โคทม อารียา เสียงพลเมืองผู้ห่วงใย สู่ทางออกประชามติ 7 ส.ค.

นายโคทม อารียา

หมายเหตุ – นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ในนามเครือข่ายพลเมืองผู้ห่วงใย ให้สัมภาษณ์ มติชนŽ หลังรวม 117 รายชื่อ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักการเมือง ออกแถลงการณ์เรียกร้องผู้มีอำนาจ เปิดกว้างการแสดงความคิดเห็นในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอแนวทางหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้

– หลังจากเครือข่ายพลเมืองผู้ห่วงใยออกแถลงการณ์ จากนี้จะเดินหน้าอย่างไร

บอกตรงๆ วันนี้เรายังไม่ได้คุยกัน คงต้องรอให้มีการคุยกันก่อนถึงจะเดินหน้า ซึ่งตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาเรามีการคุยกันเป็นระยะๆ มีกิจกรรมบ้าง และที่ต้องมีรายชื่อบุคคลมากมายเพราะเราต้องการความหลากหลาย ความเป็นไปได้ในการหาจุดร่วม พลังจะมาจากทั้งตัวเนื้อหาและผู้ที่ลงนาม โดยเนื้อหานั้นสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกของสังคม ที่อยากเห็นการเปิดกว้างในการรณรงค์ประชามติ มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และอยากรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน นั่นเป็นความต้องการของคนจำนวนมาก ทว่าเรื่องของการเปิดพื้นที่ยังไม่มีความชัดเจน บางครั้งฝ่ายความมั่นคงบอกว่าจะเปิด แต่พฤติกรรมกลับไปอีกทางหนึ่ง ล่าสุดที่กระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะจัดเวทีในทั่วประเทศ ต่อมากลับบอกว่าจะให้เป็นเวทีปิดอันจำกัด ไม่มีการบันทึกเทป ส่วนที่ กกต.จัดอภิปรายหรือดีเบต ก็เป็นไปค่อนข้างจำกัด มีการคัดเลือกคนพอสมควร เท่าที่ดูการจัดเวทีต่างๆ ทุกวันนี้ ล้วนเป็นการจัดตั้งจากทางราชการ ไม่มีเวทีเสรีอื่น ให้คนได้รับฟังความคิดเห็น ขณะเดียวกันคนก็กลัวว่าถ้าต้องการจะจัดเวที ก็เกรงว่าจะผิดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผิด พ.ร.บ.ประชามติ ผมอยากเสนอแนะให้บรรยากาศออกมาเป็นแบบธรรมชาติ เปิดกว้างให้ทุกฝ่าย ทั้งผู้พูดและผู้ฟัง

– พอหักล้างกันได้หรือไม่ที่ฝ่ายความมั่นคงบอกว่าก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย

Advertisement

คสช.มักอ้างความไม่สงบ อ้างเหตุการณ์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อปี 2548-2549 การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 และความวุ่นวายก่อนรัฐประหารปี 2557 จากนั้น คสช.ก็ใช้อำนาจเด็ดขาดห้ามรวมตัวกันชุมนุมมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ถามว่าวิธีการดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขปัญหาให้บ้านเมืองกลับมาสงบดังเดิมได้หรือไม่ ถ้าไม่ใช้อำนาจกดทับจะมีความไม่สงบใช่หรือไม่ นั่นเท่ากับว่าปัญหาต่างๆ ยังอยู่ที่เดิม แค่มันถูกกดทับ ผมว่าตั้งแต่รัฐประหารมาจนถึงวันนี้ใช้เวลามาพอสมควรแล้ว ถ้าบ้านเมืองจะไม่สงบ แนวทางการแก้ไขปัญหาก็คงต้องเปลี่ยนไป และเชื่อว่าไม่มีผู้ใดต้องการใช้ความรุนแรง คือประชาธิปไตยต้องไม่ชี้นำ เราควรให้ประชาชนได้มีความคิดอ่านของตัวเอง เลือกกติกาทางการเมืองที่ดีเอง และผมเห็นว่าการใช้กติกาที่มีแต่อำนาจ อำนาจ และอำนาจนั้น ไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ใดๆ

