รายงาน หน้า 2 : ‘บีโอไอ’กางตำราส่งเสริมลงทุน ไฮเทคอยากได้-จ้างงานอยากมี

 

หมายเหตุ – กระแสการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงทั่วโลกหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 “มติชน” สัมภาษณ์ น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึงภาพรวมการลงทุนไทยในปัจจุบันและแนวโน้มนับจากนี้

บรรยากาศการลงทุนไทยช่วงโควิด-19 ระบาด ตัวเลขคำขอส่งเสริมลงทุนเป็นอย่างไรบ้าง

ย้อนไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ช่วงนั้นมีสถานการณ์สงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และสหรัฐกับยุโรป ก็เกิดการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทย โดยเฉพาะจากจีน ทั้งนักลงทุนจีนและนักลงทุนประเทศที่ย้ายจากจีน มีหลายโครงการเข้ามา มีขนาดใหญ่พอสมควร อาทิ กลุ่มเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น ยางล้อ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ย้ายฐานเข้ามา และปัจจุบันยังมีโมเมนตัมขึ้นๆ ลงๆ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนย้ายฐานไม่ได้ย้ายเพราะเหตุผลของเทรดวอร์เท่านั้น แต่เจอปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

Advertisement

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดโอกาสการลงทุนในผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขยายตัวขึ้น เป็นผลจากมาตรการเวิร์ก ฟรอม โฮม อุปกรณ์ต่างๆ แต่ภาพรวมก็ซบเซาตามสถานการณ์ เห็นได้จากคำขอส่งเสริมการลงทุนช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม) จำนวนคำขอเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 3% แต่มูลค่าลงทุนลดลงเยอะ แปลว่าโครงการเข้ามาขนาดเล็กลง

ปีนี้บีโอไอยังไม่ตั้งเป้าตัวเลข เมื่อเจาะคำขอที่เข้ามาในภาคการผลิต มูลค่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 3 อันดับแรกในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 10,620 ล้านบาท ต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคมก็ยังขยายตัว มูลค่าคำขอ 17,000 ล้านบาท โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคมช่วง 3 สัปดาห์แรกตัวเลขขึ้นไป มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท รวม 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม) 27,000 ล้านบาท แสดงว่าอุตสาหกรรมนี้ขยายตัว เทรนด์นี้น่าจะคงอยู่ ตามด้วยอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 5,690 ล้านบาท และยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 2,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากรายงานของที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด ระบุว่า การลงทุนจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ทั่วโลกลดลง 30-40% ปีนี้ถึงปี 2564

Advertisement

ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในช่วง 3 เดือนแรก มีมูลค่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 27,425 ล้านบาท ประเทศที่มีเข้ามาลงทุนสูงสุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และฮ่องกง ตามลำดับ เฉพาะในเดือนเมษายน 2563 มีตัวเลขคำขอรับการส่งเสริม 114 โครงการ เงินลงทุน 21,030 ล้านบาท

ดังนั้น ในช่วงต่อไปไทยต้องเลือกว่าจะส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมใดที่เรามีศักยภาพ อย่าง บีซีจี โมเดล (BCG Model) คือการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่ไทยประกาศเดินหน้าก็เป็นโอกาส

นอกจากนี้ส่งผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโกลบอล ซัพพลาย เชน ของอุตสาหกรรมหลายอย่างอันเป็นผลมาจากการที่ประเทศต่างๆ มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและแนวความคิดเรื่องความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข ได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยประกอบการตัดสินใจลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงอุตสาหกรรมดิจิทัล การพัฒนาแพลตฟอร์ม ระบบโลจิสติกส์ ระบบอัตโนมัติ และเกษตรสมัยใหม่ขยายตัวตามวิถีชีวิตแบบใหม่

สถานการณ์ข้างต้นถือว่าเป็นผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากมีแนวโน้มการย้ายการลงทุนโดยเฉพาะจากจีนไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง ไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่มีความเหมาะสม ทั้งในเรื่องที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคสามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในระยะทางไม่ไกล ขณะที่มีความหลากหลายทางด้านพืชอาหาร วัตถุดิบทางการเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป

รูปแบบการชักจูงการลงทุนในสถานการณ์ปัจจุบัน

สำหรับกิจกรรมชักจูงการลงทุนได้ปรับรูปแบบกิจกรรมเป็นออนไลน์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการจัดสัมมนาที่ใช้เว็บอินนาร์ (Webinar) ผ่านระบบเว็บเอ็กซ์ (WebEx) หรือซูม เว็บอินนาร์ (Zoom Webinar) โดยในปี 2563 สำนักงานบีโอไอในต่างประเทศวางเป้าหมายจัดสัมมนาทางด้านการแพทย์ ไบโอชีวภาพ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์และออโตเมชั่น จำนวน 51 ครั้ง

