เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการส่งต่อข้อมูลเอกสารเป็นหนังสือจากกระทรวงกลาโหมถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และหนังสือจากกรมควบคุมโรคถึง กสทช. มีเนื้อหา ขอให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือส่งข้อมูลตำแหน่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ย้อนหลัง 14 วัน การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 25 ที่ให้การคุ้มครองประชาชนไว้
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า เหตุดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 24 และมาตรา 26 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 แม้ว่ากระทรวงกลาโหมจะออกมาแถลงแก้ตัวว่าเป็นเพียงการระดมความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่แนวคิดและการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง แม้จะอ้างว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถทำได้ แต่ขอให้พึงสังวรว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีสถานะต่ำกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ควรอ้างข้อยกเว้นให้กระทบสิทธิของประชาชน
นายศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า การติดตามสัญญาณโทรศัพท์บุคคลเป้าหมายดังกล่าวไม่ได้บ่งบอกว่าจะป้องกันหรือควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ได้อย่างไร เพราะคนไม่ใช่ก้อนหินที่จะอยู่นิ่ง แต่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ ทุกวัน การนำเรื่องการควบคุมโควิด-19 มากล่าว จึงเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น และเป็นการแก้ตัวที่ไร้เหตุผล หากแต่เป็นการละเมิดกฎหมายโดยหน่วยงานของรัฐ
“สมาคมจะนำความไปร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ เพื่อให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 247 ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป” นายศรีสุวรรณกล่าว