รายงานหน้า 2 : จัดแถวพปชร.-ปรับครม. คนละเรื่องเดียวกัน

รายงานหน้า 2 : จัดแถวพปชร.-ปรับครม. คนละเรื่องเดียวกัน

รายงานหน้า 2 : จัดแถวพปชร.-ปรับครม. คนละเรื่องเดียวกัน

หมายเหตุ มุมมองนักวิชาการต่อกรณีคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ 18 คนยื่นใบลาออกส่งผลให้หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ต้องพ้นจากตำแหน่งไปโดยปริยาย และต้องเลือกคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ภายใน 45 วัน และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะนำสู่การปรับครม.

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Advertisement

กรณีปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคณะกรรมการบริหารหารภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่อาจนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะการปรับทีมเศรษฐกิจนั้น โดยหลักการแล้วหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้เปลี่ยนจากเดิม เพราะว่าวันนี้ปัญหาด้านเศรษฐกิจมีความยืดเยื้อ เรื้อรังต่อเนื่องมายาวนาน ยังมีผลกระทบจากโควิด-19 ที่รอการฟื้นฟู ในสถานการณ์แบบนี้ถ้าถามว่าจะให้ใครมานั่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้ว่าจะให้โควต้ากับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคนนอก ก็เชื่อว่ามีน้อยมากที่จะเข้ามาทำงาน เพราะการแก้ปัญหาหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เป็นงานหนักและอาจจะทำให้เกิดวิกฤตหรือมีความเสี่ยงเพิ่ม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีผลกระทบไปทั่วโลก

ดังนั้นโอกาสที่จะเห็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทำหน้าที่เหมือนเดิมมีความเป็นไปได้สูงมาก แต่ในทีมอาจมีการปรับเปลี่ยน บางตำแหน่งของแกนนำเดิมในพรรคพลังประชารัฐ หรือมีการสลับเก้าอี้ รวมทั้งการนำคนใหม่เข้ามานั่ง แต่โครงสร้างหลักยังเหมือนเดิม ตราบใดที่ยังไม่นำผู้เชี่ยวชาญเข้ามา บรรดานักการเมืองใน พปชร.ก็คงไม่สามารถบริหารเศรษฐกิจได้ เพราะการทำงานต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ เป็นเทคนิคเฉพาะ ต้องอาศัยความสามารถของคนในระบบเทคโนแครตพอสมควร เพราะฉะนั้นคงเป็นงานที่หนักสำหรับนักการเมืองโดยทั่วไป

ถ้าทีมเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลง ความเคลื่อนไหว ความขัดแย้งภายในพรรค พปชร.ยังมีต่อไป ความเอกภาพคงเกิดขึ้นยาก เนื่องจากการตั้งพรรคไม่ได้เกิดจากการวมกลุ่มทางอุดมการณ์ แต่รวมก๊วนทางการเมืองเข้าด้วยกัน โครงการสร้างของพรรคจะต้องมีกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหว การต่อรองก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง เมื่อมีการปรับ ครม.การลงมติในวาระหรือกฎหมายที่มีความสำคัญ นอกจากนั้นพรรคขาดบุคลากรทางการเมือง ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายหรือยุทธศาสตร์พรรคที่ชัดเจน แม้ว่าจะมีการเชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามานั่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค แต่หลายเรื่องไม่สามารถควบคุมได้ให้สงบนิ่ง เพราะไม่สามารถอาศัยหลักการของโซ่ข้อกลาง หรือผู้มีบารมี ที่สำคัญในพรรคมี ส.ส.หน้าใหม่มากกว่าครึ่ง ทำให้การใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อจะทำให้การทำกิจกรรมราบรื่นจึงทำได้ยาก

Advertisement

สำหรับโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม จะปรับ ครม.เพื่อให้ภาพลักษณ์ของการบริหารเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจดูดีขึ้น แต่มีข้อกำจัดของบุคลากรทางการเมือง โดยเฉพาะในพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีใครที่จะเข้ามาเป็นมือเศรษฐกิจได้ นอกจากนายสมคิด ทำให้ตัวเลือกทางการเมืองมีปัญหา เชื่อว่าภาพของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมเวลานี้คงเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าดึงผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์เข้ามาได้ก็จะเป็นผลดีอย่างยิ่ง

อย่าลืมว่าทั่วโลกมีปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ต่างจากวิกฤตปี 2540 ที่เป็นปัญหาภายในประเทศ ในเอเชีย และการพึ่งพารายได้จากลงทุนของต่างประเทศ การท่องเที่ยว จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ควรปรับเปลี่ยนสถานะ หากไม่มีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง แม้ว่าจะเคยประกาศไว้ แต่ผู้ที่ทำงานตัวจริงคือนายสมคิด ดังนั้นนายกรัฐมนตรีควรไปสนใจภาพรวมในการบริหารประเทศน่าเป็นทางเลือกจะเหมาะสมกว่า

