงาน กลับต่างจังหวัด อนาคตทำงานได้แค่รับจ้างรายวัน ขาดความมั่นคง ไม่มีเงินออม และในฝั่งทรัพย์สิน ก็ได้จะรับผลกระทบในแง่ที่ว่า ทรัพย์สินที่มีอยู่ก็ต้องถูกธนาคาร หรือถูกเจ้าหนี้ยึดทรัพย์เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ต้องเอาทรัพย์สินไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินสดส่งคืนเจ้าหนี้ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทหนึ่งก็เป็นทั้งเจ้าหนี้การค้าและลูกหนี้การค้าของอีกบริษัท ถ้าบริษัทหนึ่งถูกกระทบก็จะไปดึงเงินอีกบริษัทหนึ่ง เกิดผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ ส่วนเอสเอ็มอีเจ้าของทรัพย์สินก็จะกลายไปคนล้มละลาย การจะไปทำธุรกรรมอะไรก็ยาก บางคนกิจการที่เขาสร้างมาทั้งชีวิตเมื่อล้มไป จะเริ่มสร้างใหม่ก็ไม่ง่ายเหมือนเดิมแล้ว” นายธีรัจชัย กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image