‘วิษณุ’ ห่วงเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำงานลำบาก รับสถานการณ์ดีขึ้นจ่อคลายทุกล็อก ให้ชุมนุม-เลิกเคอร์ฟิว

‘วิษณุ’ ห่วงเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำงานลำบาก รับสถานการณ์ดีขึ้นจ่อคลายทุกล็อก ให้ชุมนุม-เลิกเคอร์ฟิว

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาผ่อนคลายกิจการหรือกิจกรรมเพิ่มเติม ในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า คณะทำงานกลั่นกรองจะใช้เวลาช่วง 2 สัปดาห์ของเดือนมิถุนายน เพื่อประเมินว่าจะใช้มาตรการอย่างไรต่อไป ส่วนตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนนี้ จนสิ้นเดือน จะเฝ้าติดตามสถานการณ์ หากสามารถควบคุมสถานการณ์อยู่หรือดีขึ้น อัตราการติดเชื้อคงที่ หรือหากมีการติดเชื้อก็เป็นกรณีที่ติดจากเมืองนอก และถ้าในประเทศมีตัวเลขเป็นศูนย์ และนิ่งต่อกันได้หลายวันอย่างที่ผ่านมา การจะนำไปสู่การปลดล็อกทั้งหลายโดยสิ้นเชิงมันก็เป็นไปได้ ขณะนี้ก็ได้เตรียมการไว้ทุกรูปแบบ คือกรณีแรก เตรียมการที่จะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกรณีที่สอง เตรียมการที่จะเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ กรณีที่สาม เตรียมการที่จะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่งดใช้มาตรการต่างๆ เช่น สามารถที่จะชุมนุมได้ เลิกเคอร์ฟิว ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ขณะนี้ถือว่าสถานการณ์ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสถานการณ์ดีเช่นนี้ การผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 4 ก็คงจะไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มองจากวันนี้ก็ใช่ แต่หากลองปล่อยแล้วเกิดความประมาทชะล่าใจขึ้นมา ตรงนี้ก็น่ากลัว ที่เป็นห่วงคือ วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไปจะเป็นวันหมดอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยังเป็นดีเดย์การเปิดภาคเรียนและสนามบินด้วย

“และในขณะนี้โรงเรียนเขาก็คิดวิธีการของเขาอยู่ ทั้งเรื่องเวลาเด็กเข้าห้องน้ำ เล่นกีฬาจะทำอย่างไร ถ้าทุกอย่างมันคุมกันได้เองเช่นนี้ ก็วางใจได้ หากวันที่ 15-30 มิถุนายนนี้ มันปลอดภัย เราก็เชื่อว่าวันที่ 1 กรกฎาคม ก็น่าจะปลอดภัย คนต่างชาติที่เข้ามาก็ไม่ได้เดินไปโรงเรียนอยู่แล้ว โดยอีก 3-4 วัน ก็จะเป็นวันหยุดยาว ทำให้ต้องนำทุกอย่างมาเป็นปัจจัยคิด ซึ่งยังไม่มีคำตอบในเวลานี้” รองยนายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า มีแนวโน้มจะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติมหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มันก็มีทุกทางอย่างที่ตนบอก พอไปดู พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แล้ว หลายเรื่องไม่สามารถที่จะบริหารจัดการเหมือนอย่างการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้เลย

Advertisement

“พนักงาน เจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธณาณสุขตั้งขึ้นมา ไม่สามารถที่จะบูรณการทหารพลเรือนเข้ามาได้ แค่การนำคนลงจากเครื่องเข้ามา แล้วนำไปในสถานกักกันของรัฐ สมมติว่าเป็นพื้นที่ค่ายทหาร หากภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สามารถรับช่วงต่อบูรณาการทำงานกันได้ แต่ยังนึกไม่ออกว่าภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จะทำอย่างไร เพราะตามกฎหมายนี้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด สมมติว่าไปสัตหีบ ก็ต้องเริ่มต้นที่ผู้ว่าฯ กทม. ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ต้องออกคำสั่งเป็นทอดๆ ไปถึงสัตหีบ ค่าใช้จ่ายใครจะเป็นคนดูแล ทุกวันนี้คือรัฐ เพราะรัฐเป็นคนปิด หรือกรณีที่ผู้โดยสารนั่งเครื่องบินมาแล้วเกิดการติดเชื้อกันมาก สุวรรณภูมิที่อยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กล้าปิดสุวรรณภูมิหรือไม่ ไม่ให้สายการทั้งหมดลง แต่ทุกวันนี้ที่สั่งได้เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีจะเปิดให้ต่างเข้ามาแบบประเทศต่อประเทศ จะมีการพิจารณาเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เพราะเรามีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงมีการปิดสนามบิน เป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกัน โดยใช้ พ.ร.บ.การเดินอากาศฯ ต่างประเทศก็เช่นเดียวกันเมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงปิดสนามบิน ถ้าเราไม่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วไปปิดสนามบิน จะอธิบายกับสายการบินไม่ได้ วันนี้เราให้เหตุผลว่าเป็นเพราะการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุโควิด-19 และบางอย่างแม้ไม่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็สามารถดำเนินตามมาตรการได้ เช่น การสวมหน้ากาก และการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image