ตอนนี้โฟกัส 3-4 อุตสาหกรรมสำคัญคือ อุตสาหกรรมการแพทย์ หลังไทยแสดงขีดความสามารถในการจัดการโควิดได้ดี ติดเชื้อน้อย มีมาตรการครอบคลุม เป็นจุดขายให้ไทยเหมือนเป็นเมดิคัล ฮับ เหมาะสมทั้งพื้นที่ มีคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาจำนวนมากต่อไป ไทยมีศักยภาพทั้งเครื่องมือแพทย์ อย่างหน้ากาก ชุดพีพีอี อนาคตจะมีความต้องการสูงขึ้น การผลิตยา

ในแง่บรรยากาศการลงทุนตอนนี้ บีโอไอจึงเน้น 4 หมวดหลักคือ เมดิคัล ออโตเมชั่น ดิจิทัล และเกษตรอาหาร เพราะขยายตัวในช่วงโควิด และสาขาที่ไทยมีศักยภาพ ส่วนอุตสาหกรรมหลักอื่น อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ก็ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยต้องการแต่อาจไม่เน้นกระตุ้นเท่า 4 อุตสาหกรรมแรก

นอกจากนี้ บีโอไอเปิดระบบอี-เซอร์วิส เพื่ออำนวยความสะดวกในการยื่นเรื่องต่อสำนักงาน และยื่นแบบฟอร์มขอรับการส่งเสริมฯ รวมถึงการยื่นใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ นักลงทุนให้การตอบรับดี

ทั้งนี้ การทำงาน การชักจูงการลงทุนผ่านระบบออนไลน์มีความคุ้มค่า ประสบความสำเร็จเช่นกัน ทั้งแบบสัมมนา หรือแบบหารือรายบริษัท ขณะเดียวกันทั้งมีจำนวนผู้เข้าร่วมต่อครั้งเพิ่มขึ้น ประหยัดงบประมาณของบีโอไอ ล่าสุดมีนักลงทุนอยากดูพื้นที่ลงทุนในนิคมฯ ก็ใช้โดรนในการถ่ายรูปบรรยากาศไปให้ ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง เมื่อสถานการณ์คลี่คลายเข้าระบบปกติ โควิดจบลง บีโอไอคงจะทำรูปแบบผสมระหว่างปกติ กับเว็บอินนาร์ เพราะขึ้นอยู่กับความต้องการนักลงทุน ความสะดวก และอนาคตการเดินทางเปลี่ยนไป ต้นทุนสูง เครื่องมือออนไลน์น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์ภายใต้นิว นอร์มอล เรียกว่า นวัตกรรมในการทำงาน

กระแสย้ายฐานการผลิตทั่วโลกหลังโควิด

จากกระแสการลงทุนของโลกมั่นใจว่าไทยยังเป็นตัวเลือกฐานการลงทุนอยู่ อย่างกรณีสหรัฐ ญี่ปุ่น ที่รัฐบาลเรียกบริษัทกลับประเทศ แต่กรณีต้องดูว่าต้นทุนเป็นยังไง กลับไปแล้วผลิตคุ้มทุนหรือไม่ และผลจากโควิดทำให้นักลงทุนต้องการกระจายฐานการผลิต ไทยน่าจะได้อานิสงส์ตรงนี้ คิดว่าจะเห็นการย้ายฐานเข้าไทยในปีนี้ ล่าสุดได้หารือกับนักลงทุนญี่ปุ่น พบว่าต้องการเข้ามาลงทุนไทยในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อาหาร สิ่งทอที่ใช้เทคโนโลยี อาทิ สิ่งทอการแพทย์ ส่วน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยประกาศกระตุ้นการลงทุนนั้นยังเดินหน้าอยู่ แต่เราเจาะอุตสาหกรรมที่มาแรงคือ เมดิคัล ออโตเมชั่น ดิจิทัล และเกษตรอาหาร อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุน (แพคเกจ) ในช่วงปลายปี 2562 และต้นปี 2563 บีโอไอได้ออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน อาทิ ไทยแลนด์ อินเวสต์เมนต์ เยียร์, ไทยแลนด์ พลัส พลัส เพื่อรองรับการย้ายฐานโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ยุทธศาสตร์ของบีโอไอคือการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยังเป็นหัวใจของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่พัฒนาไปไกลแล้วยังต้องส่งเสริมต่อไป

จะมีออกแพคเกจการลงทุนใหม่ๆ ออกมารองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลหรือไม่

