‘สมชาย’ แจง ‘สุชาติ’ นั่งปปช.ได้ ชี้กก.สรรหา ‘พล.อ.นิพัทธ์’ เป็นคนละชุด ตีความคนละแบบ

สมชาย แสวงการ-สุชาติ ตระกูลเกษมสุข-พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก

‘สมชาย’ แจง ‘สุชาติ’ นั่งปปช.ได้ ชี้กก.สรรหา ‘พล.อ.นิพัทธ์’ เป็นคนละชุด ตีความคนละแบบ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ลงมติเลือกนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลมีนบุรี และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งมาเกือบ 1 ปี เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เพราะยังพ้นจากสนช.มาไม่เกิน 10 ปี ถูกนำไปเทียบกับกรณีของการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ก่อนหน้านี้ได้ตัดสิทธิ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตสนช. กับ น.ส.จินตนันท์ ริญาต์ร ศุภมิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เป็นผู้สมัครเข้ารับการสรรหากสม. ทั้ง ๆ ที่เป็นสนช.ชุดเดียวกับ นายสุชาติ ให้เหตุผลว่า ยังพ้นตำแหน่งสนช.มาไม่ถึง 10 ปี

จนเกิดเสียงวิพากษวิจารณ์ว่า การพิจารณาในขั้นตอนของคณะกรรมการสรรหา และขั้นตอนวุฒิสภาแตกต่างกันจากการตีความรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็น 2 มาตรฐาน

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกส.ว. ยืนยันว่า สนช.ไม่ใช่ ส.ส.และ ส.ว. แต่สนช.ทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาระหว่างช่วงปฏิวัติ อีกทั้งสนช.มีองค์ประกอบไม่เหมือนส.ส.และส.ว. เพราะอนุโลมให้ข้าราชการ ผบ.เหล่าทัพ ผู้พิพากษา มาเป็นสนช.ได้ ส่วนข้าราชการถือเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของส.ส.และส.ว. อีกทั้งสนช.ก็ไม่ได้เป็นข้าราชการการเมืองด้วย แต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาทำหน้าที่แทน ส.ส. และส.ว. เท่านั้น

ส่วนกรณีคณะกรรมการสรรหากสม.ตีความว่า พล.อ.นิพัทธ์ กับ น.ส.จินตนันท์ มีลักษณะต้องห้าม เพราะเคยเป็น สนช.จากการแต่งตั้งของคสช. และพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี และแตกต่างจากคณะกรรมการสรรหาป.ป.ช. เพราะมีประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และตัวแทนจากองค์กรอิสระ ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย ตีความจึงเห็นว่า สนช.ไม่เป็น ส.ส. และส.ว.

Advertisement

ขณะที่คณะกรรมการสรรหากสม. ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธาน ในวันนั้นนายชวนไม่ได้อยู่ในที่ประชุมในการพิจารณากรณี พล.อ.นิพัทธ์ และน.ส.จินตนันท์ ไม่ผ่านคุณสมบัติ จึงเหลือกรรมการสรรหา 8 คน โดยผู้นำฝ่ายค้านไม่ลงคะแนน ส่วนที่เหลือเป็นนักกฎหมาย 2 คน ลงคะแนนว่า สนช.ไม่เป็นส.ส.และส.ว. ที่เหลืออีก 5 คน ไม่ใช่นักกฎหมาย ก็ลงมติว่าสนช.ถือเป็นส.ส.และส.ว.

“ผมจึงเห็นว่าเป็นการตีความผิด ต่อไปหากมีการสรรหาองค์กรอิสระอื่น ๆ ต่อไป นักกฎหมายต่าง ๆ ที่อยู่ในกรรมการสรรหาก็จะตีความว่า สนช.ไม่เป็น ส.ส.และส.ว. ที่ผ่านมา ทั้งป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่เคยวินิจฉัยว่า สนช.ถือว่าเป็นส.ส.และส.ว.ด้วย แต่ทั้งนั้นไม่ปิดกั้นให้ผู้เสียประโยชน์หรือคนที่ยังสงสัยยื่นศาลรัฐธรรนูญวินิจฉัยให้สิ้นกระแสความได้ ที่ผ่านมา สนช.ถือเป็นองค์กรพิเศษที่เกิดทำหน้าที่แทน ส.ส. และส.ว. และ หากมีการไปร้องศาลรัฐธรรมนูญแล้วสรุปผลออกมาว่า สนช.เป็นส.ส.และส.ว.ก็ทำให้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และ ส.ว.จำนวน 80 คน รวมทั้งผมที่มาจากสนช.ขาดคุณสมบัติทันที แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่า ไม่มีทางเป็นไปได้” นายสมชาย กล่าว

ด้านนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2557 มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติให้สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 263 เป็นบทเฉพาะกาล บัญญัติว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ สนช.ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้ สนช.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำหน้าที่เป็น ส.ส.หรือส.ว.ตามลำดับ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และให้ สนช. และสมาชิก สนช.สิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 แม้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับดังกล่าวจะบัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่ รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และรัฐธรรมนูญ 2560 จะให้บัญญัติให้สมาชิก สนช. ทำหน้าที่เป็นส.ส.หรือส.ว. ย่อมเป็นการรับรองสถานะของ สนช. และสมาชิก สนช. อยู่ในตัว ดังนั้น อดีต สมาชิก สนช. จึงมีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการ ป.ป.ช.

Advertisement

“ที่มีข่าวว่า คณะกรรมการสรรหากรรมการ กสม. มีมติว่าอดีตสมาชิก สนช. มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับการสรรหาเป็น กสม. เพราะยังพ้นหน้าที่สมาชิก สนช.ไม่เกิน 10 ปี ด้วยเหตุผลใดและด้วยคะแนนเสียงเท่าใด ผมไม่ทราบ แต่ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาวินิจฉัย แม้กฎหมายจะบัญญัติต่อไปว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด ปัญหานี้พึงได้รับการตรวจสอบจากองค์กรตุลาการที่มีอำนาจ” ประธาน กสม. กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image