‘ห้าม’ หรือ ‘ไม่ห้าม’ สนช. นั่ง ‘ป.ป.ช.-กสม.’ ระวัง ‘ไวรัสอำนาจ’

สร้างความงุนงงให้กับแวดวงผู้ติดตามข่าวสารในยุคโควิดแพร่ระบาด…

นั่นคือกรณี คณะกรรมการสรรหาบุคคลเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ประชุมพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้เข้ารับการสรรหา 36 ราย เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา

พบว่ามีผู้สมัครที่เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระหว่างปี 2557-2562 มาก่อนคือ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีต สนช. และ น.ส. จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ อดีตสนช.

ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 246 ประกอบ พ.ร.ป.กสม. มาตรา 10(18) กำหนดคุณสมบัติของกรรมการว่า จะต้องไม่เป็น หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปี ก่อนเข้ารับการสรรหา

Advertisement

ปัญหาคือ เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา วุฒิสภา ลงมติเห็นชอบ ให้ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีต สนช. ดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระเหมือนกัน

ที่ประชุมถกเถียงกันว่า พล.อ.นิพัทธ์ มีคุณสมบัติเป็น กสม.หรือไม่ เพราะคณะกรรมการสรรหาบุคคลดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยมีความเห็นว่า นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช. ได้ ตาม พ.ร.ป. ป.ป.ช. มาตรา 11 (18) และที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบแล้ว

ท้ายที่สุดกรรมการสรรหาเสียงข้างมากเห็นว่า พล.อ.นิพัทธ์ ขัดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 246 ประกอบ พ.ร.ป.กสม. มาตรา 10(18) ซึ่งตีความว่า สนช. คือตำแหน่งเดียวกับส.ส.และส.ว. ต้องพ้นจากตำแหน่ง 10 ปีก่อนเข้ารับการสรรหา

ส่วนเสียงข้างน้อยเห็นว่าไม่ขัดคุณสมบัติ ตามที่คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. เคยพิจารณามาแล้ว

กลายเป็นเสียงถามหา ” มาตรฐาน” ในการสรรหาบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

ในเรื่องเดียวกันนี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ว่า ถือเป็นความผิดเพี้ยนของรัฐธรรมนูญ

ด้านหนึ่งต้องรักษาความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ไม่มีส่วนได้เสีย แต่สุดท้ายส.ว. เลือกนายสุชาติ ซึ่งเคยเป็นสนช. มาเป็นกรรมการป.ป.ช. เท่ากับเป็นระบบผลัดกันเกาหลัง วนกันอยู่เพียงกลุ่มคนเดิมๆ

ปัญหาต่อมาก็ต้องดูว่ามีองค์กรไหนมาชี้ขาดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะทราบว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ก็มีมาตรฐานไปอีกแบบหนึ่ง เพราะตัดสิทธิ์ผู้ที่เคยเป็นสนช. ( พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ) ไม่สามารถดำรงตำแหน่งกสม. ได้

อยากให้ไปย้อนดูจุดเริ่มต้น สนช. หน่วยธุรการที่เขานำไปใช้ก็คือสำนักงานเลขาวุฒิสภา ถือเป็นนัยสำคัญอันหนึ่งว่า สนช. เท่ากับส.ส.หรือส.ว.กันแน่ ทั้งนี้ ตั้งแต่ยึดอำนาจมาก็วนกันอยู่ที่เดิม

พรุ่งนี้ (5 มิ.ย.) หากจำกันได้ มีการเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดย 500 เสียง มี 249 เสียงเป็นวุฒิสภา เว้นประธานวุฒิสภาที่งดออกเสียง จึงเห็นได้ว่าส.ว. ที่เลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งมาเพื่อการสืบทอดอำนาจ

นายปิยบุตรกล่าวว่า วันที่ 5 มิถุนายน จะเปิดแคมเปญ “ส.ว. มีไว้ทำไม” อย่างเป็นทางการ และวันที่ 6 มิถุนายน จะจัดสัมมนาออนไลน์

เพื่อให้สังคมพิจารณา บทบาทและหน้าที่ของส.ว.

ส่วนความเห็นจาก นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ซึ่งเคยเป็นสนช.มาก่อน ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ว่า ยืนยันว่า สนช.ไม่ใช่ ส.ส. และ ส.ว.

