สภาถก พ.ร.ก.ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ‘ณัฐพงษ์’ ก้าวไกล แนะตราเป็นพ.ร.บ.เหมาะกว่า เพื่อให้ใช้ครอบคลุมทุกฝ่าย

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 31 พฤษภาคม ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 โดย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงสาระสำคัญของพ.ร.ก.ดังกล่าว ว่าเป็นการกำหนดให้การประชุมที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประชุม สามารถดำเนินการได้ด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่ห้ามไม่ให้ใช้กับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา การประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล การประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ และการประชุมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

จากนั้น นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเห็นด้วยที่จะมีกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่การตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ ตนเห็นว่าไม่ถูกต้อง ทำให้เราไม่สามารถสนับสนุนพ.ร.ก.ฉบับนี้ได้ เพราะพ.ร.ก.เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นมาในวาระเร่งด่วน ทั้งนี้ รัฐบาลที่คุมเสียงข้างมากในสภาสามารถเรียกเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญได้ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อผ่านกฎหมายในลักษณะของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ได้ไม่ยาก แต่กลับเลือกใช้วิธีตราเป็นพ.ร.ก. จากข้อมูลที่เราสืบค้นการประชุมครม. สามารถดำเนินการประชุมได้โดยปกติ รวมถึงส่วนราชการอื่นๆหลายส่วนราชการสามารถจัดประชุมออนไลน์ได้โดยไม่ต้องใช้พ.ร.ก.ฉบับนี้ ขณะที่ข้อมูลของภาคเอกชนพบว่ามีไม่ถึง 10 บริษัท ที่จัดประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นในช่วงสถานการณ์โควิดแบบออนไลน์ และมีเพียง 2 – 3 บริษัทเท่านั้นที่อ้างถึงพ.ร.ก.ฉบับนี้ ขณะที่อีก 200 กว่าบริษัทประกาศเลื่อนการประชุมออกไปแบบไม่มีกำหนด จากข้อมูลทั้งหมดตนเชื่อว่าตนสามารถโน้มน้าวเพื่อนสมาชิกได้ว่า ผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมายของพ.ร.ก.ฉบับนี้แทบจะไม่มีเลย เพราะไม่มีเหตุของความจำเป็นรีบด่วน จะดีกว่าหรือไม่ถ้าที่ผ่านมารัฐบาล และเสียงข้างมากในสภาฯ เลือกใช้วิธีการตามกระบวนการปกติแล้วตรากฎหมายฉบับนี้ออกมาเป็นพ.ร.บ. โดยให้สภามีสิทธิ มีเสียงให้ความเห็นเพื่อให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ครอบคลุมกับทุกฝ่าย รวมถึงศาล และและรัฐสภาแห่งนี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image