‘พิจารณ์’ อัดยับ 4 ข้อ รบ.จงใจโอนงบ’63 ช้าทำต้องกู้1ล้านๆ เนียนขยายเพดานงบกลาง

ส.ส.พิจารณ์ อัดรบ.ยับ 4 ข้อ จงใจโอนงบ’63 ช้าทำต้องกู้เงินถึง 1 ล้านๆ เนียนขยายเพดานงบกลาง ปิดช่องสภาตรวจสอบ ซัด “บิ๊กตู่” รู้เห็น กองทัพ แหกตาประชาชน

เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 4 มิถุนายน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. … วาระแรก ตามที่ครม.เป็นผู้เสนอ วงเงิน 88,452,579,900 บาท เพื่อโอนงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณต่างๆได้รับตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2563 ไปตั้งเป็นงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น นำไปใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาร่วมชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นของงบประมาณดังกล่าวด้วยตัวเอง

ด้าน นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การโอนงบประมาณปี 2563 ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการแก้ไขวิกฤตนี้ ต่อจากภาพใหญ่ใน 3 พ.ร.ก.เงินกู้ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท และร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่กำลังจะเข้าสภาเร็วๆนี้ โดยรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบเหล่านี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป หากยังผลาญงบไปกับโครงการเดิมๆ เงินที่กู้มาอาจจะไม่ตอบโจทย์ เปรียบเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน แต่บริหารใช้จ่ายไม่มีประสิทธิภาพ ไม่วางแผนการใช้จ่าย จนเกิดปัญหา กระทั่งต้องโอนงบไปเพิ่มเติม ในงบกลางที่เดิมมีอยู่ถึง 9.6 หมื่นล้านบาท โดยตนขอตั้งข้อสังเกตุในร่างพ.ร.บ.นี้ 4 ข้อ 1.โอนล่าช้า ไม่ใยดีต่อความเดือนร้อนของประชาชน เพราะที่ผ่านมาพรรคก้าวไกล เสนอขอเกลี่ยงบในส่วนนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่รัฐบาลไม่นำพาปฏิบัติ ถ้าเกลี่ยงบตั้งแต่ตอนนั้นเราอาจจะไม่ต้องกู้เงินถึง 1 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ตนไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะประเมินสถานการณ์โควิดผิดพลาด แต่จงใจให้หลายหน่วยงานผลาญงบ เพราะงบเหล่านี้มีเจ้าของ มีค่าเงินทอนของแต่ละส่วนจองกันไว้แล้ว อีกทั้งขณะที่เกิดโควิดในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ประเทศประชาธิปไตยในโลกต่างเปิดประชุมสภาฯเพื่อแก้ปัญหาโควิด แต่พล.อ.ประยุทธ์ กลับหนีสภา ไม่ยอมให้มีการประชุมสมัยวิสามัญ

นายพิจารณ์ กล่าวว่า 2.โอนน้อย ทั้งที่ยอดตัดโอนขอหน่วยงานต่างๆจาก 3 แผนงานรวม 5.3 หมื่นล้านบาทนั้น สามารถตัดได้ 8.4 หมื่นล้าน แต่โอนได้เพียง 6.3% เท่านั้น ที่แย่กว่านั้น มติครม.เมื่อ 7 เมษายนที่ผ่านมาให้โอนงบ แต่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่า จะต้องโอนคืนกลับมากี่เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ แต่ระบุเพียงกว้างๆว่า ให้ปรับลดโดยไม่เสียหายแก่ราชการ จึงมีตัวอย่างโครงการที่ควรยกเลิกแต่ไม่ยกเลิกฝืนทำต่อ เช่น โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงฝูงบินแอร์บัส สนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือ ซึ่งปัจจุบันการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ไม่มีความจำเป็นต้องทำแล้ว แต่โครงการแก้ไขข้อพิพาทในที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ มีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ กลับถูกตัดยับ แต่งบที่มีเอกชนรองรับไม่ตัดเลย 3.โอนทะลุกรอบ เม็ดเงินที่โอนในคราวนี้ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ จึงมีประกาศของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของภาครัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ได้มีการปรับเพดานในงบกลางเพิ่มเป็น 3.5% – 7.5% ของวงเงินงบประมาณ ทำให้มีปัญหาว่า รัฐบาลตั้งงบกลาง ซึ่งเป็นงบของนายกฯ สภาไม่สามารถตรวจสอบได้เลย ขณะที่สัดส่วนในการชำระหนี้ภาครัฐก็ถูกปรับลด จาก 2.5% เหลือ 1.5 % ทำให้ท่านสามารถชักดาปได้ต่อไป แม้ตนจะเข้าใจดีว่า ในสภานการณ์วิกฤตจำเป็นต้องยืดหยุ่น แต่ตนเป็นห่วงว่า ประกาศฉบับนี้จะไม่ใช่ประกาศชั่วคราว เพราะไม่มีกำหนดวันเวลาว่า จะสิ้นสุดเมื่อใด

