รายงานหน้า 2 : เสียงจากเอกชนถึง‘รบ.’ แนวฟื้นศก.ลดพิษโควิด

รายงานหน้า 2 : เสียงจากเอกชนถึง‘รบ.’ แนวฟื้นศก.ลดพิษโควิด

รายงานหน้า 2 : เสียงจากเอกชนถึง‘รบ.’ แนวฟื้นศก.ลดพิษโควิด

หมายเหตุ ความเห็นจากภาคเอกชนถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในด้านต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐบาลในการออกนโยบาย มาตรการและโครงการต่างๆ

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์
ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคกลาง หอการค้าไทย

รายงานหน้า 2 : เสียงจากเอกชนถึง‘รบ.’ แนวฟื้นศก.ลดพิษโควิด

Advertisement

แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่การเยียวยา ฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงถัดไป โดยเม็ดเงินที่ใช้ในระยะแรกเป็นการเยียวยา ส่วนเม็ดเงินที่จะใช้ในระยะถัดไป เป็นการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านงบประมาณที่มาจาก พ.ร.ก.เงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาท

ความกังวลในเงินงบประมาณก้อนนี้ มาจากระบบราชการที่หากจะมีการออกงบประมาณ ต้องจัดตั้งโครงการ และเงื่อนไขในการดำเนินการต่างๆ หากเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ แต่ยังจัดทำแผนการใช้งบประมาณไม่ทัน อาจมีการนำแผนเดิมที่มีอยู่แล้วมารวมไว้ด้วยกัน ถ้าเป็นลักษณะแบบนี้ จะไม่ใช่การฟื้นฟูหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพราะงบก้อน 4 แสนล้านบาท เป็นเงินพิเศษ ที่นำเข้ามาเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจรวมกัน ไม่ได้เป็นเงินเปล่า แต่เป็นเงินกู้ที่ต้องใช้คืน และต้องเสียดอกเบี้ยด้วย

ปัญหาขณะนี้คือ มีการประมาณการแล้วว่าจะมีคนตกงานกว่า 8 ล้านคน ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก็มีคนตกงานแน่นอนแล้วกว่า 2 ล้านคน หากเยียวยาฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันเวลา จะสามารถซึมซับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ได้มากขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจะลดลง แต่คงไม่หมดลง เพราะไม่มีใครรู้ว่าโควิด-19 จะจบลงได้เมื่อใด รวมถึงไม่มีต้นแบบของโรคระบาดที่ส่งผลกระทบทั่วโลกขนาดนี้ ปัญหาในตอนนี้จึงไม่ยังไม่มีทางหมดลงได้

Advertisement

โจทย์หลักของรัฐบาลที่ต้องเร่งแก้ไขคือ ปัญหาคนตกงาน และคนว่างงานที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงแรงงานที่ถูกเลิกจ้างไป ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้ทักษะและศักยภาพในการดำเนินงาน อาจไม่เหมือนเดิมเมื่อกลับมาทำงานอีกครั้ง

จากนี้หลายอย่างจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกมาก เหมือนที่ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยให้ข้อคิดไว้ว่า ต่อจากนี้ผลิตภาพจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตั้งแต่การภาคการผลิต จนถึงภาคแรงงาน อีกทั้งในอนาคตยังจะมีการนำเทคโนโลยี และหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในภาคการผลิต ทำให้แรงงานมีความเสี่ยงในการตกงานเพิ่มมากขึ้น แรงงานไทยที่ต้องกลับภูมิลำเนาในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด เมื่อกลับมาอาจไม่มีงานรองรับเหมือนที่ผ่านมา ภาครัฐจึงต้องเตรียมพร้อมในการรองรับแรงงานที่จะว่างงาน ต้องหาวิธีช่วยเสริมทักษะ และพัฒนาศักยภาพแรงงานไทย เพื่อป้อนเข้าตลาดแรงงานอีกครั้ง

