สัมภาษณ์พิเศษหน้า2 : อุตตม-สนธิรัตน์-สุวิทย์ : ชู พปชร.การเมืองวิถีใหม่

สัมภาษณ์พิเศษหน้า2 : อุตตม-สนธิรัตน์-สุวิทย์ : ชู พปชร.การเมืองวิถีใหม่

หมายเหตุ – นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร. และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์พิเศษ มติชนŽ ถึงความเคลื่อนไหวและทิศทางการขับเคลื่อนพรรค พปชร.นับจากนี้

มองปัญหาที่เกิดขึ้นในพรรค พปชร.ขณะนี้

สนธิรัตน์ – ก่อนอื่นต้องย้อนถึงจุดยืนของพวกผมที่มาทำงานการเมือง ในนามพรรค พปชร. ก็เพื่อมาขับเคลื่อนการเมืองใหม่ การเมืองในช่วงการปฏิรูป การเปลี่ยนผ่านของประเทศ จะเห็นได้ว่าหลังจากการเลือกตั้ง พรรค พปชร.มี ส.ส.ใหม่เข้ามากว่า 60-70 คน ถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือนิวเจนทางการเมืองที่จะมาขับเคลื่อนการเมืองรูปแบบใหม่ ถือเป็นโอกาสที่จะเดินไปข้างหน้า เพราะคนรุ่นใหม่ไม่อยากเห็นภาพการเมืองที่กลับไปขัดแย้งกันเหมือนในอดีต แบ่งขั้ว แบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน

Advertisement

พรรค พปชร.เป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา หวังให้เป็นพรรคการเมืองเข้ามาขับเคลื่อนการเมืองรูปแบบใหม่ ไม่ใช่การเมืองแบบเก่าที่ขัดแย้งกันเหมือนในอดีต

ส่วนการเคลื่อนไหวกันในพรรคการเมือง ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อพรรค พปชร.เป็นพรรคใหญ่ มีคนจากหลายส่วน หลายกลุ่มเข้ามาทำงานร่วมกัน ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าการเมืองภายในพรรค พปชร.ขณะนี้ การซอฟต์แลนดิ้งของอำนาจ คือทางออกของประเทศ แต่ถ้าจะเปลี่ยนผ่านอำนาจแบบหักล้างกันก็จะไม่จบอีกก็อาจจะต้องลงถนนกันอีก

Advertisement

พวกผมที่เข้ามาทำพรรคการเมืองนั้น คิดทำการเมืองแบบใหม่ ไม่คิดทำการเมืองแบบเก่า ผมเชื่อว่านักการเมืองในพรรค พปชร.กว่าครึ่งไม่ได้ต้องการการเมืองแบบเก่า ทุกคนมีเกียรติ ยศศักดิ์ อยากเข้ามาทำงานให้ประเทศ ถ้าไปมีใบสั่งกับเขา เขาก็ไม่ตอบสนองกับการเมืองแบบเก่า

การเมืองแบบเก่า คือ การตั้งก๊วน ตั้งแก๊ง ผมไม่อยากให้กลับไปเป็นการเมืองแบบเก่าอีก อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) อดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่เปลี่ยนมาเป็นพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ก็มีนักการเมืองใหม่ๆ ที่มีคุณภาพเข้ามาทำงานหลายคน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่น่าสนใจ

ผมคิดว่าสิ่งที่ทุกพรรคจะต้องช่วยกัน คือ การทำการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเมืองใหม่ อาจจะไม่ถูกใจใครบางคนบ้างก็ต้องก้าวผ่านให้ได้ เพราะการเมืองคงไม่สามารถทำให้ถูกใจทุกคนได้

สำหรับความเคลื่อนไหวในพรรค พปชร.ในขณะนี้ ผมมองว่าเป็นการต่อสู้กันทางความคิดระหว่างกระแสความคิดการเมืองเก่ากับกระแสความคิดการเมืองใหม่ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น พวกผมพยายามทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่การเมืองใหม่ หากยังจะย้อนไปสู่การเมืองแบบเก่าอีก ผมก็รู้สึกเสียดายแทนประเทศไทย

