ยูเอ็นรับเรื่องร้องเรียน ‘วันเฉลิม’ ถูกอุ้ม ส่งต่อกัมพูชาดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์) ออกหนังสือระบุถึงการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องในกรณีการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอให้มีการดำเนินการภายใต้มาตรา 30 ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย(ซีอีดี) ซึ่งได้มีการยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการตามอนุสัญญาฯแล้ว และทางคณะกรรมการฯได้ส่งจดหมายทางวาจาไปยังกัมพูชา เพื่อให้มีการดำเนินการตามมาตรา 30 ภายใต้อนุสัญญาฯดังกล่าวในกรณีการหายตัวไปของนายวันเฉลิม

ทั้งนี้เนื้อความในหนังสือของยูเอ็นเอชอาร์มีใจความว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับคำร้องขอเพื่อให้ดำเนินการเร่งด่วนตามมาตรา 30 ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลมิให้ถูกบังคับให้สูญหาย (ซีอีดี) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ในเรื่องเกี่ยวกับการบังคับสูญหายของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

“คำร้องขอของท่าน คณะกรรมการฯ ได้นำขึ้นทะเบียนไว้แล้วเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน อันเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติในมาตรา 30 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลมิให้ถูกบังคับให้สูญหาย (ซีอีดี) ตามหนังสืออ้างอิงเลขที่ ยูเอ897/2020

สืบเนื่องจากเนื้อหาของข้อมูลที่จัดส่งมา ทางคณะกรรมการตามอนุสัญญาฯ ได้ส่งบันทึกทางวาจา ( a note verbale) ไปยังรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2020 ร้องขอให้ดำเนินการเร่งด่วนโดยทันที เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 30 ของอนุสัญญาฯ อัโดยได้ดำเนินการดังนี้

Advertisement

“ในนามเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็น) ได้นำเสนอการดำเนินการต่อ ผู้แทนถาวรราชอาณาจักรกัมพูชาประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เพื่อให้ถ่ายทอดคำร้องขอให้ดำเนินการเร่งด่วนของคณะกรรมการตามอนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 30 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลไม่ให้ตกเป็นผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าเกิดการบังคับให้สูญหายขึ้นกับนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีผู้ร้องขอให้ดำเนินการเป็นกรณีเร่งด่วน ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วภายใต้หมายเลขอ้างอิง ยูเอ897/2020”

ด้านนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์ วอช ประจำประเทศไทยกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกัมพูชาได้รับหนังสือสอบถามจากสถานทูตไทยแล้ว รวมทั้งคณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย (ซีอีดี) องค์การสหประชาชาติก็รับเรื่องนี้ไว้แล้ว พร้อมทั้งขีดเส้นรัฐบาลกัมพูชาต้องชี้แจงคำตอบภายใน 24 มิ.ย. จึงไม่มีข้ออ้างที่จะปฏิเสธไม่รับรู้ หรือไม่สอบสวน

ทั้งนี้ มาตรา 30 ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย (ซีอีดี) ระบุว่า 1. ในกรณีที่มีความเร่งด่วน ญาติหรือผู้แทนทางกฎหมายของผู้สูญหาย ที่ปรึกษาหรือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้สูญหาย หรือบุคคลใดที่มีส่วนได้เสียที่สมเหตุสมผล อาจยื่นข้อร้องเรียนให้มีการติดตามหาผู้สูญหายต่อคณะกรรมการได้ 2. หากคณะกรรมการพิจารณาแล้วว่าข้อร้องเรียนกรณีเร่งด่วนที่ได้ยื่นภายใต้วรรค 1 ของข้อนี้ (ก) มิได้เป็นข้อกล่าวหาเลื่อนลอยอย่างชัดแจ้ง (ข) มิได้เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในทางที่ผิด (ค) ได้มีการร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น หน่วยงานที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน
ในกรณีที่มีช่องทางที่จะกระทำได้ (ง) มิได้เป็นการขัดต่อบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ (จ) มิได้อยู่ภายใต้การตรวจสอบโดยกระบวนการระหว่างประเทศอื่น หรือการระงับข้อพิพาทอื่นที่มี ลักษณะคล้ายกัน คณะกรรมการจักได้ขอให้รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว ภายในกรอบเวลาที่คณะกรรมการกำหนด

3.เมื่อคณะกรรมการพิจารณาข้อมูลที่ได้รับจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องตามข้อ 30 วรรค 2 อาจพิจารณานำส่ง ข้อเสนอแนะหรือคำร้องต่อรัฐภาคีเพื่อกำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็น ซึ่งรวมไปถึงมาตรการชั่วคราว เพื่อ ติดตามและคุ้มครองบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีของอนุสัญญานี้ภายในเวลาที่กำหนด โดยคำนึงถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์ โดยคณะกรรมการจะแจ้งบุคคลที่ยื่นข้อร้องเรียนกรณีฉุกเฉินเกี่ยวกับข้อเสนอแนะที่ได้นำส่งต่อรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลที่ได้รับจากรัฐภาคีดังกล่าวในโอกาสแรก 4.คณะกรรมการจะประสานงานกับรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องตราบใดที่ยังไม่ปรากฏสถานะที่ชัดเจนของบุคคล ตามคำร้องเรียน และจะแจ้งข้อมูลให้บุคคลที่ยื่นคำร้องเรียนเพื่อทราบอย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image