นักวิชาการ โพสต์เตือนรัฐบาล ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนสถานการณ์จะฉุกเฉิน

นักวิชาการ โพสต์เตือนรัฐบาล ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนสถานการณ์จะฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ นักวิชาการคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) โพสต์ข้อความเรื่อง ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ก่อนสถานการณ์จะฉุกเฉิน ระบุว่า

รู้กันยิ่งกว่ารู้ ว่าการใช้ พรก.ฉุกเฉิน ในสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้ช่วยให้การระบาดของโรคลดลง เท่าๆ กับเป็นการสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่วิจารณ์การแก้ปัญหาของรัฐบาล ชุมชนที่ปกป้องทรัพยากร กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือล่าสุดคือกลุ่มคนที่เรียกร้องให้ติดตามการอุ้มหายวันเฉลิมในประเทศกัมพูชา ที่เป็นการใช้ พรก.ฉุกเฉิน ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนบนข้ออ้างการควบคุมโรคระบาดที่ไร้สาระอย่างที่สุด

เพราะโดยพื้นฐาน รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลพลเมืองของตนโดยเฉพาะขณะที่บุคคลนั้นอยู่นอกประเทศ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีสถานะทางกฎหมายแบบไหนหรือว่าปัญหาที่บุคคลนั้นประสบจะมีสาเหตุมาจากอะไร และต่อให้บุคคลนั้นต้องคดีหรือถูกคุมขังในต่างประเทศรัฐบาลก็ยังต้องเอาใจใส่ให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่บอกปัดความรับผิดชอบอย่างเย็นชาหรือบอกว่าไม่เกี่ยวข้องราวกับกินปูนร้อนท้อง ขณะเดียวกันเมื่อประชาชนเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ติดตามเรื่อง รัฐบาลก็ควรจะเร่งดำเนินการโดยไวโดยเฉพาะการประสานกับประเทศเกิดเหตุ ไม่ใช่ใช้ พรก.ฉุกเฉิน ตั้งข้อหาประชาชนโดยอ้างการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่ใครก็รู้ว่าไม่เกี่ยวกันอย่างนี้

ประเทศไทยอยู่กับความขัดแย้งมาสิบกว่าปีแล้ว และการใช้กฎหมายเล่นงานฝ่ายตรงข้ามที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งฝังลึกและขยายวงกว้างยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะสร้างความคับแค้นให้กับฝ่ายเห็นต่างที่มีมาแต่เดิม ยังได้เพิ่มกลุ่มคนที่เห็นความเลวร้ายและอยุติธรรมของสังคมและการเมืองไทยมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ “ตาสว่าง” รู้ว่ารากเหง้าของปัญหาอยู่ตรงไหนและการแก้ไขที่แท้จริงคืออะไร

Advertisement

ฉะนั้น หากรัฐบาลไม่ประสงค์ให้เหตุการณ์นี้ลุกลามบานปลายก็ต้องเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดกั้นการเคลื่อนไหวติดตามของประชาชนคนธรรมดา ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือไม่ เว้นเสียแต่ว่าอยากจะเห็นบ้านเมืองลุกเป็นไฟ ก็สุดแท้แต่ใจละกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image