จรัส สุวรรณมาลา
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

กรณีความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทั้งเรื่องการปรับโครงสร้างบริหารพรรค ที่กำลังนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในอนาคต โดยเฉพาะการปรับทีมเศรษฐกิจ นั้น นับว่ามีนัยสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ขณะที่หลายฝ่ายต้องการเห็นภาพของทีมเศรษฐกิจที่มีฝีมือ ทำหน้าที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจโลก ยอมรับว่าปัญหาในปัจจุบันหนักกว่าภาวะวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2541 และรัฐบาลในขณะนั้นตัดสินใจนำคนนอกเข้ามาบริหารได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากได้นำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาบริหาร ดังนั้นคนที่จะเข้ามาแก้ปัญหาไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง หรือ ในพรรคการเมือง

หลังจากนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาจะหนักมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั่วโลกจะถดถอยหรือชะงักนานกว่า 2- 3 ปี ขณะที่ไทยพึ่งพาการส่งออกมากกว่า 60 % ดังนั้นการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งออกคงใช้เป็นจุดขายไม่ได้ และการทำให้คนมีรายได้เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อก็ทำได้ในระยะสั้นเท่านั้นดังนั้นผู้ที่จะเข้าไปบริหาร จะต้องปรับโครงสร้างให้มีการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศให้มากขึ้นเกินเท่าตัวในระยะสั้น เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวก็ต้องให้คนในประเทศเที่ยวกันเอง ธุรกิจส่งออกบางอย่างก็ต้องพึ่งกำลังซื้อของคนในประเทศให้มากขึ้น ต้องพึ่งธุรกิจภาคบริการ และการลงทุนในประเทศ ดังนั้นถ้าหากนึกถึงบุคคลที่มีฝีมือในเรื่องนี้ต้องคิดถึงชื่อของนายศุภชัย พานิชภักดิ์

แต่ถ้าถามว่าคนในรัฐบาลขณะนี้ทำได้ดีหรือไม่ ยอมรับว่าไม่มั่นใจ และในอนาคตควรจะต้องมีการผสมกันระหว่างคนในและคนนอกที่มีความสามารถจริงๆ เพราะหลังสถานการณ์โควิด รัฐบาลแทบไม่มีโอกาสคิดถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เปรียบเหมือนไฟกำลังไหม้บ้านก็ต้องดับไฟก่อน ยังไม่ต้องคิดถึงการซ่อมบ้าน และหลังจากนี้นอกจากคิดจะซ่อมยังไม่พอ แต่จะต้องคิดถึงโครงสร้างของบ้านแบบใหม่ที่จะต้องยึดหลักพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น ซึ่งไม่แน่ใจว่าบุคคลในรัฐบาลจะมีแนวคิดแบบนี้

ที่สำคัญควรคิดถึงแนวทางของรูปแบบการบริหารเศรษฐกิจแบบการกระจายอำนาจ ในแต่ละจังหวัดต้องมีศักยภาพของตัวเอง อย่างน้อยทุกจังหวัดมีต้องสำรวจว่าจุดเด่นจากฐานการผลิตอะไรบ้างแล้ววางแผนให้การผลิตพึ่งตลาดในประเทศให้มากขึ้น ขณะที่การค้าระหว่างประเทศจะต้องมีข้อตกระหว่างประเทศที่มีความชัดเจนมากกว่าระบบการค้าเสรีแบบเดิม ดังนั้นรัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดรู้จักบริการจัดการตนเองในการหาตลาดเพื่อส่งออกผ่านบริษัทเอกชน

ผู้บริหารในแนวนี้ คงจะไม่ใช่ผู้บริหารเศรษฐกิจในระดับมหภาคดี บริหารการเงินเก่ง หรือใช้นโยบายการคลังแบบปูพรมทั้งประเทศ แต่การบริหารในอนาคตในระยะ 1-2 ปี ข้างหน้าจะต้องพึ่งพาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเศรษฐกิจระบบฐานรากมากขึ้น มองเศรษฐกิจในรายพื้นที่ และระดับจุลภาค รายจังหวัดได้ ผมถามว่าปัจจุบันรัฐบาลมีบุคคลแบบนี้หรือไม่ สนใจรูปแบบแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจริงหรือไม่ ถ้าไม่มีจะสรรหาตัวบุคคลเข้ามาทำงานได้หรือไม่ เพราะต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานแบบนี้ได้ ในธนาคารแห่งประเทศหรือ ในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็พอมีอยู่บ้าง