เรื่องในพรรค พปชร.ขณะนี้ ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ผมหวังว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเวลานี้จะไม่เดินถอยหลังไปสู่การเมืองแบบเก่าอีก ไม่ควรถอยหลังเป็นพรรคการเมืองที่มีกลุ่ม ก๊วน มีการต่อรองต่างๆ กันอีก ต้องก้าวไปสู่การมีระบบพรรคที่แท้จริง เป็นพรรคการเมืองที่เป็นความหวังให้กับประชาชน

การจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ในพรรคนั้น ควรอยู่บนพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตย ให้ ส.ส.ทั้งพรรคได้มีโอกาสร่วมกันตัดสินใจ

อุตตม – ผมคิดว่าการเมืองขณะนี้เป็นช่วงสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศ ถึงแม้จะไม่มีสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่พอมีสถานการณ์โควิด จึงเป็นเหมือนตัวเร่งสถานการณ์ให้รัฐบาลและพรรค พปชร. ต้องปรับตัวเองให้มีความเข้มแข็งเพื่อให้นายกรัฐมนตรีสามารถบริหารจัดการสถานการณ์โควิดให้ผ่านพ้นไปให้ได้ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามไปสู่เส้นทางว่าประเทศไทยจะเดินไปทางไหนต่อ

การชนะศึกโควิดนั้นเป็นแค่จุดเริ่มต้นของประเทศไทยที่จะก้าวต่อไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การค้า สังคม

อย่างเรื่องเอสเอ็มอี ไม่ใช่แค่เรื่องจะดูแลและเยียวยาเพียงอย่างเดียว แต่จะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ได้ รัฐบาลจะต้องมีความเข้มแข็งพอที่จะทำเรื่องเหล่านี้ แต่จะทำได้ก็ต้องด้วยบทบาทของพรรค พปชร. ที่เข้มแข็งพอในการสนับสนุน ในความท้าทายมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงเกิดขึ้นได้แน่นอน รัฐบาลต้องมีความเข้มแข็งที่จะทำเรื่องดังกล่าว

วันนี้ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในพรรค พปชร. ส่วนหนึ่งผมมองว่าเป็นธรรมชาติของพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นมาได้ไม่นานและมีขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถปล่อยให้พรรค พปชร.อยู่ในภาวะที่อ่อนแอ

ถ้าจำได้พวกผมจาก 4 กุมาร ก็ออกจากตำแหน่งทางการเมืองในขณะนั้น มาร่วมกันทำพรรค พปชร.ด้วยเจตนารมณ์คือการทำการเมืองแบบใหม่ ต้องการให้พรรค พปชร.ก้าวไปข้างหน้า สนับสนุนการทำงานของนายกฯได้อย่างเต็มที่

จุดยืนเราคือ ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ วันนี้ภารกิจยังไม่จบ วิกฤตของประเทศยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงในพรรคการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ต้องเกิดจากคนในพรรคมีส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจไปด้วยกัน เพื่อพัฒนาพรรค พปชร.ให้เป็นสถาบันทางการเมือง มีโครงสร้างพรรคที่เข้มแข็งสนับสนุนให้นายกฯได้ทำงานต่อไป

หลายคนอาจมีคำถามว่า พวกผมเข้ามาทำอะไร ไม่น่าจะอยู่ต่อแล้ว แต่ผมก็ต้องถามกลับว่า ผมได้ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมควรหรือไม่ ก็ต้องมาพูดคุยกันในกรอบของเหตุผล เพื่อให้ตอบสนองวัตถุประสงค์ในการตั้งพรรค พปชร. ให้พรรคสามารถเดินไปได้ด้วยพลังของ ส.ส.ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า

ประเด็นสำคัญ คือ ต้องสนับสนุนให้นายกฯเป็นผู้นำรัฐบาลในการนำพาและฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ ยุทธศาสตร์แม้จะดีแต่ถ้าการเมืองไม่นิ่ง การเดินหน้าก็ทำไม่ได้ต่อเนื่อง การเมืองต้องเป็นการเมืองที่มองไปข้างหน้า ไม่เป็นการเมืองที่ถอยหลัง การพูดคุยต้องแบบเปิดใจคุยกันด้วยการยึดจุดยืนให้พรรค พปชร.เดินไปข้างหน้าให้ได้ ผมมองแบบนี้

