09.00 INDEX : คสช. รัฐบาล กับ ‘มาตรการเฉียบ’ ห้ามถกเถียง อภิปราย รัฐธรรมนูญ

ท่าทีอันมาจาก “กกต.” ไม่ว่าจะโดย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ไม่ว่าจะโดย นายธนิศร์ ศรีประเทศ
ชวนให้เกิด “คำถาม”
เป็นไปได้หรือไม่ว่าที่ร่างประกาศและระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการออกเสียง “ประชามติ”
จะเป็นไปเพื่อ “ปิด” มากกว่า “เปิด”
หรือหากว่ามีความต้องการจะ “เปิด” หรือแสดงให้เห็นว่าเปิดก็มีเป้าหมายที่จะเปิดให้อย่าง “ด้านเดียว”
คือ ด้านที่จะ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ
ความต้องการของบางคน บางกลุ่ม บางฝ่าย อาจ “ปรารถนา” อย่างนั้นเพื่อให้เส้นทางของร่างรัฐธรรมนูญผ่านฉลุย

เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญ “ปราบโกง”
เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “เรือหางยาว” เป็นร่างรัฐธรรมนูญแบบ”รถตุ๊ก-ตุ๊ก”
เป็นร่างรัฐธรรมนูญแบบ”ไทย-ไทย”

ถามว่าแม้จะเปี่ยมด้วย “ความปรารถนาดี” แต่จะสามารถ “ปิดกั้น”ให้การเคลื่อน ไหวมีแต่ด้านที่“รับ”เท่านั้นหรือ
ตอบได้เลยว่า “ยาก” และ “ยากส์” อย่างยิ่ง

ความเป็นจริงที่เห็นอยู่นับแต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม ดำเนินไปอย่างไร
เสียงชโย โห่ร้อง มีอย่างแน่นอน
ไม่ว่าจะมาจาก นายอมร วานิชวิวัฒน์ ไม่ว่าจะมาจาก นายนรชิต สิงหเสนี ซึ่งเป็นคนร่างมากับมือเอง
หรือแม้กระทั่งจากบางคนใน “ประชาธิปัตย์”

Advertisement

ขณะเดียวกัน เสียงชยันโต ในระดับที่ว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ “ปล้น”เอา”อำนาจอธิปไตย”ไปจาก “ประชาชน”ก็มี
ยิ่งกว่านั้น ฉายาของ “รัฐธรรมนูญ” ก็เริ่ม“เผยแสดง”
ไม่ว่าจะในชื่อว่า “ฉบับใส่หมวก” จากปาก นายอุทัย พิมพ์ใจชน ไม่ว่าจะในชื่อ “ฉบับลิ้นหัวใจรั่ว” จากปาก นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ไม่ว่าจะในชื่อ “ฉบับเผด็จการชัดๆ แถมยังดูถูกประชาชน”
ทั้งนี้แทบไม่ต้อง “ฟัง” จากพรรคเพื่อไทย หรือ“นปช.”
เนื่องจากมีคำสั่งคสช.ห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือดำเนินกิจกรรม เคลื่อนไหวในทางการเมือง
จึงยังไม่ปรากฏสิ่งที่เรียกว่าเป็น “มติ”
พรรคประชาธิปัตย์อาจยังไม่ขยับขับเคลื่อนอะไรนอกจากออกมาตอดนิดตอดหน่อยเป็นรายบุคคล
แต่พรรคเพื่อไทยออกมาแล้ว “แถลงการณ์”
ถามว่าจะสามารถห้าม “นักการเมือง” ไม่ให้พูด ไม่ให้แถลง ไม่ให้แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่
โดยคำสั่งของคสช. อาจ “ได้”

ยิ่งกว่านั้น โดยการหยิบเอามาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาประกาศโดยหัวหน้าคสช. อาจ “ได้”
เพราะสถานะแห่ง “รัฐฎาธิปัตย์” มีอย่างเต็มเปี่ยม
แต่ถามว่าดีหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ชอบธรรมและสามารถเป็นที่ยอมรับได้อย่างเป็นเอกภาพหรือไม่
ยังน่าสงสัย

ขอให้ดูสิ่งที่เรียกว่า “ประกาศและระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการออกเสียงประชามติ” ก็แล้วกันว่า
1 จะออกมาอย่างไร 1 จะมีข้อห้ามอย่างไร
และที่สำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ จะได้รับการ “ขานรับ” จากสังคมและแวดวงทางการเมืองหรือไม่
โปรดอย่ารอคอย แต่จงติดตามด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image