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

สถานการณ์ในครั้งนี้เป็นใจให้คุณอุตตม สาวนายน และคุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พ้นตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปด้วย เท่ากับเป็นการยืดระยะเวลาที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่อยากปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อจากนี้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะต้องใช้เวลา 45 วันในการหากรรมการพรรคชุดใหม่ ซึ่งตามระบบธรรมเนียมต้องมาพูดคุยกันว่าเลขาฯพรรคคนใหม่จะต้องมีกระทรวงในความรับผิดชอบที่เหมาะสมกับหน้าตาพรรคอันดับ 1 ของรัฐบาล แน่นอนว่าคงไม่ใช่คุณสนธิรัตน์กลับมาอีกครั้ง

สถานการณ์นี้เป็นใจให้คุณประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นไพ่ใบเดียวที่อดีตกรรมการบริหารพรรคทั้ง 18 คนลาออกเพื่อเปิดทางให้คุณประวิตรเข้ามา ทั้งนี้ เมื่อคุณประวิตรขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแล้วก็ต้องแก้เกมยุทธศาสตร์ในเชิงรุกทางการเมืองของ พปชร.เอง เพื่อสร้างเอกภาพในพรรคให้เป็นระบบ รวมทั้งเพื่อต้องการให้เป็นผู้รับอาสาเจรจาให้คนในพรรคต่อคุณประยุทธ์ เพราะคุณประยุทธ์มีระยะห่างทางการเมือง ถูกวางให้เป็นบุคคลที่ไม่ให้เข้ามาแปดเปื้อนกับกิจกรรมทางเมืองใดๆ ดังนั้น คนที่แบกภาระหรือนำการเจรจาต่อรองต่างๆ จึงตกมาที่คุณประวิตรทั้งหมด

สิ่งที่สำคัญคือนักการเมืองต่างๆ คงรู้แล้วว่าอายุของรัฐบาลนี้ อีกทั้งกลไกอำนาจของวุฒิสมาชิกที่ยังมีโอกาสเลือกนายกฯได้อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ยกมือให้คุณประยุทธ์อยู่แล้ว ดังนั้น นักการเมืองในพรรค พปชร.รู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางอื่นๆ โดยจำเป็น จำยอม จำใจ ที่ต้องสนับสนุนแนวทางนี้

อย่างที่กล่าวว่าสถานการณ์ในครั้งนี้เป็นใจ เนื่องจากฝ่ายค้านอ่อนแอลง ลดกำลังการตรวจสอบเยอะ ประกอบกับเสียงสนับสนุนจากผู้ที่แปรพักตร์เข้ามาอยู่พรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคพลังท้องถิ่นไท จนมี 270 เสียง ทำให้พรรค พปชร.มั่นใจว่าไม่ต้องพะวงเรื่องการเมืองในสภาแล้ว จึงนำไปสู่การปรับเปลี่ยน ครม. เพราะขณะนี้รัฐบาลประยุทธ์อยู่มากว่า 1 ปีแล้ว

ขณะเดียวกันพรรคพลังประชารัฐก็ไม่อยากเสียเก้าอี้ตรงนี้ ทำให้ต้องไปมองคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ในพรรค ดังนั้น การบีบบังคับ กดดันต่างๆ ก็เพื่อดึงเก้าอี้ในสัดส่วนของ 4 ยอดกุมารกลับมาสู่กลุ่มก๊วนอื่นๆ ในพรรค พปชร. เพื่อไม่ต้องลดโควต้าหรือแจกเก้าอี้ที่ตัวเองต้องเสียโอกาสในการเป็นรัฐมนตรีมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ส่วนตัวมองว่า ทีมวางแผนของพรรคพลังประชารัฐมองว่าการเลือกคุณประวิตรเข้ามาเพื่อเป็นการต่อลมหายใจ อีกทั้งขณะนี้ภายในพรรคต้องการความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ เพราะจะต้องเจอศึกหนักด้านการฟื้นฟูต่างๆ หลังจากนี้อาจต้องมีการพูดคุยเรื่องดึงเก้าอี้โควต้าบางกระทรวงกลับมาสู่ พปชร. เพราะพลังประชารัฐต้องปรับรื้อเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองทำงานอย่างเป็นเอกภาพมากขึ้น

