“2 นักวิชาการ” ถกร่าง-ส่องอนาคตสังคมไทย

หมายเหตุ – 43 องค์กรร่วมกันจัดกิจกรรม “ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กำหนดอนาคตประชาชน” และกิจกรรมสนทนา “ถกร่างรัฐธรรมนูญ” โดยนายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง และมีการจัดปาฐกถา “ประชามติ 7 สิงหา กับอนาคตสังคมไทย” โดย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ สมาชิกคณะนิติราษฎร์

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

สิ่งแรกที่เราควรคิดกันคือ ประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม จะมีอยู่หรือไม่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนเพราะเราอยู่ในสถานการณ์ที่มาตรา 44 ยังคงให้อำนาจแก่ คสช.ในการตัดสินใจจัดทำประชามติหรือยกเลิกการทำประชามติเมื่อไรก็ได้ อย่างไรก็ตามส่วนตัวคิดว่า หนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ สมมุติว่าผ่านจะเป็นการตรึงสังคมไทยให้อยู่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ชนิดที่ยากจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ เพราะแม้ว่าจะเขียนหลักการในการแก้ไขเอาไว้ แต่ก็ทำได้ยากอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทั้ง 19 ฉบับ ไม่มีฉบับใดเปลี่ยนแปลงแก้ไขผ่านทางรัฐธรรมนูญได้ยากเท่ากับฉบับนี้

การเปลี่ยนแปลงได้ยากนั้นมีนัยสำคัญต่อสังคม เพราะการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยาก หากถึงวันหนึ่งไม่สามารถทำในรัฐธรรมนูญได้ สุดท้ายจะเป็นการสร้างเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงโดยวิถีนอกรัฐธรรมนูญ อาจนำไปสู่ความรุนแรงและสูญเสียได้ในอนาคต

Advertisement

ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน จะเป็นการยอมรับคงอยู่ต่อไปของมาตรา 44 ถือว่าเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะทำให้อำนาจของทหารสิ้นสุดลง หลังจากผ่านการทำประชามติ อำนาจของ คสช.ควรจะต้องสิ้นสุดลง แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น คสช.จะยังคงอยู่ต่อไปในมาตรา 44 และยังคงเป็นมรดกตกทอดอยู่ต่อไป

ดังนั้น ถามว่าถ้าเราจะตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง เราควรจะดูร่างรัฐธรรมนูญนี้จากหลักเกณฑ์ของเหตุผล ต้องเริ่มต้นว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร หากมองในทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ มีเนื้อหาสองส่วน คือ การจัดการโครงสร้างของรัฐ การจัดรูปแบบการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรทางการเมือง การเข้าสู่ตำแหน่งองค์กรทางการเมือง อีกส่วนหนึ่งคือการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ องค์กร และประชาชน ดังนั้นหากเราจะดูว่ามีปัญหาหรือไม่ต้องดูจากสองส่วนนี้

ส่วนที่สำคัญคือ การจัดโครงสร้างการเข้าสู่ตำแหน่งองค์กรทางการเมือง เริ่มตั้งแต่ระบบเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนเหลือคะแนนเสียงเพียงคะแนนเดียว ปัญหาใหญ่ที่สำคัญคือที่มาของ ส.ว. มีการอธิบายว่าควรจะให้มี ส.ว.อยู่เหมือนเดิม แต่มาจากการคัดเลือกกันเอง ทั้งที่มีอำนาจอย่างมากในการร่วมกันตรากฎหมายร่วมกับ ส.ส. จึงทำให้ ส.ว.มีอำนาจมาก แต่มีความชอบธรรมน้อย

อีกทั้งเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วจะได้บุคคลขึ้นมาเป็นรัฐบาล เป็นรัฐบาลที่ทำอะไรได้อย่างยากลำบาก เนื่องด้วยกฎเกณฑ์ภายในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คอยร้อยรัดให้รัฐบาลกลายเป็นองค์กรประจำที่ทำงานทำหน้าที่ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และทำงานตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างยากลำบาก โดยอ้างว่าต้องทำเช่นนี้เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนและประชานิยม เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักน้อย