– เหตุผลที่แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้มาโดยตลอด

ส่วนที่ 1) ผมว่าร่างฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สร้างสมดุลทางอำนาจทางการเมืองผิด หมายถึงมีการเอนเอียงไปข้างข้าราชการประจำและข้าราชการเกษียณ ขณะที่นักการเมืองซึ่งได้รับการเลือกตั้ง กลับถูกกำกับควบคุมจนเกินพอดี แบบนี้มีอัตราเสี่ยงสูงต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น ต้องรายงานความคืบหน้าการปฏิรูปในทุก 3 เดือน และหากนักการเมืองมีความผิดก็เท่ากับว่าจะมีการปลดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะ ส่วนที่ 2) ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ ดูแล้วเท่ากับเขียนเพื่อให้ คสช.คงไว้ซึ่งอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งอำนาจนิติบัญญัติและบริหาร โดยมีข้ออ้างต้องการปฏิรูปให้สำเร็จ ซึ่งความเป็นจริงแผนการปฏิรูปควรมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องมีใครมากำกับควบคุม แต่ควรหาแนวทางร่วมกัน ผมคิดว่าเราน่าจะมีวุฒิภาวะได้แล้ว หากไม่มีก็ต้องพยายามสร้างวุฒิภาวะด้วยตัวเอง ถ้าเราไม่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ การชี้นำ การใช้อำนาจก็จะไม่เติบโต

Advertisement

การอ้างเพื่อประคองประเทศช่วงเปลี่ยนผ่าน ผมว่าเป็นมายาคติหรือเปล่า ถามหน่อยเปลี่ยนผ่านจากอะไร ถ้าบอกว่าเพื่อไปสู่ประชาธิปไตย ก็ต้องมุ่งสู่สิ่งนั้น แต่เท่าที่เห็นมีเพียงผู้มีอำนาจที่ต้องการจะวางกฎระเบียบ กฎกติกา ปรับโครงสร้างด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้ผมไม่อยากให้ประชาชนรีบรับวาทกรรมต่างๆ แต่ควรไตร่ตรอง เพราะการประคับประคองบ้านเมือง ทำได้โดยการทำตามหน้าที่ของตัวเอง ทั้งราชการประจำ ตำรวจ ทหาร นักการเมือง นักวิชาการ ฯลฯ สามารถประคองบ้านเมืองได้ถ้ารู้จักหน้าที่ และคอยท้วงติงเมื่อเห็นว่าไม่ถูกไม่ควร ไม่ใช่มีองคาพยพหนึ่งบอกว่าฉันคือผู้นำ จะขอเข้ามาดูแลหน้าที่อื่นๆ ด้วย แบบนี้ไม่มีทางโต

– ทางออกหากประชามติไม่ผ่านสำคัญอย่างไร เครือข่ายพลเมืองผู้เป็นห่วงถึงได้เรียกร้อง

ไม่แฟร์ หากไม่เปิดเผยถึงทางออกว่าจะทำอย่างไรถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ คนเราต้องการการเปรียบเทียบ ต้องการรู้อะไรดีกว่าอะไร เหมือนเราจะซื้อรถยนต์สักคัน เราไม่ได้ยึดติดแค่ยี่ห้อเดียว เราจะอยากรู้ว่าทุกยี่ห้อมีข้อดีข้อเสียอย่างไร แม้มีคนมาบอกว่า จะไปรู้ทำไมในเมื่อสินค้าตัวนี้มันดีอยู่แล้วเราก็ไม่เชื่อ ดังนั้นจึงไม่แฟร์ถ้าไม่ให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือก ขณะเดียวกัน ผมว่ารัฐบาลคงวิตกเกินกว่าเหตุ กลัวว่าหากเสนออีกสินค้าหนึ่ง ประชาชนจะไปชอบสินค้านั้น แล้วทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหากร่างไม่ผ่านทางออกจะเท่ากับเจ๊าคือเสมอ หรือเจ๋ง คือมีอะไรที่ดีกว่า เพราะเมื่อประชาชนบอกว่าไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจมองว่าเป็นอะไรที่โหด แล้ว คสช.ยังจะเอาสิ่งที่โหดกว่านี้มานำเสนออีก ก็คงดูขัดกับความรู้สึกของคน ถึงวันนี้ผมไม่คิดว่า คสช.จะไม่ฟังเสียงประชาชน หากประชาชนบอกว่าไม่รับร่าง แต่ คสช.กลับบอกถ้าเช่นนั้นจะร่างให้โหดขึ้น นั่นเท่ากับการไม่ฟังเสียงประชาชน ที่ประชาชนไม่เอาเขาอาจมองว่าโหดพอแล้ว ดังนั้นพลเมืองผู้ห่วงใยจึงเรียกร้องหากจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขออย่าให้สิทธิเสรีภาพถดถอย การเมืองต้องสมดุล มีกลไกการปราบทุจริต รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขได้ง่ายขึ้นกว่าฉบับนายมีชัย มีการกระจายอำนาจ เป็นต้น