ที่ผ่านมามีการหาวิธีแก้ไขปัญหาแรงงานอยู่ตลอด อาทิ หากพบว่ามีแรงงานส่วนหนึ่ง มีทักษะและมีความสามารถในด้านไอที หรือเทคโนโลยีต่างๆ จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐจะสามารถจ้างงาน เพื่อให้แรงงานเหล่านั้นมีงานทำ แต่ไม่ใช่การนำแรงงานเข้ามาเป็นราชการหรือเข้ามาอยู่ในรัฐวิสาหกิจเลย เพราะจะสร้างปัญหาในส่วนของข้าราชการที่มีมากเกินความจำเป็นอีก โจทย์เรื่องแรงงานจึงถือเป็นเรื่องยาก และเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขด้วย

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

รายงานหน้า 2 : เสียงจากเอกชนถึง‘รบ.’ แนวฟื้นศก.ลดพิษโควิด

สรท.ได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับดำเนินการร่วมกับภาครัฐ โดยด้านเศรษฐกิจและการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อการฟื้นฟูกิจการของเอสเอ็มอี โดยมีเงื่อนไขค้ำประกันไม่ซับซ้อน การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอียังคงต้องให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

จัดสรรงบประมาณหรือกองทุน เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมภาคการผลิตและการส่งออก ทั้งขนาดเอสเอ็มอีและขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อทั่วโลกชะลอตัว เพื่อให้มีทุนหมุนเวียนและกลับมาดำเนินธุรกิจได้โดยเร็วและสามารถแข่งขันได้ รวมถึงรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทให้อยู่ระหว่าง 32.50-34.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ส่วนมาตรการยกระดับสินค้าเกษตร ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร มีข้อเสนอแนะคือการยกระดับสินค้าเกษตรปศุสัตว์และอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร อาทิ อาหารสำเร็จรูป เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นครัวโลก

รวมทั้งส่งเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกร อาทิ 1.ส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับความมั่นคงด้านอาหาร และความปลอดภัยของอาหาร ทั้งกระบวนการผลิต 2.ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตร ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมการเกษตร ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลกับซัพพลายเชนทั้งระบบ เช่น การเกษตรอัจฉริยะ และบิ๊กดาต้า เป็นต้น เพื่อบริหารจัดการการเพาะปลูกการเก็บเกี่ยวผลผลิต การปศุสัตว์ และวางแผนโลจิสติกส์ สำหรับกระจายสินค้าได้อย่างเหมาะสม

3.ส่งเสริมระบบชลประทานและการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเกษตร การปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมการเกษตร 4.ส่งเสริมการพัฒนาและใช้ประโยชน์ห้องเย็น และศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศให้มีเพียงพอ และสามารถจัดเก็บผลผลิตทางการเกษตร สำหรับจำหน่ายนอกฤดูกาล เพื่อลดแรงกดดันต่อราคาและข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ในช่วงฤดูกาล

5.ส่งเสริมการตลาดและโลจิสติกส์ผ่านอีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลแห่งชาติ เพื่อให้เกษตรกรที่มีความพร้อม สามารถเข้าถึงตลาดบริการด้านการเงินและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศได้โดยตรง และ 6.ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าและพิธีการศุลกากร ลดอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้า ลดภาษี และลดต้นทุนการผลิตและการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าเกษตร ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร

นอกจากนี้ รัฐควรมีการจัดทำแผนฉุกเฉิน หรือแผนสำรองระดับประเทศ เพื่อรับมือและเตรียมความพร้อมหากเกิดกรณีโรคอุบัติใหม่ หรือภัยธรรมชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคอุตสาหกรรม โดยกำหนดมาตรการควบคุม และการปรับรูปแบบการผลิตหรือการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้รองรับกับวิกฤตการณ์ในลักษณะดังกล่าวได้ในทันทีเพื่อให้ภาคธุรกิจทราบแนวทางปฏิบัติ และดำเนินการได้ต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ให้เร่งการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ เขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป เพื่อเป็นช่องทางการตลาด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดเป้าหมาย รวมถึงลดขั้นตอนเงื่อนไขการขอใบอนุญาตและกฎระเบียบหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกในช่วงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือโซเชียลดิสแทนซิ่ง เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน เพื่อให้สามารถเร่งการส่งออกในช่วงฟื้นฟูและกลับมาดำเนินธุรกิจได้โดยเร็ว

ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)