แต่ในขณะเดียวกันกลับมีการเพิ่มอำนาจของศาลและองค์กรอิสระให้มีมากยิ่งขึ้นแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 5 เขียนเอาไว้ว่า หากไม่มีกฎหมายกำหนดในกรณีใด ให้บังคับตามประเพณีการปกครอง เราต่างไม่รู้ว่าประเพณีนั้นคืออะไร และอำนาจตรงนี้จะไปอยู่ที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญจะเรียกประชุมและพิจารณา หากดูในที่ประชุมแล้วจะพบว่าองค์กรไม่ได้มีที่มายึดโยงจากประชาชนนั้นมีมากกว่าองค์กรที่มีที่มาจากประชาชน ดังนั้นคงเป็นเรื่องยากที่องค์กรที่มีที่มาจากประชาชนจะชนะในการประชุมได้

ส่วนเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน มีการเขียนไว้อย่างสวยหรู และเขียนไว้มาก แต่ความเป็นจริงแล้วเรื่องสิทธิเสรีภาพไม่ได้อยู่ที่เขียนมากหรือน้อย แต่อยู่ที่จะมีกลไกทางกฎหมายจะเคารพสิทธิของประชาชนจริงๆ หรือไม่ต่างหาก ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะมีการเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพเอาไว้มาก แต่เปิดช่องให้มีการจำกัดสิทธิเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน ดังนั้นการให้สิทธิจึงมีความหมายน้อยลงและไม่ได้เป็นอย่างที่เขียน

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การแสดงความรับผิดชอบหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการทำประชามติ แม้ว่าจะมีการแสดงความเห็นของบุคคลท่านหนึ่งที่ว่า การแสดงความเห็นไม่รับร่างเป็นความต้องการอยากจะให้ คสช.อยู่ต่อไปนานๆ ความเป็นจริงแล้ว การแสดงความเห็นผ่านไม่ผ่าน หากพิจารณาอย่างง่ายที่สุด คือเห็นชอบกับไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คนที่ตั้ง กรธ.ขึ้นมาก็คือ คสช. ดังนั้นคำถามคือ คนที่เป็น กรธ.ควรมีความรับผิดชอบหรือไม่ ไม่ใช่ร่างไม่ผ่านแล้วก็ร่างต่อไปเรื่อยๆ

อีกประเด็นหนึ่งคือ การกล่าวอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบคนโกง ปราบการทุจริตคอร์รัปชั่น เท่าที่ศึกษาจากหลายประเทศยังไม่เห็นว่ามีการเขียนในลักษณะนี้ได้ เพราะหากเรานึกดูดีๆ หากการปราบทำได้ง่ายเพียงแค่เขียนไว้ในตัวหนังสือในร่างรัฐธรรมนูญ และปราบได้ ทุกประเทศคงเขียนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยหลักการประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้น การเขียนรัฐธรรมนูญ สุดท้ายหากสืบสาวสายอำนาจย้อนกลับไปจะต้องกลับไปถึงที่มานั่นก็คือประชาชนได้ แต่ถ้าเราสืบสาวแล้วอำนาจเหล่านั้นไม่ได้มีที่มาซึ่งมาจากประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้นก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย

สุดท้ายสิ่งที่เผด็จการกลัวที่สุด ก็คือไฟที่ลุกโชติช่วงอยู่ในใจของทุกคนที่ดับไม่ได้ เผด็จการทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างไร ถูกฉาบเคลือบด้วยเครื่องแบบใด สิ่งเดียวที่เขาชอบคือความหวังในการใฝ่หาเสรีของผู้คนนั้นดับลง

แต่หากความหวังนั้นยังโชติช่วงและมั่นคงเสมอ วันหนึ่งเผด็จการจะรู้ว่าเขาดับไฟของประชาชนไม่ได้ และเมื่อถึงเวลาที่ไฟของประชาชนนั้นรวมกัน วันนั้นเราจะมีประชาธิปไตยและมีกฎหมายที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