สุวิทย์ – ในช่วงที่เกิดโควิดจะใช้การเมืองแบบเก่ามาจัดการไม่ได้ นายกฯต้องใช้ระบบการจัดการบางอย่างมาใช้ ประเทศขณะนี้อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านยังนิ่งนอนใจไม่ได้ บางคนอาจมองว่าหลังสถานการณ์โควิดแล้วก็มานั่งเคลียร์กันในพรรค แต่ผมมองว่ายังไม่ใช่ ยังมีเรื่องต้องทำอีกเยอะ

ผมคิดว่า ถ้าจะทำประชาธิปไตยก็ต้องเริ่มตั้งแต่ในพรรค ไม่ใช่ไปใช้อำนาจอะไรบางอย่าง ในการกำกับอะไรบางเรื่อง เป็นการเมืองแบบเดิม

โจทย์ของประเทศในวันนี้ใหญ่กว่าโจทย์ของพรรคไปแล้ว คนจึงมองพวกผมว่าขาลอย เพราะช่วงรัฐบาล คสช. พวกผมเข้ามาในช่วงประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านยังไม่นิ่ง แต่ขณะนี้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย พวกผมก็ได้มีโอกาสมาขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้า

ผมยังทำงานตามหน้าที่ ถ้านายกฯบอกให้ทำงานต่อก็ทำงานต่อ แต่ถ้าวันหนึ่งมีการปรับเปลี่ยนก็ต้องไป แต่สถานการณ์ของประเทศยังมีเรื่องอีกมากให้ต้องทำต่อ และถ้าพรรค พปชร.ยึดเจตนารมณ์ คือ ให้นิวเจนเข้ามาขับเคลื่อนการเมืองก็ต้องทำให้ได้ตามจุดยืนที่ตั้งใจจะทำ

สนธิรัตน์ – ความจริงในเวลานี้ยังไม่เหมาะที่จะพูดเรื่องการเมือง อย่าไปมองว่าใครได้ใครเสีย เวลาขณะนี้ต้องมาร่วมกันคิดแก้ไขประเทศในสถานการณ์โควิดว่าจะขับเคลื่อนประเทศกันไปอย่างไรท่ามกลางผลกระทบของโควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลก

เวลานี้ต้องใช้การบริหารจัดการแบบพิเศษเพื่อแก้สถานการณ์โควิด ต้องเห็นใจทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมกันแบกรับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ต้องปรับวิสัยทัศน์ทางการเมืองในช่วงวิกฤตโควิดกันเสียใหม่

ถามว่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงนี้จะเปลี่ยนด้วยเหตุผลใด เปลี่ยนเพราะเสียงสนับสนุนรัฐบาลไม่พอ เพราะความแตกแยกภายในพรรคร่วมรัฐบาล หรือมีปัจจัยที่ต้องให้เปลี่ยนแปลง ผมมองว่าในวันนี้เรายังไม่ได้มีปัจจัยอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลง และยังไม่ใช่เวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลง

ตรงกันข้ามถือเป็นช่วงเวลาที่เราต้องอาศัยความร่วมมือกันนำพาประเทศให้ก้าวข้ามวิกฤตไปให้ได้ ต้องใช้คนให้ถูกกับงาน ใครก็ได้ที่มีความสามารถนำพาประเทศไปได้ต้องมาช่วยกัน ภาวะประเทศขณะนี้ต้องมีผู้บริหารให้นำพาประเทศไปให้รอดในช่วงที่โควิดสร้างผลกระทบไปทั้งโลก ขนาดแจ๊ก หม่า ผู้ก่อตั้ง บ.อาลีบาบา ยังบอกว่า อย่าเพิ่งไปหวังการเติบโตทางธุรกิจในเวลานี้ เอาแค่ประเทศให้อยู่รอดก่อน

