เดินหน้าชน : เค้กก้อนโต4แสนล. : โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

เดินหน้าชน : เค้กก้อนโต4แสนล. : โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

ไม่ใช่แค่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และก็ไม่ใช่ ส.ส.ของหลายๆ พรรคที่ขึ้นกล่าวอภิปรายตั้งข้อสังเกตในสภา ประชาชนก็ยังรับรู้ได้ว่า การยื่นโครงการเพื่อขอใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท ของหลายหน่วยงานที่มีการเผยแพร่สู่สาธารณชนนั้น หลายโครงการนำเสนอมุ่งใช้เหตุผลจากผลกระทบของโควิด-19 หรือไม่ เพราะไม่ได้เห็นภาพประชาชนจะได้อะไรจากโครงการเหล่านี้

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เดิมก่อนเจอสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยพึ่งพาเครื่องจักรเศรษฐกิจแค่ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวเพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่หลังจากประเทศไทยรวมทั้งทั่วโลกบอบช้ำอย่างหนักจำเป็นต้องล็อกดาวน์ วงจรธุรกิจถูกปิดสวิตช์ เมื่อถึงเวลาคลี่คลายจึงต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการกู้คืนประเทศและความเป็นอยู่ของประชน

ครม.อนุมัติการใช้เงินกู้ครั้งนี้ระบุว่า เพื่อสร้างความเข้มแข็งในประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน

Advertisement

“ทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า โครงการที่เสนอมาแล้ว ได้แก่ 1.โครงการเพื่อปรับปรุงการผลิต การท่องเที่ยว เกษตรมูลค่าสูง 91 โครงการ วงเงิน 220,000 ล้านบาท 2.เศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชน เสนอมาจากท้องถิ่นใน 55 จังหวัด 28,331 โครงการ วงเงิน 372,532 ล้านบาท 3.รวม 13 กระทรวง และ 4 หน่วยงานที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เสนอมา 115 โครงการ วงเงิน 168,889 ล้านบาท เป็นเงินทั้งสิ้น 761,421 ล้านบาท

โดยเฉพาะกว่า 2.8 หมื่นโครงการ จาก 55 จังหวัด ที่ยังขาดอีก 21 จังหวัด ยังไม่นับแพคเกจไทยเที่ยวไทย ที่หวังปลุกชีพการท่องเที่ยวหลังการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมครบ 100% เดินทางไปมาได้ทั้งประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วางแผนครอบคลุม 4 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม-ตุลาคม 2563 หนุนคนไทยเที่ยวในประเทศ ทั้งการแจกเงินผ่านการลงทะเบียน แจกคูปอง ลดที่พัก ที่ต้องยื่นให้กระทรวงการคลังเห็นด้วย ททท.หวังว่า มาตรการจะช่วยฟื้นฟูผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยว มีการจ้างงานถึง 2.5 หมื่นคน

หากนับโครงการเหล่านี้เข้ามาอีก คาดว่าตัวเลขโครงการที่ขอน่าจะใกล้ 1 ล้านล้านบาท แต่ให้ได้เพียง 4 แสนล้าน

Advertisement

การอภิปรายตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบงบโควิด ที่รัฐสภา เมื่อ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา “จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์” ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงโครงการที่เสนอใช้เงินกู้พบว่า บางโครงการไม่ได้ตั้งฐานคิดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่เป็นโครงการปกติที่พิมพ์คำว่า โควิด-19 เข้าไป กลัวว่างบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท จะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ขณะที่ เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังคลางแคลงสงสัย มีการนำโครงการเก่ามาปัดฝุ่นเปลี่ยนชื่อโครงการเติมคำว่าโควิดเข้าไป ทำให้โครงการเกิดขึ้นรวดเร็วอย่างมหัศจรรย์ จึงขอชี้เป้าโครงการที่สุ่มเสี่ยงกับการทุจริต ควรเข้าไปตรวจสอบ เช่น โครงการจัดซื้อกล้องวงจรปิด โครงการขุดลอกคลอง โครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ โครงการทำซุ้มเข้าเมือง หรือป้ายโฆษณาแนะนำแหล่งท่องเที่ยว โครงการปรับภูมิทัศน์ โครงการที่ใช้งบประมาณไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นต้น

เป็นเรื่องน่าเสียดาย หากหน่วยงานที่นำเสนอมีความจริงจังและจริงใจที่จะใช้เงินให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ต้องส่งโครงการขึ้นมาให้รกสภาพัฒน์

ส่วนนักการเมืองซีกรัฐบาลบางคนที่เคยบอกว่า ไม่จำเป็นต้องตั้ง กมธ.วิสามัญฯชุดนี้ขึ้นมาทำงานซ้ำซ้อนกับ กมธ.ที่มีอยู่แล้ว 35 คณะ เสียเวลาการทำงานกับทุกฝ่าย รวมทั้งเสียงบประมาณของแผ่นดินจ่ายเบี้ยประชุมนั้น เป็นการแถเสียมากกว่า

ขณะที่สภาพัฒน์จะมีคณะวิเคราะห์และกลั่นกรองแล้ว ระหว่างนี้ที่ภาคประชาชนสามารถส่องดูโครงการในเว็บไซต์สภาพัฒน์

เลขาฯสภาพัฒน์บอกแล้วว่า “เปิดให้ภาคประชาชนและสังคมเข้ามาแสดงความคิดเห็นในแต่ละโครงการต่างๆ ได้ หากโครงการไหนก็ใช่เลย แต่โครงการไหนแปลกๆ ก็บอกมา” ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบงบประมาณเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ของสภาขึ้นมา นับเป็นความร่วมมือกันในการรักษาผลประโยชน์ของชาติให้มากที่สุด เพื่อป้องกันมิให้ฝูงแร้งเข้ามาแทรกรอจิกกินเด็ดขาด

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image