ท่ามกลางรัฐธรรมนูญที่เรามีมาตั้งแต่อดีตมาจนถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คล้ายกับวิทยานิพนธ์ คือไปหยิบยืมจากหลากหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมาเราร่างโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือตอบสนองต่อผู้มีอำนาจ โดยไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ไม่ยึดโยงกับสังคม วัฒนธรรมของประเทศไทย

ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงไม่เคยมีสักฉบับศึกษาปัญหาความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ศึกษาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบก่อนให้คนมาร่าง เพราะสภาพของประเทศไทยทั้งประเทศไม่เหมือนกัน การใช้กฎหมายเดียวกันจากการศึกษาเพียงภูมิภาคเดียวนั้นอาจจะมีปัญหา จึงต้องศึกษาอย่างทั่วถึงเพื่อเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง

โดยหลักการแล้วรัฐธรรมนูญจะต้องสั้น ไม่เกิน 100 มาตรา และสาระสำคัญหรือรายละเอียดจะต้องใส่ไว้ในกฎหมายประกอบร่างรัฐธรรมนูญ เวลาแก้ไขก็แก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ควรมีที่มาจากประชาชน ประชาชนมีสิทธิเสียงทักท้วงได้ มีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมและใช้เวลาร่างราวๆ ปีกว่านั่นคือหลักการ แต่สิ่งที่เห็นคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีมากถึง 279 มาตรา ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แย่กว่าทุกฉบับ ที่พูดนั้นไม่ได้เป็นการบิดเบือน เพราะหากไปไล่ดูโดยอ้างอิงหลักการประชาธิปไตย เราจะเห็นได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยไม่ได้มีที่มาจากประชาชน แต่มาจากคนถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลเผด็จการ และอำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

สิ่งที่เราเห็นอีก คือมีการให้อำนาจเพิ่มลงในองค์กรอิสระโดยองค์กรอิสระเหล่านี้ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน องค์กรอิสระได้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน แต่กลับไม่มีการเลือกตั้งทั้งทางตรง และทางอ้อม อีกประเด็นที่ส่วนตัวรับไม่ได้คือระบบเลือกตั้ง ความจริงแล้วเป็นระบอบประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนใช้อำนาจเลือกได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงที่มาของ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดคือหลักการ หากใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนแล้วจะต้องมีการเลือกตั้งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ ส.ว.ที่มีอำนาจมหาศาลกลับไม่มีการยึดโยงกับประชาชนเลยแม้แต่น้อย

สิ่งที่เห็นในร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศนี้ดูถูกประชาชนอย่างถึงที่สุด รวมไปถึงสิทธิเสรีภาพที่อ้างถึงในร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่มีกลไกที่ช่วยให้มีการปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

ส่วนทางออกหลังจากการมีประชามติ คือสถานการณ์ในตอนนี้ สิ่งที่ผู้มีอำนาจกระทำอยู่เป็นการฝืนมติของประชาคมโลก ถ้าคุณรักประชาชนจริงก็ควรคืนอำนาจให้กับประชาชน แต่ส่วนตัวยังไม่เชื่อว่าคนมีอำนาจเผด็จการจะเปลี่ยนใจทิ้งอำนาจของตัวเอง ดังนั้นการแสดงออกของประชาชนที่มีต่อสิ่งไม่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ ประชาชนจะต้องแสดงให้พวกเขาเห็น ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

คำแนะนำที่มีต่อประชาชนในการอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของประเทศที่ทำลายระบบการศึกษา ทำให้ประชาชนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง ยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนในการอ่านให้ครบทั้งฉบับ เน้นไปตั้งแต่ที่มาของร่างรัฐธรรมนูญและรายละเอียดในหมวดหมู่ต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ

ดังนั้น ก่อนวันที่ 7 สิงหาคม ท่ามกลางโฆษณาชวนเชื่อเป็นจำนวนมากที่พูดถึงแต่เรื่องสิทธิเสรีภาพ พูดถึงแต่เรื่องการปราบโกง ทั้งที่มีกฎหมายเอาไว้จัดการ แต่ไม่ได้พูดถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชน สิ่งที่พวกเราต้องทำก่อนจะถึงคือต้องบอกต่อๆ กัน แตกเซลล์ แตกหน่อ ให้ข้อเท็จจริงกระจายออกไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image