วันนี้สถานการณ์โควิดของประเทศไทยยังเพิ่งเริ่มต้น คือ ตอนนี้เราแค่ตัวเลขติดเชื้อลดลง แต่สถานการณ์ของประเทศนับจากนี้ไปยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าจะรอดไปได้อีกหรือไม่

ผมคิดว่า การเมืองต้องดูสถานการณ์ของประเทศด้วย จะดูแต่ความต้องการทางการเมืองอย่างเดียวคงไม่ได้ เรื่องการเมืองควรจะเก็บเอาไว้คุยกันในช่วงที่ว่าเราเห็นภาพของประเทศแล้วว่าจะรอดกันอย่างไร เมื่อถึงจุดนั้นมาคุยกันก็ยังไม่สาย ถ้าถามว่าในหลักบริหาร ผมมองว่ายังไม่ใช่เวลาที่จะมาคุยการเมืองในเวลานี้

ขณะนี้รัฐบาลบริหารสถานการณ์โควิดไปได้ค่อนข้างดี จนได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ การเยียวยาอาจมีขลุกขลักบ้าง แต่ต้องยอมรับว่าเป็นวิกฤตที่ใหญ่มาก ในการเยียวยาคนถึง 50 ล้านคน แต่ไม่ได้มีปัญหาถึงขั้นเกิดคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ การใช้เงินเยียวยาของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศก็ยังไม่ได้มากอะไร ประชาชนต่างเฝ้ามองวันนี้จะมีอะไรกินหรือไม่ จะมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้อีกหรือไม่ แต่นักการเมืองจะมาพูดคุยอะไร อยากเป็นอะไรกันในเวลานี้

ผมจึงมองว่ายังไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดกันเรื่องการเมือง

สุวิทย์ – ในช่วงที่เกิดโควิด ได้คุยกับนายกฯว่า วิกฤตครั้งนี้คือนิวนอร์มอล ต้องระวังไม่ให้เกิดวิกฤตซ้อนในวิกฤต ประเทศไทยทั้งจากวิกฤตภัยแล้ง เศรษฐกิจ ผมว่า การเมืองในขณะนี้อย่าทำให้นายกฯต้องปวดหัวเพิ่ม นายกฯแก้วิกฤตโควิดได้ดีระดับหนึ่งแล้ว แต่ต้องเดินหน้าแก้วิกฤตอื่นๆ ที่จะตามมาอีก ผมคิดว่าการเมืองต้องมองภาพประเทศให้ใหญ่หน่อย อย่ามองแค่ว่าสมบัติผลัดกันชม เราจะต้องเดินหน้าประเทศในอีกหลายเรื่อง ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยการเมืองที่นิ่งในการขับเคลื่อน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจฐานราก

ความจริง ส.ส.ควรจะลงพื้นที่ดูความเดือดร้อนของประชาชน แล้วสะท้อนมายังพรรคและฝ่ายบริหาร เพื่อให้เงินกู้ลงไปถึงมือประชาชนได้อย่างทั่วถึงตรงกับความต้องการ ตอนนี้ยังมีการบ้านให้ทำอีกมาก อย่าเพิ่งมาทำการเมืองในขณะนี้ เวลานี้ต้องใช้คนที่บริหารบ้านเมืองเป็น ไม่ใช่ใครก็ได้มาบริหารในช่วงประเทศเจอวิกฤต ถ้าเป็นช่วงปกติอาจให้ใครก็ได้เข้ามาบริหาร ตรงนี้ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องสมบัติที่ผลัดกันชม

คิดว่าจะพูดคุยทำความเข้าใจในพรรคได้หรือไม่ เพราะหลายฝ่ายประกาศความพร้อมในการเข้ารับตำแหน่ง