นายพิจารณ์ กล่าวต่อว่า และ 4.โอนไม่จริง จากเดิมงบประมาณในการทำโครงการผูกพันในปีที่ 1 กำหนดให้จ่าย 20% ของยอดค่าโครงการปีที่ 2 และ 3 ต้องจ่าย 40% เพื่อป้องกันการตั้งโครงการที่เป็นงบผูกพันจนกระทบต่องบประมาณของรัฐบาลในปีถัดๆไป แต่มติครม.ใหม่ของรัฐบาลนี้ ได้ปรับลดยอดของงบผูกพันในลักษณะดาวน้อยผ่อนนานและหนัก ส่งเสริมการเบียดบังงบในปีต่อๆไป เพราะปรับลดยอดจากงบ 20% ในปีแรกลง เหลือ 15% ส่วนปีที่ 2 และ 3 ปรับเพิ่มเป็น 42.5% ทั้งที่รู้ว่า วิกฤตโควิดยังอยู่อีกนาน การเก็บภาษีภาครัฐละลดลง จะเป็นการเพิ่มการกู้เงินมาใช่จ่าย เพื่อชดเชยการขาดดุล ที่แยกไปกว่านั้น การโอนงบของกระทรวงกลาโหมมีวงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท ตัวเลขเยอะ เหมือนยอมไม่ซื้ออาวุธ เพราะเห็นแก่ประชาชน ทั้งๆที่เป็นการเล่นแร่แปรทาส แหกตาประชาชน เพราะเป็นหน่วยงานที่ฝืนมติครม. ลดเงินที่ต้องจ่ายในโครงการในปีแรกจาก 15% เหลือเพียง 10% เท่านั้น โดยปีที่ 2 และ 3 ต้องจ่ายถึง 45 % ทั้งที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้ากระทรวง แบบเขียนด้วยมือลบด้วยเท้าหรือไม่ เช่นโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งไม่ทราบจะถูกรื้อฟื้นมาอีกเมื่อไหร่ เพราะล้วนเป็นโครงการดาวน้อยผ่อนหนัก ขณะที่ในส่วนของกองทัพบกมีโครงการจัดหารถยานเกราะล้อยาง Stryker ปี 2563-2565 วงเงิน 4.5 พันล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องบินใช้งานทั่วไป ปี 2563-2565 วงเงิน 1.3 พันล้านบาท และกองทัพอากาศ โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกทดแทนบ.ฝ. 19 ปี 2563-2565 วงเงิน 5.1 พันล้านบาท

Advertisement

“เฉพาะ 3 โครงการของกองทัพบกกับกองทัพอากาศ มีวงเงินสูงถึง 1.1 หมื่นล้านบาท สามารถเอาไปใช้ซื้อวัคซีน เข็มละ 1,000 บาท ฉีดสร้างภูมิคุ้มกั้นให้ประชาชนได้ถึง 2.2 ล้านคน หรือเปลี่ยนเป็นเงินเยียวยา 5,000 บาท ได้ 442,400 คน ดังนั้น พรรคก้าวไกล จึงขอเสนอให้การพิจารณางบให้มีประสิทธิภาพ โดยให้สำนักงบประมาณ เผยแพร่รายละเอียดร่างพ.ร.บ.งบประมาณในรูปแบบดิจิตัล นำงบกลางส่วนนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเยียวยา และบรรเทาผลกระทบ และควรใช้กลไกของกมธ.วิสามัญตรวจสอบงบประมาณ และมาตรการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในการตรวจสอบการใช้จ่าย พร้อมออกประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐฉบับใหม่ โดยต้องกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการขยายกรอบวินัยการเงินการคลัง และต้องจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณใหม่ เพื่อความมั่นคงของชาติในความหมายใหม่ เพราะความมั่นคงของชาติไม่ใช่แค่ความมั่นคงทางทหารเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงพี่น้องประชาชน และความปลอดภัยด้านสาธารณสุขในภาวะวิกฤตโควิดด้วย” นายพิจารณ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image