เสียงสะท้อนภาคธุรกิจ-จี้ รบ.เร่งฟื้นฟู ศก.โดยเร็ว

เสียงสะท้อนภาคธุรกิจ-จี้ รบ.เร่งฟื้นฟู ศก.โดยเร็ว

หมายเหตุนักธุรกิจในจังหวัดต่างๆ สะท้อนถึงปัญหาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในปัจจุบัน และฝากข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลให้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว

หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา

Advertisement

ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว และเมื่อเกิดการระบาดก็ยิ่งซบเซาหนักขึ้นไปอีก ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน จากการสำรวจของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา พบว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับอาหารจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และบางแห่งมียอดขายเพิ่มสูงขึ้น แต่โรงงานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ หรืออิเล็กทรอนิกส์ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ก็ไม่สามารถผลิตได้ หรือมียอดผลิตลดลง ซึ่งการสำรวจช่วงเดือนเมษายน 2563 ยอดการผลิตภาพรวมลดลงถึง 72% แต่ห้วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยอดการผลิตเริ่มดีขึ้น อยู่ที่ 60% จากยอดผลิตปกติ หวังว่าเดือนมิถุนายนนี้จะมียอดการผลิตเข้ามาเพิ่มอีกสัก 50%

อย่างไรก็ตาม ยอดการผลิตของสถานประกอบการหลายแห่งยังย่ำแย่ ทำให้ต้องลดจำนวนพนักงาน หรือลดเวลางานลง ขณะที่หลายแห่งจำเป็นต้องลดเงินเดือนพนักงาน ซึ่งมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ยอดการผลิตลดลง อย่างเช่น โรงงานอุตสาหกรรมที่มีเครื่องจักรตั้งวางใกล้กัน ก็จำเป็นต้องเปิดเดินเครื่องจักรเพียงบางตัวเท่านั้น เพื่อให้พนักงานได้เว้นระยะห่างกัน จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบทำให้กำลังผลิตลดลงด้วย หรือบางกิจการ เช่น ขายกล้วยไม้หรือผลไม้ส่งออก เมื่อมีการงดเที่ยวบิน ก็ทำให้ผลผลิตเสียหายเพราะไม่สามารถส่งผลผลิตส่งออกขายต่างประเทศได้ เงินหมุนเวียนในภาคเศรษฐกิจจึงหยุดชะงักตามไปด้วย

การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลด้วยการกู้เงิน 1 ล้านล้าน เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว แต่หากเงินกู้ 5 แสนล้านไปอยู่ที่การจ่ายเยียวยาฉุกเฉินโดยตรงทั้งหมด ก็จะไม่เกิดการสร้างงานที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนมากกว่า ดังนั้นเม็ดเงินกู้ 4 แสนล้านบาท จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ ปล่อยกู้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ควรนำไปสร้างงานจะดีกว่า เช่น นำไปใช้จ้างงานแรงงานที่กำลังตกงานจะดีกว่า ขณะที่เงินกองทุนประกันสังคมสำหรับวัยเกษียณอายุ ก็เสนอให้ปล่อยเงินกองทุนตัวนั้นออกมาให้กู้ใช้หมุนเวียนก่อนสัก 20% จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น เป็นต้น

Advertisement

ดังนั้น หากรัฐบาลจะนำเงิน 4 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ มาใช้เรื่องงานสาธารณูปโภค ก็ควรเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง และลงไปถึงรากหญ้าจริงๆ โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน จะทำให้ช่วยดึงแรงงานเข้าสู่ระบบได้ด้วย เกิดการจ้างงานชั่วคราว รวมไปถึงกลุ่มสตาร์ตอัพที่ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ จะช่วยให้จีดีพีของประเทศดีขึ้นด้วย แต่รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างจริงจังและรุนแรง มีการตรวจสอบการใช้เงินอย่างเข้มข้น ไม่ให้รั่วไหล และไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่นเด็ดขาด หากทำได้จริง ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ชัดเจน ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบได้จริงตามเป้าหมาย

ส่วนเศรษฐกิจภาพรวมของนครราชสีมา ต้องดึงนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติมาลงในพื้นที่ให้ได้ ขณะนี้ ประเทศจีนและเกาหลีใต้พุ่งเป้าไปลงทุนที่เวียดนามมากกว่ามาไทย ถ้าหากสามารถเชื่อมโยงธุรกิจดึงนักลงทุนมาไทยได้ด้วย จะเกิดอานิสงส์ทั้งต่อประเทศไทยและนครราชสีมา ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาจึงเกิดแนวคิดยกระดับจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เจนศิลป์ เจริญบวรศักดิ์
ประธานหอการค้าจังหวัดพิจิตร