อุตตม – ผมคิดว่าหากเปิดหัวใจมาคุยกันด้วยเหตุผล ไม่ไปตั้งโจทย์จากตัวเองว่าต้องการเป็น 1 2 3 4 ผมคิดว่ายังพูดคุยทำความเข้าใจกันได้ ที่พวกผมพูดคือ การใช้ระบบพูดคุย มาทำงานร่วมกัน เมื่อมีความเห็นที่ขัดแย้งกันก็เอามาพูดคุยกันในระบบ ไม่ใช่เอาไปพูดคุยกันในมุมมืด ที่ผ่านมาพวกผมก็เซอร์ไพรส์ไม่คิดว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ ต้องใช้เวทีของพรรคในการพูดคุยหาทางออก หรือจะใช้เวทีของพรรคที่ใช้การเมืองล้วนๆ นำ ยิ่งในภาวะวิกฤตขณะนี้จะพะว้าพะวงไปกันใหญ่ ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย

สนธิรัตน์ – ผมว่าสถานการณ์ประเทศในขณะนี้ ทุกคนต้องถอยย้อนกลับมามองดูตัวเองว่า อะไรเหมาะสม อะไรเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในการที่จะใช้การเมืองขับเคลื่อนให้ประเทศเดินต่อไปได้ การเมืองควรจะมาสนับสนุนการบริหารประเทศให้เดินหน้าได้อย่างไร การเมืองต้องตั้งโจทย์แบบนี้ ไม่ควรนำพาประเทศไปสู่ทางตัน

ผมมองว่าวิกฤตโควิดครั้งนี้สำหรับประเทศไทยนั้นใหญ่มาก แต่ยังโชคดีที่ประเทศไทยมีระบบบริหารจัดการค่อนข้างดี ระบบสาธารณสุขเข้มแข็ง ประชาชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐ วิกฤตนี้ต้องมองประเทศในภาพกว้างแล้วการเมืองค่อยขยับ

วันนี้รัฐบาลแข็งแรง พรรคร่วมรัฐบาลแข็งแรง รัฐบาลไม่ใช่เสียงปริ่มน้ำ ปัจจัยทางสภาไม่มีปัญหา ปัจจัยการบริหารก็ยังไม่ได้มีปัญหาหรือคอร์รัปชั่นรุนแรง ปัจจัยหลายอย่างค่อนข้างนิ่ง ผมไม่อยากให้นำปัจจัยการเมืองมาเพิ่มภาระให้กับนายกฯ จนทำให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารประเทศ แต่ละพรรคร่วมก็ช่วยกันประคองสถานการณ์การเมืองให้เดินต่อไปให้ได้

ส.ส.กับพรรคการเมืองในสถานการณ์ขณะนี้ควรวางบทบาทอย่างไร

อุตตม – ผมมอง 2 ส่วน เฉพาะหน้า ส.ส.ควรมีส่วนสนับสนุนการเยียวยาให้ลงไปถึงประชาชนในพื้นที่ และอีกบทบาทคือ การมองไปข้างหน้าว่า ส.ส. พรรค โดยเฉพาะ พปชร. จะมีบทบาทอย่างไรที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่การฟื้นฟู ถือเป็นโอกาสดีที่ ส.ส. จะได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและปฏิรูปประเทศในสถานการณ์โควิด เช่น การไปขับเคลื่อนเรื่องการนำเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน ไปพูดคุยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยรับฟังประชาชนในพื้นที่และทำแผนการฟื้นฟูขึ้นมา เพื่อให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูกระจายไปให้ประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นการช่วยอย่างมียุทธศาสตร์ จะช่วยให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง การเกษตรไปสู่สมัยใหม่ เกษตรอุตสาหกรรม ก้าวไปสู่วิสาหกิจชุมชนที่สร้างมูลค่าได้มากๆ ในยุคนิวนอร์มอล

สุดท้ายต้องตอบโจทย์สร้างคน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ได้ หน้าที่ของรัฐบาลและ ส.ส.ต้องไปทำงานในส่วนนี้ ส.ส.พรรค พปชร.ต้องแสดงบทบาท ไปเชื่อมโยงรับฟังประชาชนในพื้นที่แล้วสะท้อนมายังพรรค พปชร.ที่กำกับดูแลกระทรวงต่างๆ ในการขับเคลื่อนงาน