รายงานหน้า 2 : เสียงจากเอกชนถึง‘รบ.’ แนวฟื้นศก.ลดพิษโควิด

ภาคเอกชนได้หารือร่วมกัน ในส่วนของมาตรการที่ยังต้องการให้ภาครัฐออกมาเพิ่มเติม คาดว่าจะสามารถจัดทำข้อมูลแล้วนำเสนอรัฐมนตรีท่องเที่ยวได้ภายในสัปดาห์นี้ โดยเบื้องต้นสิ่งที่เอกชนต้องการเห็นรัฐทำเพิ่มเติมออกมาคือ การกระตุ้นตลาดต่างชาติ ผ่านการจับคู่ประเทศที่มีความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีไม่แตกต่างจากประเทศไทย หรือสามารถจัดการได้ดีกว่า อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยต้องหารือกันเป็นรัฐต่อรัฐ เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน

ส่วนการเดินทางเข้ามา ก็ต้องกำหนดเงื่อนไขพิเศษ อาทิ มีใบรับรองว่าผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่มีการยืนยันว่าไม่พบเชื้ออย่างชัดเจน เมื่อมีใบรับรองแพทย์ยืนยันแล้ว ก็ไม่ต้องกักตัวดูอาการ 14 วัน ทั้งการมาไทย และการเดินทางกลับประเทศต้นทาง

ส่วนการกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย ถือเป็นเรื่องที่มาถูกทางแล้ว แต่อยากให้กระจายไปทั่วถึงที่สุด โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงเปิดต้อนรับต่างชาติ ให้กลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยควบคู่ไปด้วย เพราะไทยเที่ยวไทย อย่างมากก็เดินทางท่องเที่ยวกันแค่วันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์เท่านั้น ส่วนวันธรรมดา จันทร์ถึงพฤหัสบดี มักจะไม่เดินทางมากนัก เพราะเป็นช่วงวันทำงานปกติ ทำให้ไทยไม่สามารถเลิกพึ่งพารายได้จากต่างชาติได้ แม้จะปรับสัดส่วนรายได้จากต่างชาติลง แต่ก็ต้องมีเข้ามา ไม่สามารถที่จะปล่อยให้หายไปได้จริงๆ

เบื้องต้นอยากให้เปิดน่านฟ้าและกระตุ้นให้ต่างชาติกลับมาเที่ยวไทย ให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ แต่มองทิศทางแล้วไม่น่าจะมากพอ มองว่าตลาดต่างชาติน่าจะทยอยกลับมาในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้มากกว่า เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น เชื่อว่าหากถึงช่วงนั้นแล้ว สถานการณ์ของโรคระบาดน่าจะดีขึ้น

ส่วนต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในระยะแรกๆ ประเมินว่าน่าจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ ส่วนกลุ่มท่องเที่ยวทั่วไป น่าจะยังไม่ได้ฟื้นกลับมาเร็วนัก โดยการท่องเที่ยวในประเทศ มองว่าจะเริ่มฟื้นในช่วงเดือนกรกฎาคม และเชื่อว่าจะกลับมาเดินทางกันคึกคักแบบชัดเจน เพราะขณะนี้เริ่มเห็นการเดินทางในแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ๆ มากขึ้นแล้ว ซึ่งในช่วงต่อไป น่าจะเริ่มเห็นการเดินทางแบบข้ามจังหวัด ในจังหวัดระยะไกลๆ และมีการพักค้างแรมมากขึ้นได้

นอกจากนี้ สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการคือ แพคเกจท่องเที่ยวที่กำลังจะออกมา ในส่วนของตัวแพคเกจเที่ยวปันสุข ที่จะให้เป็นบัตรกำนัลดิจิทัล สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่รัฐบาลซัพพอร์ตส่วนต่างค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวให้ เบื้องต้นอยากให้เคาะเป็นเงิน 3,000 บาท ให้กับ 4 ล้านคน นำไปใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว ผ่านร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก ร้านนวด หรือบริการอื่นๆ เพิ่มเติม แต่อยากให้แบ่งเป็นสัดส่วนชัดเจน อาทิ ใช้กับโรงแรมกี่ราย ร้านอาหารกี่ราย และบริการท่องเที่ยวกี่ราย โดยต้องแบ่งสัดส่วนบัตรกำนัลให้ชัดเจน เบื้องต้นน่าจะแบ่งเป็น 3-4 ส่วน เพื่อให้เม็ดเงินกระจายไปให้ทั่วถึงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image