ถลกพ.ร.บ.โอนงบ’63 ‘เบี้ยใต้ถุนร้าน’สู้โควิด

ถลกพ.ร.บ.โอนงบž63

เบี้ยใต้ถุนร้านžสู้โควิด

หมายเหตุ – ส่วนหนึ่งของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย
พ.ศ. … วาระแรก ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ วงเงิน 88,452,579,900 บาท โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงหลักการและเหตุผลการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) และนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายไม่เห็นด้วยและมีข้อแนะนำการใช้งบประมาณ ที่ห้องประชุมพระสุริยัน อาคารรัฐสภา เกียกกาย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

Advertisement

ร่าง พ.ร.บ.โอนงบคือให้โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประะมาณ 2563 ของหน่วยรับงบประมาณเป็นบางรายการ ไปตั้งจ่ายเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 88,452,597,900 ล้านบาท โดยงบของหน่วยรับงบประมาณ 39,893 ล้านบาท งบรายจ่ายบูรณาการ 13,256 ล้านบาท และงบรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 35,303 ล้านบาท ซึ่งการพิจารณาในวันนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะถือเป็นภัยพิบัติร้ายแรงของประเทศและเศรษฐกิจโดยรวม ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้จ่ายในงบประมาณกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการตามแผนเร่งด่วนต่างๆ เช่น การแก้ปัญหาภัยพิบัติ อุทกภัยและภัยแล้ง ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นอื่น และโรคติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้งบกลางเงินสำรองจ่ายที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอจึงมีความจำเป็นต้องโอนงบของหน่วยรับงบประมาณ ที่ได้รับการจัดสรรไปตั้งไว้ในรายการเงินสำรองจ่าย ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนการดำเนินภารกิจของหน่วยรับงบประมาณผ่านกลไกต่างๆ เพื่อสนองตอบการแก้ไขปัญหาให้ทันต่อสถานการณ์

กฎหมายโอนงบประมาณรายจ่ายฉบับนี้ มีความสอดคล้องกับกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งทำให้การบริหารร่ายจ่ายประจำปี งบประมาณปี 2563 มีประสิทธิภาพคล่องตัวทันต่อการแก้ไขสถานการณ์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับประชาชนและร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังสอดคล้องกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มาตรา 35 (1) ที่กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายจะโอนหรือนำไปใช้สำหรับหน่วยรับงบประมาณอื่นไม่ได้เว้นแต่มี พ.ร.บ.ให้โอนหรือนำไปใช้ได้ อย่างไรก็ตาม งบประมาณก้อนนี้ได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ หลักการ และเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา โดยงบประมาณและรายงานที่นำมาจัดการ พ.ร.บ.โอนงบฉบับนี้ ประกอบด้วย 1.รายจ่ายประจำในทุกงบรายจ่าย ที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายและไม่มีข้อผูกพันหรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ ณ วันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา อาทิ ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ และการจัดงานกิจกรรมต่างๆ

2.รายจ่ายลงทุนในทุกงบรายจ่าย อาทิ รายการปีเดียวที่ยังไม่ประกาศดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายในวันที่ 7 เมษายน 2563 และหรือไม่สามารถลงนามได้ทันในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 และ 3.รายการที่ชะลอการดำเนินการได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ หรือไม่สามารถดำเนินการได้
ในปีงบประมาณ 2563

Advertisement

รัฐบาลคำนึงถึงการบริหารงบประมาณรายจ่ายในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 63 ตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐที่จำเป็นในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามสิทธิและสวัสดิการเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึงการสร้างงาน

จึงหวังว่าสมาชิกจะให้การสนับสนุนและรับหลักการ เพื่อนำงบไปใช้แก้ปัญหาจำเป็นเร่งด่วนอย่างคุ้มค่าและโปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.)

ขอตั้งข้อสังเกตในร่าง พ.ร.บ.นี้ 4 ข้อ 1.โอนล่าช้า ไม่ไยดีต่อความเดือดร้อนของประชาชน เพราะที่ผ่านมาพรรคก้าวไกล เสนอขอเกลี่ยงบในส่วนนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่รัฐบาลไม่นำพาปฏิบัติ ถ้าเกลี่ยงบตั้งแต่ตอนนั้นอาจจะไม่ต้องกู้เงินถึง 1 ล้านล้านบาท ไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะประเมินสถานการณ์โควิด-19 ผิดพลาด แต่จงใจให้หลายหน่วยงานเข้ามาใช้งบ มีค่าเงินทอนของแต่ละส่วนจองกันไว้แล้ว อีกทั้งขณะที่เกิดโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ประเทศประชาธิปไตยในโลกต่างเปิดประชุมสภาเพื่อแก้ปัญหา แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับหนีสภา ไม่ยอมให้มีการประชุมสมัยวิสามัญ