เพียงแต่ทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาระหว่างรัฐประหาร อีกทั้งสนช.มีองค์ประกอบไม่เหมือนส.ส. และส.ว. เพราะอนุโลมให้ข้าราชการ ผบ.เหล่าทัพ ผู้พิพากษา มาเป็นสนช.ได้

โดยข้าราชการถือเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของส.ส.และส.ว. อีกทั้งสนช.ไม่ได้เป็นข้าราชการการเมืองด้วย แต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาทำหน้าที่แทน ส.ส. และส.ว. เท่านั้น

กรณีที่คณะกรรมการสรรหากสม. ตีความว่า พล.อ.นิพัทธ์ กับน.ส.จินตนันท์ มีลักษณะต้องห้าม เพราะเคยเป็น สนช.จากการแต่งตั้งของคสช. และพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี แตกต่างจากการตีความของคณะกรรมการสรรหาป.ป.ช.

นายสมชายระบุว่า เพราะการสรรหาป.ป.ช. มีประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และตัวแทนจากองค์กรอิสระ ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายจึงเห็นว่า สนช.ไม่เป็น ส.ส. และส.ว.

ขณะที่คณะกรรมการสรรหา กสม. ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธาน วันนั้นนายชวนไม่ได้อยู่ในที่ประชุมในการพิจารณากรณี พล.อ.นิพัทธ์ และน.ส.จินตนันท์ ไม่ผ่านคุณสมบัติ จึงเหลือกรรมการสรรหา 8 คน โดยผู้นำฝ่ายค้านไม่ลงคะแนน ส่วนที่
เหลือเป็นนักกฎหมาย 2 คน ลงคะแนนว่า สนช.ไม่เป็นส.ส. และส.ว.

ที่เหลืออีก 5 คน ไม่ใช่นักกฎหมาย ลงมติว่า สนช. ถือเป็น ส.ส. และส.ว.

“ผมจึงเห็นว่า เป็นการตีความผิด และเชื่อว่าต่อไปหากมีการสรรหาองค์กรอิสระอื่นๆ ต่อไป นักกฎหมายต่างๆ ที่อยู่ในกรรมการสรรหา ก็จะตีความว่า สนช.ไม่เป็น ส.ส. และส.ว. โดยที่ผ่านมา ทั้งป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เคยวินิจฉัยว่าสนช. ถือว่า เป็นส.ส. และส.ว. ด้วย แต่ไม่ปิดกั้นให้ผู้เสียประโยชน์หรือคนที่ยังสงสัยยื่นศาลรัฐธรรนูญวินิจฉัย ให้สิ้นกระแสความได้ ”

นายสมชายยังระบุว่า สนช.ถือเป็นองค์กรพิเศษที่เทำหน้าที่แทน ส.ส. และส.ว. และหากมีการไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ แล้วสรุปผลออกมาว่า สนช.เป็นส.ส. และส.ว. ก็จะทำให้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และ ส.ว.จำนวน 80 คน รวมทั้งผมที่มาจากสนช. ขาดคุณสมบัติทันที แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่า ไม่มีทางเป็นไปได้


แล้วเรื่องนี้ก็ต้องถึง ” พี่ศรี” จนได้

วันที่ 4 มิถุนายน ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง วินิจฉัยว่าการที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ส่งรายชื่อนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ให้วุฒิสภาเห็นชอบเป็นว่าที่กรรมการป.ป.ช. เข้าข่ายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากนายสุชาติจากตำแหน่งมายังไม่ครบ 10 ปี

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า กฎหมายป.ป.ช.ปี 2561 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่จะมาเป็นกรรมการป.ป.ช.นั้นจะต้องไม่เป็นสมาชิกส.ส. วุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองในระยะ 10 ปี ก่อนดำรงตำแหน่ง

นายสุชาติเพิ่งพ้นจากการเป็นสนช.ได้เพียง 1 ปี ( สิ้นสุด 2562 ) น่าจะมีลักษณะต้องห้ามตามพ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช. 2561 ในมาตรา 11(18) โดยชัดเจน

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า หากเรื่องนี้เป็นที่ยุติในชั้นศาล ว่าไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ ก็จะดำเนินการเอาผิดกับ ส.ว.ทั้ง 219 คนที่รับรองนายสุชาติ ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วย


ถือเป็นประเด็นที่สังคมไม่ได้แค่งุนงง แต่ยังสงสัยในมาตรฐานการใช้กฎหมายของผู้มีอำนาจอีกด้วย

ในโลกออนไลน์ เรื่องนี้ร้อนฉ่า จุดชนวนให้เกิดการวิพากษ์การใช้อำนาจ การใช้กฎหมายขององค์กรต่างๆ

อาจจะไม่ส่งผลแตกหักอย่างฉับพลันทันที แต่เป็นอีกเรื่องที่สะสม บั่นทอนภูมิคุ้มกัน ความน่าเชื่อถือของรัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง

และเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยาก อธิบายให้สังคมเห็นพ้องได้ยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสังคมที่มุ่งสู่ “นิว นอร์มอล” ในทุกด้าน รวมถึงในทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image