ล่าสุดบีโอไอมีโจทย์ในการจัดทำแพคเกจส่งเสริมการลงทุนใหม่คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก เป็นความท้าทายใหม่ในการกระตุ้นการจ้างงานให้กับแรงงานที่คืนถิ่น บีโอไอต้องมาดูว่าจะปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ใหม่หรือไม่ อาจพิจารณาหารูปแบบมาตรการช่วยให้เกิดการลงทุนช่วยสร้างรายได้ สร้างงานในส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น เพื่อรองรับแรงงานคืนถิ่น เนื่องจากมีสถานประกอบการหยุดหรือปิดกิจการชั่วคราว และพิจารณาการปรับเกณฑ์จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ 20 จังหวัด จาก 77 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจดูจังหวัดอื่นเพิ่มเติม แต่ต้องสอดรับกับการขนส่งเพื่อส่งออกต่างประเทศด้วย ต้องดูว่าโปรเจ็กต์การจ้างงานนี้จะเกิดได้ในจังหวัดไหน ให้สอดคล้องกับทิศทางนโยบายของรัฐบาล

นอกจากนี้แพคเกจจะออกมาต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ฉบับปัจจุบันใกล้ครบ 7 ปี (1 มกราคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2564) อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดยุทธศาสตร์ใหม่เริ่มใช้ในปี 2565 จำเป็นต้องนำสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาประกอบการพิจารณายุทธศาสตร์ใหม่ด้วย หลังจากที่ผ่านมากำหนดยุทธศาสตร์กลไกประเทศไทย 4.0 แต่ตอนนี้โจทย์เราปนกัน ไฮเทคก็อยากได้ จ้างงานก็อยากมี ต้องมองหลายมิติ ตอนนี้นำตัวเลขมาดู แต่คงใช้เวลาออกแพคเกจไม่นาน น่าจะเห็นเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ เพราะรัฐบาลเองก็เร่งแผนการฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทออกมากระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยวันที่ 17 มิถุนายนนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน (บอร์ดบีโอไอ) จะพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนและจะมีการปรับปรุงประเภทกิจการให้เหมาะสมเพื่อกระตุ้นการลงทุนช่วงนี้

แพคเกจกระตุ้นการลงทุนเศรษฐกิจฐานรากของบีโอไอในปัจจุบัน

ที่ผ่านมา บีโอไอปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก เป็นมาตรการสนับสนุนให้เอกชนเข้าไปสนับสนุนองค์กรท้องถิ่น ปัจจุบันได้ขยายการสนับสนุนและขยายระยะเวลาการยื่นขอรับการส่งเสริมออกไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564

มาตรการเศรษฐกิจฐานรากนี้ ในการประชุมบอร์ดบีโอไอเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 ได้เพิ่มโครงการให้ผู้ประกอบการสามารถให้การสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวมเพื่อบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้ง และการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง หรือน้ำท่วมซ้ำซาก นอกเหนือจากการเข้าไปสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นใน 3 ประเภทกิจการคือ กิจการด้านการเกษตรและเกษตรแปรรูป กิจการในอุตสาหกรรมเบาและกิจการท่องเที่ยวชุมชน แผนการดำเนินการบริหารจัดการน้ำต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและสอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการน้ำของประเทศด้วย ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2564 ตามมาตรการนี้ ผู้ประกอบการจะได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 120 ของเงินสนับสนุนเป็นเวลา 3 ปี หรือให้ได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 120 ของเงินสนับสนุนแล้วแต่กรณี

แนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

จากสถิติย้อนหลัง 3 ปี ในแต่ละปีมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีขนาดการลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนโครงการทั้งหมดที่ยื่นขอบีโอไอ บีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอี โดยกำหนดคุณสมบัติของเอสเอ็มอีให้สอดคล้องกับคำนิยมของ สสว. คือต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 500 ล้านบาทในช่วง 3 ปีแรก

นอกจากนั้นแล้วตามมาตรการของบีโอไอ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน โดยบีโอไอได้ผ่อนปรนเงื่อนไขเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีต่างจากกิจการทั่วไป เช่น มีวงเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 500,000 บาท ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน และอนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการได้โดยมีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท และต้องลงทุนใหม่ในเครื่องจักรไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าเครื่องจักรที่ใช้ในโครงการ สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับคือ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี และการเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 เท่าจากเกณฑ์ปกติทั่วไป

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีการลงทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น ได้วงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 เท่า สำหรับเงินลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา และได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมหากมีการตั้งกิจการในพื้นที่ที่กำหนด เช่น หากตั้งกิจการใน 20 จังหวัด ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 3 ปี จากสิทธิพื้นฐานหรือหากตั้งกิจการในนิคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image