2.โอนน้อย ทั้งที่ยอดตัดโอนขอหน่วยงานต่างๆ จาก 3 แผนงานรวม 5.3 หมื่นล้านบาทนั้น สามารถตัดได้ 8.4 หมื่นล้านบาท แต่โอนได้เพียง 6.3% เท่านั้น ที่แย่กว่านั้น มติ ครม.เมื่อ 7 เมษายนที่ผ่านมาให้โอนงบ แต่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องโอนคืนกลับมากี่เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ แต่ระบุเพียงกว้างๆ ว่าให้ปรับลดโดยไม่เสียหายแก่ราชการ จึงมีตัวอย่างโครงการที่ควรยกเลิกแต่ไม่ยกเลิกและฝืนทำต่อ เช่น โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงฝูงบินแอร์บัส สนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือ ซึ่งปัจจุบันการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ไม่มีความจำเป็นต้องทำแล้ว แต่โครงการแก้ไขข้อพิพาทในที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ มีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่กลับถูกตัดยับเยิน แต่งบที่มีเอกชนรองรับไม่ตัดเลย

3.โอนทะลุกรอบ เม็ดเงินที่โอนในคราวนี้ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ จึงมีประกาศของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของภาครัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ได้มีการปรับเพดานในงบกลางเพิ่มเป็น 3.5%-7.5% ของวงเงินงบประมาณ ทำให้มีปัญหาว่ารัฐบาลตั้งงบกลาง ซึ่งเป็นงบของนายกฯ สภาไม่สามารถตรวจสอบได้เลย ขณะที่สัดส่วนในการชำระหนี้ภาครัฐก็ถูกปรับลดจาก 2.5% เหลือ 1.5% ทำให้ท่านสามารถชักดาบได้ต่อไป แม้ผมจะเข้าใจดีว่าในสภานการณ์วิกฤตจำเป็นต้องยืดหยุ่น แต่ผมเป็นห่วงว่าประกาศฉบับนี้จะไม่ใช่ประกาศชั่วคราว เพราะไม่มีกำหนดวันเวลาว่า จะสิ้นสุดเมื่อใด

4.โอนไม่จริง จากเดิมงบประมาณในการทำโครงการผูกพันในปีที่ 1 กำหนดให้จ่าย 20% ของยอดค่าโครงการปีที่ 2 และ 3 ต้องจ่าย 40% เพื่อป้องกันการตั้งโครงการที่เป็นงบผูกพันจนกระทบต่องบประมาณของรัฐบาลในปีถัดๆ ไป แต่มติ ครม.ใหม่ของรัฐบาลนี้ ได้ปรับลดยอดของงบผูกพันในลักษณะดาวน้อยผ่อนนานและหนัก ส่งเสริมการเบียดบังงบในปีต่อๆ ไป เพราะปรับลดยอดจากงบ 20% ในปีแรกลง เหลือ 15% ส่วนปีที่ 2 และ 3 ปรับเพิ่มเป็น 42.5% ทั้งที่รู้ว่าวิกฤตโควิดยังอยู่อีกนาน การเก็บภาษีภาครัฐละลดลง จะเป็นการเพิ่มการกู้เงินมาใช่จ่ายเพื่อชดเชยการขาดดุล

สิ่งที่แยกไปกว่านั้น การโอนงบของกระทรวงกลาโหมมีวงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท ตัวเลขเยอะ เหมือนยอมไม่ซื้ออาวุธ เพราะเห็นแก่ประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นการเล่นแร่แปรธาตุ เป็นหน่วยงานที่ฝืนมติ ครม. ด้วยการลดเงินที่ต้องจ่ายในโครงการปีแรกจาก 15% เหลือเพียง 10% เท่านั้น ขณะที่ปีที่ 2 และ 3 ต้องจ่ายถึง 45% ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้ากระทรวง

ดังนั้น พรรคก้าวไกลขอเสนอให้การพิจารณางบให้มีประสิทธิภาพ โดยให้สำนักงบประมาณเผยแพร่รายละเอียดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณในรูปแบบดิจิทัล นำงบกลางส่วนนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเยียวยา และบรรเทาผลกระทบ และควรใช้กลไกของ กมธ.วิสามัญตรวจสอบงบประมาณ และมาตรการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในการตรวจสอบการใช้จ่าย พร้อมออกประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐฉบับใหม่ โดยต้องกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการขยายกรอบวินัยการเงินการคลัง และต้องจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณใหม่ เพื่อความมั่นคงของชาติในความหมายใหม่

เพราะความมั่นคงของชาติไม่ใช่แค่ความมั่นคงทางทหารเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงพี่น้องประชาชน และความปลอดภัยด้านสาธารณสุขในภาวะวิกฤตโควิดด้วย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.)

การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฉบับนี้ ถือเป็นครั้งแรกของสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะตลอดการโอนการงบประมาณที่ผ่านมาตามประวัติศาสตร์มีการพิจารณามาแล้ว
5 ครั้ง เป็นการพิจารณาโดยสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเลยแม้แต่ครั้งเดียว

สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ ผมไม่สามารถรับหลักการได้ ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประแรกแรก กฎหมายฉบับนี้ถือว่าขัดหลักประชาธิปไตยและกฎหมายอื่น ซึ่งตามหลักการการนำงบประมาณไปใช้ต้องคำนึงถึงความยินยอมของประชาชน โดยรัฐสภาต้องตรวจสอบได้ ซึ่งตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มาตรา 53 (1) เขียนไว้ชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้มีการโอนงบประมาณข้ามหน่วยงาน แม้กฎหมายจะอนุโลมให้โอนงบประมาณได้ แต่ต้องเป็นโอนกันระหว่างหน่วยรับงบประมาณด้วยเท่านั้น ซึ่งการโอนงบประมาณเข้างบกลางจะมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมายทันที เพราะงบกลางไม่ได้มีสถานะเป็นหน่วยรับงบประมาณ แต่เป็นเพียงรายการการใช้เงินเท่านั้น ที่สำคัญงบกลางในส่วนนี้มีนายกฯเท่านั้นที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจใช้เงิน

ประการที่สอง รายการของการโอนงบประมาณตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตต้องเรียกว่าจอมโอนแห่งยุค เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำการโอนงบประมาณมาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่ยุค คสช.เป็นต้นมา ในปี 2558 โอนเข้างบกลาง 7,917 ล้านบาท ปี 2559 โอนเข้างบกลาง 22,106 ล้านบาท ปี 2560 โอนเข้างบกลาง 11,866 ล้านบาท และปี 2561 โอนเข้างบกลาง 10,000 ล้านบาท เข้ากองทุนประชารัฐ 2,700 ล้านบาท เม็ดเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่โอนเข้าไปงบฉุกเฉินเป็นหลัก

ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ออกประกาศขยายกรอบสัดส่วนเพื่อกำหนดสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2% แต่ไม่เกิน 7.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นการแก้ไขระเบียบมารองรับ เพื่อให้งบกลางอยู่ในอำนาจของนายกฯแต่เพียงผู้เดียวมากขึ้น แต่ไม่มีความเหมาะสมและเหตุผลของการนำไปใช้งบประมาณดังกล่าว

การทำร่างกฎหมายเช่นนี้เหมือนกับเป็นการมัดมือสภาและตีเช็คเปล่าในการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ เพราะมีการออกกฎหมายยกเว้นการโอนงบประมาณให้หน่วยรับและมาให้เหตุผลว่า หากสภาอนุมัติให้ก็ถือว่าใช้ได้ จะเอากันแบบนี้หรือ การกระทำเช่นนี้ถือว่าขัดหลักของกฎหมาย แต่ก็ต้องขอบคุณที่รัฐบาลยังยอมให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฉบับนี้ในวาระ 2 เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและกลั่นกรอง และเชื่อว่าสมาชิกที่เป็น กมธ.จะพิจารณาตัดงบประมาณให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

หากสภาอนุมัติให้ผ่านไป จะเป็นสภาจากการเลือกตั้งชุดแรกที่มีรอยด่างว่าถูกมัดมือชก และเห็นชอบกฎหมายโอนงบประมาณที่ไม่ควรเห็นชอบ เพราะไม่มีรายละเอียด ดังนั้น เพื่อศักดิ์ศรีของสภา โปรดอย่าได้รับหลักการ แต่หากจะรับหลักการต้องรับหลักการแบบมีเงื่อนไข

โดยหากการพิจารณาวาระสองและสาม ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้งบประมาณอีก ฝ่ายค้านในฐานะเสียงข้างน้อย จะโหวตคว่ำเพื่อบันทึกเอาไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image