‘สมคิด’ ร่ายยาวแจงที่มาการออกพ.ร.ก.กู้เงิน ยัน มาตรการตามพ.ร.ก. เป็นสิ่งจำเป็น พ้อทำงานรับใช้รัฐบาล-บ้านเมืองมา 10 ปีแล้ว เบื่อเต็มที่อยากสร้างคนใหม่เข้ามาดูแล
เมื่อเวลา 14.35 น. วันที่ 31 พฤษภาคม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ข้อเสนอของสมาชิกเป็นสิ่งที่ดี เชื่อว่าทางกระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ สำนักงบประมาณ และผู้ที่เกี่ยวข้องจะรับไปพิจารณา ปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้น ทั้งนี้ การออกพ.ร.ก.ชุดนี้ เป็นเรื่องความจำเป็นและเร่งด่วน ถ้าเราไม่รีบยุติภายในไม่กี่วัน จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและเมื่อถึงจุดนั้นเราจะเบรกกันไม่อยู่ ฉะนั้น รัฐบาลจึงถึงจุดที่ต้องตัดสินใจให้ทุกคนอยู่บ้าน แน่นอนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะต้องหยุด ทุกอย่างหยุดหมด ซึ่งรัฐบาลรู้ถึงสถานการณ์นี้ดี เมื่อกดถึงจุดต่ำสุดแล้วก็มาพิจารณาถึงการผ่อนคลาย ที่ผ่านมาประชาชนเข้าใจและให้ความร่วมมือ ระหว่างเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีบางอย่างที่ต้องคิดล่วงหน้า คือ การหาเงินเยียวยาในช่วงแรก ทั้งการใช้งบประมาณปกติและการกู้ยืม หลักการเยียวยา คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้นที่ควรได้รับการเยียวยา
“แต่ประเด็นไม่ได้อยู่แค่นั้น ต่อมาเริ่มอาการจากตลาดตราสารที่มีการไถ่ถอน บางกองทุนเริ่มปิดกองทุน ผมผ่านต้มยำกุ้งมาแล้ว เมื่อใดเศรษฐกิจจริงมีปัญหา ผลิตไม่ได้ เดินต่อไม่ได้ มันจะพันไปตลาดเงินทันที เวลานี้ตลาดตราสารใหญ่มาก ตลาดทุนก็จะตามมา สมัยปี 2540 ทุกอย่างตามไม่ทัน รัฐบาลขณะนั้น ต้องตามไปเก็บศพด้วยการไปซื้อหนี้เสียจากธนาคาร ดังนั้น เวลานี้เราจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะเราผ่านบทเรียนมาแล้ว จึงเป็นที่มาของ พ.ร.ก.ดูแลตราสารหนี้ อย่าไปคิดว่าจะเป็นการอุ้มเจ้าสัว แต่มาตรการตามพ.ร.ก.จึงเป็นสิ่งจำเป็น เป็นหลังพิง การเยียวยา 3 เดือนเงินก็หมดแล้วไม่เกินกรกฎาคม เงินหมุนเวียนเศรษฐกิจจะมาจากไหน เราอาศัยการส่งออกและปัจจัยภายนอกอย่างเดียวไม่ได้ ทั่วโลกหนักหนาอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ไม่มีประเทศไหนไม่เดือดร้อน แต่ประเทศไทยโชคดีที่เราทำให้โครงสร้างของประเทศมีความน่าเชื่อถือ ไม่ต้องไปหาไอเอ็มเอฟเลย เพราะมีหนี้ต่อจีดีพีน้อยมาก นายกฯยืนยันต้องมีการผ่อนคลาย แต่ก็ต้องระวังว่าหากระบาดขึ้นมาอีกจะเอาเงินที่ไหนมาดูแล ” นายสมคิดกล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่เคยคิดจะเข้ามาแทรกแซง แต่ถ้าครั้งนี้ธปท.ไม่เข้ามาก็จะทำให้ตลาดเงินตลาดทุนอยู่ไม่ได้ การเอาเงินมาฟื้นฟูนั้นต้องทำแบบเดิมไม่ได้ เพราะอะไรที่ช่วยประชาชนในท้องถิ่นจะต้องเข้าไปช่วยกัน จะใช้เป็นฐานที่เข้มแข็งของประเทศไทย และเพื่อไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง จะให้คนกลางเข้ามากลั่นกรองการใช้เงินโดยรับฟังจากภายนอกด้วย โดยวันที่ 5 มิถุนายน จะเริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็น
“การร่วมมือระหว่างสภากับรัฐบาลสำคัญมาก เพราะอีกครึ่งปีนี้จะยังไม่เหมือนเดิมแน่นอน ดังนั้น การใช้เงินต้องมีคุณภาพ ใช้เงินไม่หมดไม่เป็นไร เอาที่มีคุณภาพ เงินส่วนที่เหลือใช้สำหรับการเยียวยาได้ สถานการณ์โควิดอาจลามถึงปีหน้า ความคิดของเราจึงคิดว่าเศรษฐกิจท้องถิ่นจะต้องเป็นจุดแข็ง งบประมาณปี 2564 ต้องปรับแนวทางใหม่ต้องสร้างให้คนมีงานทำ คนไทยไม่ชอบนั่งรับเงินเพราะอยากมีงานทำ นอกจากนี้ รัฐบาลยังคิดล่วงหน้าไปด้วยว่าเพื่อพยุงไปให้ได้ ต้องเตรียมความคิดและโครงการ ผมทำงานรับใช้รัฐบาลและบ้านเมืองมา 10 ปีแล้ว เบื่อเต็มที่แล้วอยากสร้างคนใหม่ๆเข้ามาดูแล แทนคนเก่าคนแก่ที่อายุมากแล้ว ถ้าเราเตรียมโครงสร้างพื้นฐานไว้พร้อม เมื่อโควิดผ่านพ้นเราจะก้าวกระโดดทันที และจะมีข้อมูลจำนวนมหาศาล เป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เหตุการณ์ 3 เดือนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยังมีอีกยาวที่ต้องทำงานด้วยกัน ถ้าจะมาตรวจสอบความโปร่งใสย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ชาวบ้านจะได้อุ่นใจเพื่อให้เกิดประโยชน์เท่าเทียมกัน ผมไม่ได้แก้ตัวแทนรัฐบาล ไม่ได้แก้ตัวแทนนายกฯ ดูท่านนายกสิ ตาโหล มั้ย ด้วยความเครียดที่ต้องเผชิญมีอยู่แล้ว ยิ่งเหตุการณ์เป็นแบบนี้ ชาวบ้านอยากเห็นสภาพรรคการเมืองมีความสามัคคี ไม่อย่างนั้นจะผ่านโควิดถึงปีหน้าได้อย่างไร ประชาชนจะพึ่งพาใคร ไม่มี Somkid’s Doctrine แน่นอน มีแต่พวกเราต้องร่วมมือกัน ” นายสมคิด กล่าว