ขณะนี้เศรษฐกิจประเทศไทย ถอยหลังลงมาก เนื่องจากเป็นยุคข้าวยากหมากแพง อีกทั้งประชาชนยังมาได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 หากรัฐบาลจะปรับ ครม. ผมเห็นด้วย หากปรับให้สถานการณ์ดีขึ้น ต้องยอมรับว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน คิดได้อย่างเดียวเอาเงินแจกชาวบ้าน แต่ในภาพเศรษฐกิจไม่เห็นแก้ปัญหาอะไรได้ ไม่ว่าจะเป็นราคาพืชผลทางการเกษตร ราคาตกต่ำ ชาวบ้านต้องเป็นหนี้ เป็นสิน ทั้งนอกระบบในระบบ

ในฐานะตัวแทนของประชาชนคนพิจิตร อยากเห็นรัฐบาลแก้ปัญหาภาพรวมด้านเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ไม่ใช่ถอยหลังลงคลอง จริงอยู่รัฐบาลช่วยเงินเยียวยาเดือนละ 5 พัน 3 เดือน ถามว่าแก้ปัญหาได้ไหม แก้ได้ แต่ถามว่าเพียงพอไหม ไม่เพียงพอ เนื่องจากประชาชนตอนนี้ต่างตกงาน เงินเยียวยาได้มา ก็จ่ายเป็นค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าส่งรถก็หมดแล้ว ยิ่งตอนนี้ใกล้เปิดเทอมโรงเรียน ผู้ปกครองก็แย่หากยังหางานทำไม่ได้ เนื่องจากมีโรงงาน และนายจ้างปิดกิจการจำนวนมาก จะเอาเงินตรงไหนมาจุนเจือครอบครัว ตรงนี้รัฐบาลเองต้องเร่งหาวิธีแก้ไขให้เร็วขึ้น

อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล อยากให้มีการปรับ ครม.ในเรื่องของทีมเศรษฐกิจ อยากให้หาบุคคลภายนอกที่เขาเก่งด้านเศรษฐกิจ มาแก้ปัญหาโดยตรง และแก้ให้ตรงจุดไม่ต้องเลือกว่าเป็นคนของใคร ให้เข้ามาแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจได้ อยากเห็นประชาชนกลับมายิ้มออกกันอีกครั้ง

นิพนธ์ สุวรรณนาวา
ประธานกิตติมศักดิ์ สภาหอการค้า
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศช่วงสถานการณ์โควิด-19 ให้ฟื้นตัวในระยะสั้น รัฐบาลควรตัดสินใจยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยุติการกำหนดเวลาเคอร์ฟิวให้เร็วที่สุด พร้อมผ่อนปรนมาตรการในระยะที่ 4 เพื่อให้ภาคธุรกิจได้ขับเคลื่อน เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ นอกจากนั้นรัฐบาลควรเปิดสนามบินนานาชาติเพื่อให้นักท่องเที่ยวจากประเทศที่ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยงเข้ามาท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังจากการช่วยเหลือเยียวยาเงิน 5,000 บาท ให้ผู้ลงทะเบียนที่เป็นประชาชนทั่วไปและกลุ่มเกษตรกรแล้ว แต่เชื่อว่ายังไม่ได้เสริมสภาพคล่องได้ในระยะสั้น ขณะที่งบ 4 แสนล้านบาท จากเงินกู้ที่จะมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศนำไปใช้จ่าย ในระดับฐานราก ส่วนใหญ่พบว่าเป็นงบลงทุน อาจจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้มีเงินหมุนเวียนในระดับท้องถิ่นมากนัก

ที่ผ่านมารัฐบาลหวังพึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่ผลกระทบจากโรคระบาดทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษี ดังนั้นหากต้องการฟื้นตัวเร็วต้องทำให้มีการท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศให้เร็วที่สุด นอกจากนั้นรัฐบาลควรสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศสำรวจจุดเด่นของสินค้าและบริการในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาเป็นจุดขายด้านเศรษฐกิจและกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายภายในประเทศ

วโรดม ปิฏกานนท์
ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

หอการค้าเชียงใหม่ ประเมินเศรษฐกิจปี 2563 เสียหายหนักรายได้มวลรวมลด 50 % ของมูลค่าเศรษฐกิจท้องถิ่นกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยว และภาคเกษตรกรรม จึงเสนอโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ลุย อี-มาร์เก็ตเพลส แพลตฟอร์ม จัดโหมโปรแกรมลดทั้งเมือง เชียงใหม่ อัลตร้า เซล 2020 พร้อมเร่งโปรโมตทองเที่ยวชุมชน 3 แพคเกจ พร้อมจัดบูติก ไดรฟ์วิ่ง เทรล รับไทยเที่ยวไทยก่อน หวังเงินจะได้สะพัดในท้องถิ่นก่อนเศรษฐกิจเสียหายหนัก

ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจรายสาขาที่ได้รับผลกระบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่จะนำเสนอโครงการต่อภาครัฐในการใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภายใต้พระราชกำหนด 4 แสนล้านบาท โดยนำเสนอครอบคลุมทั้ง 4 ด้านกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ได้แก่ โครงการลงทุนและกิจการการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน กระตุ้นการบริโภค และการลงทุนขั้นพื้นฐาน รวมประมาณ 450 ล้านบาท

จังหวัดเชียงใหม่มีขนาดเศรษฐกิจโดยรวมประมาณ 230,000 ล้านบาท สูงเป็นอันดับหนึ่งของภาคเหนือ เกี่ยวข้องกับแรงงานและการจ้างงานมากกว่า 100,000 คน เฉพาะไตรมาสแรกปี 2563 ภาคการท่องเที่ยว สูญเสียรายได้ 10,650 ล้านบาท โรงแรม ร้านอาหาร ต้องปิดกิจการชั่วคราว ไกด์จำนวน 12,000 คน ต้องว่างงาน ธุรกิจสปาสูญเสียรายได้ คาดว่าในปี 2563 มูลค่าจะลดลงไปมากกว่า 90% หรือประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท

ส่วนด้านการเกษตรที่มีรายได้หมุนเวียน 23% หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 คาดว่ามีการลดลง 50% คงเหลือเพียง 2.3 หมื่นล้นบาท จะเกี่ยวข้องกับครัวเรือนเกษตรกรกว่า 169,932 ครัวเรือน หรือเกษตรกรกว่า 2 แสนราย และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแบ่งเป็น 21 ประเภท มีจำนวนทั้งสิ้น 1,571 แห่ง มีเงินลงทุนในอุตสาหกรรมทั้งหมด 31,413.23 ล้านบาท และจำนวนคนงานรวม 40,584 คน จะได้รับผลกระทบรายได้ลดลงมากกว่า 4% จะมีงินหมุนเวียนเหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท จากเดิม 2 หมื่นล้านบาทต่อปี เมื่อรวมทั้งหมดแล้วรายได้มวลรวมลดลงถึง 120,000 ล้านบาท ในปี 2563 หรือกว่า 50%

ดังนั้นเพื่อให้กิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเชียงใหม่ในระยะเร่งด่วน หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เตรียมนำเสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาครัฐ ด้วยโครงการพลิกฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ได้แก่ โครงการธนาคารต้นไม้ แนวกันไฟถาวรและการจัดการชีวมวลเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ เพื่อพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ และยกระดับการผลิตและการบริการในภาคเกษตร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการโดยการจัดกิจกรรมการสร้างแนวกันไฟถาวรและการจัดการชีวมวลงบปะมาณ 306 ล้านบาท

การฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ได้แก่ จัดแพคเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดเชียงใหม่และไทยเที่ยวเชียงใหม่ 3 โปรแกรม จัดงานมหกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชียงใหม่ 25 อำเภอ สนุกวันเดียวเที่ยวชุมชนเชียงใหม่ คัดเลือก 10 ชุมชนในเชียงใหม่ และแอดเวนเจอร์ส ผู้หลงใหลกิจกรรมผจญภัยในธรรมชาติ ณ เมืองท่องเที่ยวระดับโลก เส้นทางท่องเที่ยวแม่ริม แม่แตง และแม่วาง งบประมาณ 15 ล้านบาท โครงการการพัฒนาเส้นทางการขับรถท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน (Boutique Driving Trai) รองรับนักท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด-19 งบประมาณ 77 ล้านบาท และโครงการพัฒนาบุคลากรท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Hospitaliy-Long Stay Hub) งบประมาณ 5 ล้านบาท

การกระตุ้นการบริโภคในพื้นที่ ได้แก่ โครงการ สตรีท ฟู้ด เฟสติวัล 2020 งบประมาณ 10 ล้านบาท และโครงการช่วยเหลือสนับสนุนจำหน่ายสินค้าเกษตรในพื้นที่ เชียงใหม่ โลคัล ฟู้ด แฟร์ 2020 งบประมาณ 5 ล้านบาท โครงการเชียงใหม่ลดทั้งเมือง (Chiang Mai Ultra-Sale 2020) จัดงานในพื้นที่ไนท์บาซาร์การรณรงค์ร้านค้าทั่วจังหวัดเชียงใหม่ ในการร่วมให้ส่วนลดกับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวในอัตราพิเศษเพื่อสร้างให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนงบประมาณ 5 ล้านบาท

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน คือ การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคเอกชนเกิดการวิจัยและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มภายในประเทศ ในลักษณะบูรณาการ ผ่าน แพลตฟอร์ม อี-มาร์เก็ต เพลส ครอบคลุมการค้า การท่องเที่ยว การขนส่งออนไลน์ งบประมาณ 30 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image