หึ่ง ‘ยุบสภา’ สวนกระแส ‘ปรับ’ ศึกใน ‘พปชร.’ เดือดระอุ

ภาพการเมืองหลังสภาไฟเขียว พ.ร.ก. 4 ฉบับ เมื่อ 31 พ.ค. ก็คือ ฉากฝุ่นตลบของความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ

กรรมการบริหารพรรค 18 คน จาก 35 คน ลาออก ซึ่งตามข้อบังคับพรรค เท่ากับ กก.บห.สิ้นสภาพไปทั้งคณะ

โดยเฉพาะคือ หัวหน้าพรรค คือ นายอุตตม สาวนายน ซึ่งมีตำแหน่ง รมว.คลัง และเลขาธิการพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงงาน กลายเป็น “รักษาการ”

ภารกิจ คือ ต้องจัดประชุมใหญ่ เพื่อเลือกตั้ง กก.บห.ชุดใหม่ใน 45 วัน นับจาก 1 มิ.ย. ก็ประมาณวันที่ 15-16 ก.ค.

Advertisement

ปัญหาคือ ขณะนี้ยังอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ถ้าจะจัดประชุมต้องขออนุญาตจาก “กกต.” ซึ่งเคยปฏิเสธคำขอของพรรคการเมืองอื่นๆ มาแล้ว

หรือถ้ารัฐบาลไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งตอนนี้บังคับใช้ถึง 30 มิ.ย. ก็จะไปจัดในช่วง ก.ค.-ส.ค.ได้เลย

ต้องรอดูว่า จะมีสัญญาณพิเศษ ทำให้จัดประชุมใหญ่ได้ในเร็ววันหรือไม่

Advertisement

เป้าหมายจริงๆ ของการเปลี่ยน กก.บห.พรรค คือ การปรับปรุงคณะรัฐมนตรี

แม้ว่านายกฯบิ๊กตู่ประกาศแล้วว่า การปรับ ครม.เป็นเรื่องของนายกฯ จะตัดสินใจเอง

เป็นการประกาศตามความเคยชิน จากการเป็นรัฐบาลยุค คสช.

แต่ในระบบพรรคการเมือง จะมองข้ามบทบาทของ กก.บห.ไม่ได้

กก.บห.สามารถลงมติให้นายกฯปรับ ครม.ได้ แต่อาจจะแสดงความเกรงใจ โดยในมติ มอบหมายให้เป็นอำนาจของนายกฯในการปรับ

มองไปข้างหน้า เรื่องราวในพรรค พปชร.ยุ่งยากพอสมควร

 

…แน่นอนว่า กองเชียร์ “ลุงตู่ ” กองเชียร์รัฐบาล ที่เคยเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง รับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดในพรรค พปชร.ในขณะนี้

เพราะกลายเป็นเกมการเมืองที่ ส.ส.มารุมบีบ “ลุงตู่” ให้ปรับ ครม.

จากพื้นฐานไม่ชอบนักการเมือง ไม่ชอบให้มีสภา มี ส.ส.ที่แยกเป็นฝ่ายค้านกับรัฐบาล เป็นทุนเดิม พอเห็นการเคลื่อนไหวของ ส.ส.ก็จะมองเป็นพวกก่อความวุ่นวาย เหมือนที่เคยเกิดขึ้น

ทั้งที่ความจริงแล้ว การเห็นต่างในระบบรัฐสภา เป็นเรื่องปกติธรรมดามาก

ถ้าทั้งสภาเห็นไปในทางเดียวกันหมด พูดเป็นเสียงเดียว โหวตไปทางเดียว ไม่มีขัดคอ ไม่มีแตกแถวเมื่อไหร่ ประชาชนเตรียมหนาวได้

เพราะหมายถึงการ “ฮั้ว” กันแล้ว

ภาพที่เกิดขึ้น ในแง่หนึ่งทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้โละทิ้ง กก.บห.พรรคชุดเดิม และปรับ ครม. กลายเป็น “ตัวป่วน”

และเริ่มมีเสียงกล่าวถึงการ “ยุบสภา”

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจที่จัดทำระหว่าง วันที่ 2-4 มิ.ย.

ระบุว่า ภาพการเมืองหลัง ร้อยละ 81.1 เห็นภาพการเมืองเก่าๆ จัดคนเข้ามาเอาผลประโยชน์เงินกู้ ที่รัฐบาลก่อหนี้สินให้ทุกคนในชาติ ร้อยละ 79.4 เห็นภาพนักการเมืองยี้ แย่ๆ เดิมๆ ทำให้เด็กและเยาวชนลอกเลียนแบบโกง ร้อยละ 76.4

ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 74.2 ระบุถึงเวลาแล้วที่ควรยุบสภา ขณะที่ร้อยละ 25.8 ระบุ ยังไม่ถึงเวลา

 

……  สถานการณ์ ณ เดือน มิ.ย.หรือแม้กระทั่ง ก.ค. หากจะยุบสภา ยังมีข้อขัดข้องค้างคาหลายเรื่อง

แม้ว่า พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านบาท ผ่านสภาแล้ว แต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2564 ยังอยู่ในกระบวนการ

แต่ถ้าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2564 ผ่านสภาในเดือน ก.ย.นี้ ก็ถือว่ามีความเป็นไปได้

เพียงแต่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ต้องอยู่ภายใต้ “นิวนอร์มอล” จะยุ่งยาก เลือกไปกลัวติดเชื้อไป ตัวอย่างมีให้เห็นจากเลือกตั้งซ่อมเขต 4 ลำปางในขณะนี้

ที่สำคัญ เป็นการเลือกภายใต้กติกาเดิม มีวิธีคิดบัญชีรายชื่อแบบพิสดาร มีบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.โหวตตัวนายกฯ ซึ่งจะทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาเหมือนเมื่อเลือกตั้งเดือน มี.ค.2562

สำหรับ ส.ส.ที่เพิ่งเลือกตั้งไปเมื่อ มี.ค.2562 ถ้าจะต้องเลือกตั้งใหม่ในเวลา 1 ปีเศษๆ หรือ 2 ปี ต้องถือว่าเร็วไป

หลายคนที่เข้ามาแบบส้มหล่น ก็รู้ตัวดีว่าเลือกใหม่เมื่อไหร่ แปลว่า “จบ” คงไม่ค่อยอยากกลับไปลงสนามอีก

เมื่อกล่าวถึง “ยุบสภา” ในตอนนี้ จึงมีความหมายในเชิงคำรามขู่

และทำให้เห็นว่า เส้นทางไปสู่การ “ปรับ ครม.” ยังคดเคี้ยวซับซ้อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image