“ชลน่าน”เปิดฉากซัดรบ.โอนงบ 8.8 หมื่นล้าน ผิดหลักการ ปลุกสภาไม่รับ อย่ายอมถูกมัดมือชก

“ชลน่าน” เปิดฉากซัดรบ.โอนงบ 8.8 หมื่นล้าน ผิดหลักการ ปลุกสภาไม่รับ อย่าปล่อยให้มีรอยด่าง อย่ายอมถูกมัดมือชก ด้าน “หมอตี๋”โต้ ไม่ได้เอา รพ.สต.มาอ้างขอกู้เงิน

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. … วาระแรก ตามที่ครม.เป็นผู้เสนอ วงเงิน 88,452,579,900 บาท เพื่อโอนงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณต่างๆได้รับตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2563 ไปตั้งเป็นงบกลาง

ต่อมา เมื่อเข้าสู่การอภิปราย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เริ่มอภิปรายว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณฉบับนี้ ถือเป็นครั้งแรกของสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะตลอดการโอนการงบประมาณที่้ผ่านมาตามประวัติศาสตร์ มีการพิจารณามาแล้ว 5 ครั้ง ซึ่งเป็นการพิจารณาโดยสภาฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งนี้ ตนไม่สามารถรับหลักการของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประแรกแรก กฏหมายฉบับนี้ถือว่า ขัดหลักประชาธิปไตยและกฎหมายอื่น ซึ่งตามหลักการการนำงบประมาณไปใช้ต้องคำนึงถึงความยินยอมของประชาชน โดยสภาต้องตรวจสอบได้ ซึ่งตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 กำหนดห้ามไม่ให้มีการโอนงบประมาณข้ามหน่วยงาน แม้กฎหมายจะอนุโลมให้โอนงบประมาณ แต่การโอนงบประมาณนั้น ต้องเป็นโอนกันระหว่างหน่วยรับงบประมาณด้วยเท่านั้น ซึ่งการโอนงบประมาณเข้างบกลางนั้น จะมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมายทันที เพราะ งบกลางไม่ได้มีสถานะเป็นหน่วยรับงบประมาณ แต่เป็นเพียงรายการการใช้เงินเท่านั้น ที่สำคัญงบกลางในส่วนนี้มีนายกฯเท่านั้น ที่เป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ประการที่สอง รายการของการโอนงบประมาณตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องเรียกว่า จอมโอนแห่งยุค เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ทำการโอนงบประมาณมาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่คสช. มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ประกอบกับ เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ออกประกาศ เพื่อกำหนดสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2% แต่ไม่เกิน 7.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นการแก้ไขระเบียบมารองรับเพื่อให้งบกลางอยู่ในอำนาจของนายกฯแต่เพียงผู้เดียวมากขึ้น ซึ่งการทำร่างกฎหมายเช่นนี้เหมือนกับเป็นการหมัดมือสภา และตีเช็คเปล่า หากสภาฯอนุมัติให้ผ่านไป เราจะเป็นสภาฯจากการเลือกตั้งชุดแรกที่มีรอยด่างว่า ถูกหมัดมือชก และเห็นชอบกฎหมายโอนงบประมาณที่ไม่ควรเห็นชอบ เพราะไม่มีรายละเอียด ดังนั้น เพื่อศักดิ์ศรีของสภาฯเราโปรดอย่าได้รับหลักการ แต่หากจะรับหลักการก็ต้องรับหลักการแบบมีเงื่อนไข โดยหากการพิจารณาวาระสองและสาม ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้งบประมาณอีก ฝ่ายค้านในฐานะเสียงข้างน้อย จะโหวตคว่ำเพื่อบันทึกเอาไว้

Advertisement

จากนั้นนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ในพ.ร.ก.เงินกู้นั้น กระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีการปรับลดงบประมาณ เพียงแต่เรามีการประชุมเพื่อพิจารณากรอบในการจัดสรรงบประมาณตามกรอบ พ.ร.ก.เงินกู้ โดยแบ่งเป็น 5 กรอบใหญ่ๆ คือ 1.การเพิ่มค่าตอบแทนให้ อสม. วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท 2.ค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโควิด-19 ฟรี วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท 3.ค่าใช้จ่ายสำรองกรณีเกิดเหตุระบาดในช่วง 16 เดือน อาทิ การจัดหาวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ และเบี้ยเลี้ยง ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท 4.ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาลทุกระดับ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่ง รพ.สต.ก็อยู่ในกรอบนี้ด้วย และ5.ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาความสามารถทางการแพทย์ ระบบสาธารณสุข หน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 5 พันล้านบาท

ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวแย้งว่าวันที่ 29 พฤษภาคม ท่านบอกว่าให้โรงพยาบาลจัดทำแผนงบประมาณเข้ามา 2.1 หมื่นล้านบาท แต่เม็ดเงินที่ขอเข้ามาที่สำนักงานปลัดฯ เฉพาะระดับ 2 และระดับ 3 วงเงินที่ให้ไป 1.4 หมื่นล้านบาท ท่านไปแจ้งเขาว่าจะได้รับการจัดสรรแค่ 2.5 พันล้านบาท ท่านอ้างเขาว่าจะเอางบประมาณไปให้เขา อ้างเพื่อไปกู้เงิน แต่เวลาจัดสรรงบกลับไม่ให้ มันก็เหมือนหลอกเขา อย่าหลอกเขา

ทำให้นายสาธิต ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ไม่ได้หลอกใครหรือเอาใครมาอ้าง ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุข จัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ให้กับทุกภาคส่วน ด้วยหลักการว่า เงินกู้ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้คุ้มค่ากับภาระที่เราต้องรับในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image