โจทย์นอกสภาหลังจากนี้ คิดว่าการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เต็มที่ที่สุดคงไม่เกินเดือนมิถุนายนนี้ และไม่ควรขยายต่อ เพราะไม่สามารถแบกรับแรงกดดันต่างๆ ได้ ซึ่งโจทย์ของเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมอาจเป็นเรื่องกระบวนการนักศึกษาที่รอชุมนุม หรือทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล ดังนั้น พรรค พปชร.จำเป็นต้องสร้างความสามัคคีภายในพรรคถึงจะเพิ่มความเชื่อมั่นว่าการเมืองหลังจากนี้ คุณประยุทธ์จะอยู่ยาวจนครบเทอมในปี 2566 ได้

ผศ.ดร.พิชิต รัชตพิบุลภพ
ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์

เรือนาวาเหล็กที่แข็งแกร่งดั่งภูผา อันแต่ก่อนเราเชื่อว่าจะลอยล่องอยู่กลางนาคาไปตลอดระยะเวลา 4 ปีเต็ม แต่ ณ เวลานี้กลับโยกคลอนสั่นโอนเอียงซึ่งหาได้เกิดจากลมแผ่วเบามาปะทะ หรือแรงประท้วงอื่นใดจากภายนอกก็หาได้ไม่ หากแต่เกิดจากความหอมหวนของตำแหน่งผู้นำนาวากับตำแหน่งเสนาบดีเจ้ากระทรวง รู้ดีว่าโอกาสกับบุญวาสนาจะไม่ได้ล่องลอยมาหากันได้บ่อยๆ หากมัวแต่เขินอายไม่รีบคว้าไว้สงสัยกว่าจะได้เป็นคงต้องนั่งรอกันอีกนานแสนนาน

เหตุการณ์ข้างต้นคล้ายคลึงกับสถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่าการลาออกของกรรมการบริหารพรรค
พปชร.น่าจะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวบทใหม่ทางการเมืองที่จะสะท้อนถึงดุลอำนาจใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามากุมอำนาจทางการเมืองและรัฐนาวาของประเทศนี้ เพราะอีกเพียงแค่ 45 วันนับจากนี้เท่านั้นที่พรรคพลังประชารัฐจะได้กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

ชุดที่ตำแหน่งหัวหน้าพรรค ตำแหน่งเลขาธิการพรรค และตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคจะเป็นเครื่องบ่งชี้ที่สำคัญถึงความลงตัวในการเจรจาต่อรองของพลังกลุ่มการเมืองต่างๆ ว่ากลุ่มการเมืองใดจะขึ้นมามีบทบาทนำภายในพรรคพลังประชารัฐ และกลุ่มดังกล่าวมีการประสานร่วมมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มใดบ้าง

ประเด็นที่น่าสนใจและน่าติดตามถัดมาก็คือว่า ทำไมถึงต้องมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งกันในช่วงนี้ เหตุผลต่อประเด็นดังกล่าวสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล 2 ประการกล่าวคือ เหตุผลที่ 1 ต้องมีผู้รับผิดชอบต่อผลงานการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลว และดุลอำนาจใหม่ภายในพรรคเชื่อมั่นไปแล้วว่าดรีมทีมเศรษฐกิจชุดใหม่มีดีพอที่จะเข้ามารับไม้ดูแลเศรษฐกิจต่อไปได้

เหตุผลที่ 2 คือการคาดคะเนว่าอายุของรัฐบาลชุดนี้น่าจะไม่ยาวนานอย่างที่คิด หากสามารถต่อรอง กดดันให้ได้นั่งตำแหน่งเสนาบดีเจ้ากระทรวงได้ไวกว่าที่ตั้งใจไว้ก็ควรที่จะรีบดำเนินการ

แต่บทสรุปที่น่าตื่นเต้นของฉากการเมืองเรื่องนี้ที่ประชาชนชาวไทยต้องจับตามองมี 2 เรื่องเช่นเดียวกันคือ เรื่องที่ 1 ความสัมพันธ์ของพี่น้องต่างสายเลือดจะเป็นเช่นไร เมื่อมีตำแหน่งบนตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาลเป็นเป้าหมาย การหาทางลงอย่างสง่างามให้กับน้องรักเป็นประเด็นที่พี่เลิฟต้องไตร่ตรองให้รอบคอบเนื่องด้วยอุปถัมภ์ค้ำชูกันมานาน

ส่วนเรื่องที่ 2 คือ การกล้าท้าประลองกำลังกับพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ของอีกฝ่ายนั้น มีใครอยู่ให้กำลังใจเบื้องหลังหรือไม่และเมื่อศึกยกแรกพลาดพลั้งไปแล้ว เกมกลยุทธ์ทางการเมืองต่อไปจะเป็นเช่นไร เป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปพลาดไม่ได้จริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image