อยากให้ ส.ส.กว่าหนึ่งร้อยคนของพรรค พปชร. มาปรับบทบาทร่วมกันฟื้นฟูประเทศไทยในยุคนิวนอร์มอล โดยการสนับสนุนของรัฐบาล อย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ก็ปรับบทบาทจากธนาคาร เป็นสถาบันการเงินที่มีบทบาทในการให้สินเชื่อในการขับเคลื่อนฟื้นฟูประเทศ

ส่วนพรรค พปชร.จะเป็นส่วนประสานการขับเคลื่อนงานด้านการฟื้นฟูประเทศของ ส.ส.กับฝ่ายบริหารในรัฐบาล การให้บทบาทของ ส.ส.ร่วมกันฟื้นฟูประเทศไม่ได้จำกัดเฉพาะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จะเปิดโอกาสให้ ส.ส.ฝ่ายค้านเข้ามามีบทบาทในการร่วมกันฟื้นฟูประเทศครั้งนี้ด้วย ซึ่งจะเป็นผลงานของ ส.ส.ในการแสดงบทบาทครั้งนี้

จะมีช่องทางหรือวิธีให้ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีส่วนร่วมฟื้นฟูประเทศอย่างไร นอกจากอภิปรายในสภาหรือในคณะกรรมาธิการ (กมธ.)

สนธิรัตน์ – มีช่องทางให้ ส.ส.ได้แสดงบทบาทแน่นอน เพราะ ส.ส.แต่ละคนมีบทบาทที่เชื่อมโยงกับประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว การฟื้นฟูจะต้องเริ่มจากข้างล่างขึ้นมา ไม่ใช่ท็อปดาวน์ การฟื้นฟูต้องตรงกับความต้องการของประชาชนและเกิดประสิทธิภาพ ต้องมีแผนงานขึ้นมาผ่านคณะกรรมการของแต่ละจังหวัด

บทบาท ส.ส.จะทำหน้าที่เชื่อมโยงความต้องการของคนในพื้นที่มายังกลไกของสภา และฝ่ายบริหาร ตรงนี้เป็นบทบาทที่สำคัญของ ส.ส. หลังโควิดรูปแบบวิถีชีวิตของประชาชนและสังคมไทยจะเปลี่ยนไปเป็นวิถีใหม่

เวลานี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ควรก้าวข้ามการเมืองระหว่างพรรค การเมืองในพรรค เสร็จศึกครั้งนี้ค่อยมาว่าเรื่องการเมืองกันใหม่ ในมิติของผมต้องไม่แยกฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่มองแค่เป้าหมายการเมือง แต่ควรจะประคับประคองประเทศให้เดินไปข้างหน้าให้ได้ ต้องมองคนทั้งประเทศเป็นสำคัญ

สุวิทย์ – ไม่ว่าวิกฤตจะเกิดกับประเทศมากขนาดไหน แต่วันนี้ผมเห็นความหวังเล็กๆ หลายคนเริ่มพูดคุยเรื่องประเทศไทยมีศักยภาพด้านการลงทุนด้านสุขภาพ มีความเข้มแข็งในระบบสาธารณสุข การท่องเที่ยวจะเน้นเรื่องสุขภาพความปลอดภัยมากขึ้น แต่ต้องประคับประคองกันไป การฟื้นฟูในแต่ละพื้นที่ต้องฟังเสียงประชาชน บทบาทของ ส.ส.จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นการเชื่อมโยงความต้องการของประชาชนในพื้นที่

งานนี้ถ้ามองดีๆ จะเกิดความสมานฉันท์ครั้งใหญ่ถ้าเม็ดเงินลงไปอย่างมีประสิทธิภาพ ฟังเสียงของประชาชนก็จะส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งขึ้นมาได้

วิกฤตครั้งนี้จะสะท้อนว่ารัฐบาลกลางจะต้องทำอะไร โดยการฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ที่จะร่วมกันฟื้นฟูประเทศ เคยบอกนายกฯว่า ต้องใช้วิกฤตเป็นโอกาส รีแบรนดิ้งไทยแลนด์ใหม่ หลังโควิดจะต้องใช้การบ้านนำการเมือง ต้องใช้การเมืองของทั้งรัฐสภามาสนับสนุน ไม่ใช่พรรค พปชร.อย่างเดียว