– ขั้นตอนการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเป็นอย่างไร

พลเมืองผู้ห่วงใย เราเสนอหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ให้ คสช.เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมา 1 ฉบับ อาจจะอิงความคิดของ คสช.สักนิดก็ได้ หรือนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาปรับแก้ให้เหมาะสมกับปัจจุบัน นำมาประกาศใช้ แล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นเป็นฉบับชั่วคราว หรือฉบับที่ 20 ในฉบับที่ 20 นี้ จะต้องเขียนขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ว่ามีกระบวนการอย่างไรบ้าง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นที่ยอมรับเพราะเกิดจากการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นี้สามารถทำให้แล้วเสร็จได้โดยไม่ต้องเร่งรีบ ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็บริหารประเทศไป กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญก็เดินหน้าควบคู่กันไป อาจจะใช้เวลาร่าง 2 หรือ 4 ปี ก็ได้ แนวคิดนี้เป็นวิธีการซึ่งคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ไม่ใช่การเขียนกฎหมายสูงสุดของประเทศให้ได้มาอย่างปัจจุบันทันด่วน เพราะหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 การเลือกตั้ง ส.ว. เกิดขึ้นปี 2543 และเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2544 ซึ่งระหว่างเขียนรัฐธรรมนูญประชาชนจะมีเวลาพอสมควรในการทำความเข้าใจ มีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ ทั้งยังมีเวลาออกกฎหมายลูก

– อะไรที่รัฐบาล-คสช.ไม่ควรทำ หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน

ไม่ควรเลื่อนการเลือกตั้ง เลื่อนโรดแมปออกไปอีก และไม่ควรเข้มงวดในเรื่องสิทธิเสรีภาพขึ้นไปอีก หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช.อาจกลัวเกินเหตุจนเกินไป และหากร่างรัฐธรรมนูญตกไปแล้ว คสช.จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อีก ก็ไม่ควรไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพ สร้างระบบการเมืองที่ไม่มีดุลยภาพ ไม่ควรลดหย่อนเรื่องปราบการทุจริต ไม่ยอมกระจายอำนาจ ทั้งนี้ รัฐบาลต้องตีความตามสัญญาณว่าที่ไม่ผ่านหมายถึงอะไร และอย่าแปลทุกเรื่องเข้าข้างตัวเอง เพราะธรรมชาติของคนมักจะเข้าข้างตัวเองอยู่แล้ว

ผมว่าเหตุผลที่ประชาชนจะตัดสินใจรับหรือไม่รับครั้งนี้ มีเหตุผลต่างๆ นานา บางคนรับเพราะนักการเมืองค้าน คือเขาอาจไม่ชอบนักการเมือง บางคนไม่รับเพราะเห็นว่าคนร่างเหมือนต้นไม้พิษ ผลออกมาก็อาจเป็นพิษ บางคนก็รับเพราะอยากจะไปเลือกตั้ง ขณะที่อีกหลายคนอาจมีเหตุผลอื่น ซึ่งเป็นเหตุผลจากที่ได้ศึกษาด้วยตัวเอง ผมตอบไม่ได้ว่ามันจะผ่านหรือไม่ผ่าน

– ฝากข้อคิดถึงคนไทยเกี่ยวกับประชามติครั้งประวัติศาสตร์นี้

ถึงวันนี้ผมว่าคนไทยตื่นตัวเรื่องการเมืองยังไม่มากพอ เพราะต้องเข้าใจว่าพื้นเพเดิมของเรามีความเป็นอุปถัมภ์ มีการจัดลำดับชั้นเชิงอำนาจมาแต่ไหนแต่ไร จะให้เปลี่ยนระบบคิดไปเสียหมดก็คงลำบาก ขณะที่ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯหรือเมืองใหญ่ๆ ยังเห็นว่าตัวเองเป็นผู้เสียภาษีหลัก แล้วคิดว่ามีนักการเมืองกลุ่มหนึ่งใช้เงินของเขาเพื่อเอาใจคนไม่เสียภาษี ชนชั้นกลางส่วนหนึ่งจึงไม่ไว้ใจนักการเมือง ผมมองว่าถ้าไม่ชอบนักการเมืองก็ไม่ต้องเอานักการเมืองก็ได้ แต่ถ้ายังชอบประชาธิปไตยก็ต้องทำให้นักการเมืองมีคุณภาพ ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยจะทำให้ประเทศไทยทันสมัยและก้าวหน้า แต่ต้องทำให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพ ส่วนการออกเสียงประชามติครั้งนี้ เราได้ประโยชน์มหาศาลจากการเป็นพลเมือง และวันนี้เขาขอร้องให้เราทำหน้าที่ซึ่งก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร วันที่ 7 สิงหาคม 08.00 น.-16.00 น. ไปทำหน้าที่เถอะครับ

ถ้ายังตัดสินใจไม่ได้ก็ควรหาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image