‘สามารถ’ แนะ ‘ปิยบุตร’ กลับไปเรียนใหม่ ศึกษาโครงสร้างการปกครอง จะได้รู้ ส.ว.ทำหน้าที่อะไร

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยกรณี นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แกนนำกลุ่มก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตั้งคำถาม ส.ว.มีไว้ทำไมนั้น ตนขอแนะนำให้นายปิยบุตรไปศึกษาคณะรัฐศาสตร์เพื่อจะได้รู้จักโครงสร้างทางการปกครอง ไม่ใช่เรียนรู้แค่กฎหมายอย่างเดียว เพราะถ้าเป็นบุคคลที่มีความรู้รอบด้านคงไม่ทำในสิ่งที่กฎหมายห้ามและถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี

โดย ส.ว.มีหน้าที่ทางนิติบัญญัติในการออกกฎหมายและสรรหาองค์กรอิสระเพื่อถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร หรือหากนายปิยบุตรมีเวลาว่างให้เปิดโทรทัศน์ช่องรัฐสภาจะรู้ว่า ส.ว.มีหน้าที่อะไรบ้าง เฉพาะอย่างยิ่ง ส.ว.ยุคปัจจุบันหลายท่านตั้งใจทำงาน เช่น นายถวิล เปลี่ยนสี หรือนายวันชัย สอนศิริ และขณะนี้ ส.ว.ก็กำลังพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเสร็จแล้ว พร้อมได้รัฐมนตรีมาชี้แจงก็มีการสอบถาม พ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าวนำไปช่วยเหลือประชาชนอย่างไร จึงแสดงให้เห็นถึงอำนาจถ่วงดุลการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร

“นายปิยบุตรเป็นคนชอบนำเรื่องในอดีตมาพูด เช่น พรรคอนาคตใหม่เสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่แพ้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยคะแนน 500 ต่อ 244 และพาดพิง ส.ว. ขอชี้แจงว่าในอดีตเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 เคยมีการเลือกตั้งสรรหา ส.ว. 200 คนทั่วประเทศ กำหนดวาระ 6 ปี แต่การเลือกตั้งเกิดข้อครหาเพราะพบว่ามีการทุจริตซื้อเสียงจำนวนมากในตอนนั้น ทั้งการเลือกตั้ง ส.ว.และ ส.ส. จนยุคนั้นเรียกว่า สภาผัวสภาเมีย เช่น ผัวเป็น ส.ส. เมียเป็น ส.ว. เวลาอยู่กันที่บ้านก็ออกกฎหมายกันได้เลย ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ ทำให้ประชาชนวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าว จึงมีการแก้รัฐธรรมนูญในปี 2551 ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งครึ่งนึงและแต่งตั้งอีกครึ่งนึง” นายสามารถกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image