หากทำได้ ก็จะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ของประเทศไทย

รัฐบาลและพรรค พปชร.จะให้ความมั่นใจนำข้อเสนอของ ส.ส.ไปใช้ประโยชน์อย่างไร

สุวิทย์ – นายกฯพูดอยู่เสมอว่า ให้ฟังเสียงฝ่ายค้านมากๆ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าจะมาสะดุดขากันเองที่พรรค พปชร.
อุตตม – ผมไม่อยากเห็นพรรค พปชร.ก้าวไปแบบย้อนแย้งกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นของประเทศ คือการก้าวไปแล้วทำให้ประเทศเสียโอกาส หวังว่าเราจะหาทางออกได้

สนธิรัตน์ – กลไกที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คือการขับเคลื่อนงบฟื้นฟูประเทศ 4 แสนล้านบาท หากแต่ละพื้นที่ทำแผนฟื้นฟูขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพก็จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้

หาก ส.ส.ในพรรคเสนอว่าถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนคนทำงาน

อุตตม – ตรงนี้เป็นบทบาทของนายกฯ ในฐานะเป็นผู้นำมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะคัดเลือกบุคคลใดให้เข้ามาทำงาน ในส่วนของพรรค พปชร.ก็มีกลไกและระบบที่จะคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมได้เข้ามาทำงาน โดยเอาประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้ ตามกรอบ ตามระบบ โดยเอาประเทศเป็นตัวตั้ง พรรคมาพูดคุยหารือกันได้ว่าใครจะเหมาะสมทำงานในส่วนใด ระบบเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ ถ้าจะเป็นพรรคที่มั่นคงก็มาคุยกันตามระบบ ไม่ใช่จะใช้ประชาธิปไตยเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ้าคุยกันให้จบ ถ้ามาตามระบบก็คงไม่มีใครคัดค้าน ทุกคนรับได้หมด แต่ถ้ามาอย่างเซอร์ไพรส์ ทุกคนในพรรคอาจมีการตั้งคำถามได้ ถ้าพวกผมทำงานไม่ดีอย่างไรก็มาพูดคุยกันด้วยเหตุผล พวกผมก็พร้อมรับฟัง นายกฯก็จะตัดสินใจได้ว่าจะเลือกให้ใครมาทำงาน

สุวิทย์ – ผมมองว่าถ้าเล่นกันตามระบบ พวกผมก็รับได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ภาพที่เกิดขึ้นดูเหมือนกลายเป็นการเมืองแบบเก่า ถ้าพูดคุยกันตรงไปตรงมา ตามระบบ ผมก็รับได้ ไม่เช่นนั้น 4 กุมาร คงไม่มีใครมาทำงานการเมืองในเวลานี้ เพราะไม่เคยคิดจะทำงานการเมืองมาตั้งแต่แรก แต่เมื่อมาทำงานการเมืองในช่วงการเมืองเปลี่ยนผ่านแล้ว ก็อยากเห็นการเมืองแบบใหม่

ยอมรับว่าเป็นธรรมชาติของการปะทะกันระหว่างการเมืองแบบเก่ากับแบบใหม่ จึงต้องอดทน เอาความถูกต้องเป็นหลัก ถ้านายกฯบอกว่าช่วงเวลานี้จะต้องปรับเปลี่ยนคนทำงานที่มีความเหมาะสมกว่าพวกผม ก็ยินดี แต่ขอให้เป็นไปตามระบบ

ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. อยากสื่อสารอะไรถึง ส.ส.ของพรรคในเวลานี้

อุตตม – วันนี้พรรค พปชร. ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานในบทบาทของ ส.ส. และรัฐมนตรี ในการสนับสนุนนายกฯ ทำงานให้ก้าวข้ามวิกฤตโควิด โดยเฉพาะในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากโควิดที่ถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ผมอยากเห็นพรรค พปชร.เป็นหนึ่งเดียว ยึดเหตุผล ระบบที่มี ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้แต่ต้องเป็นระบบประชาธิปไตยในพรรคที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image