ศ.ดร.ธเนศ เล่าปม ‘ผิวสี’ หนุนไอเดียสหรัฐ คืนอำนาจท้องถิ่น ตั้ง ‘ตำรวจบ้าน’ ใช้โมเดล อสม.

สืบเนื่องจากกรณี จอร์จ ฟลอยด์ ชายแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งเสียชีวิตขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ฐานต้องสงสัยพยายามใช้เงินปลอม 20 ดอลลาร์ จนเป็นที่มาของการเดินขบวนประท้วงในสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกิจการตำรวจนั้น

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวในเวทีเสวนา “จากจอร์จ ฟรอยด์ ถึงวันเฉลิม จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร” ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เพจ “สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)” ในฐานะที่เคยศึกษาที่สหรัฐอเมริกา ด้านประวัติศาสตร์การเมือง

ศ.ดร.ธเนศกล่าวว่า ปัญหานี้มีทั้งรากเหง้า กิ่งก้าน และ ลำต้นรองรับ เหมือนต้นไม้ที่โตแล้วถูกตัด ลิดรอนด้วยลม แต่แล้วก็ฟื้นกลับมา เรื่องการเหยียดเชื้อชาติสีผิว (Racism) ในอเมริกาต่างจากที่อื่น ด้วย ปัจจัยทางประวัติศาสตร์ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และองค์กระกอบของประชากร ทำให้มีการดำรงอยู่ของลัทธิเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งปรากฏการณ์ล่าสุดเตือนให้รู้ว่าการกระทำเหล่านี้ของตำรวจฟื้นกลับมาจากช่วงหนึ่งที่ถูกทำลายไป หลัง มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ เคลื่อนขบวนเรียกร้องสิทธิมนุษยชน พลเมืองในอเมริกา เกิดการประท้วงใหญ่ที่วอชิงตันดีซี เมื่อปี ค.ศ.1964 จนกระทั่งถูกฆ่าเสียชีวิต

“ปัจจุบันเหมือนย้อนกลับไป ปี ค.ศ.1968 ซึ่งหลังจากเลิกทาส รัฐธรรมนูญเปลี่ยน คนดำมีสิทธิเสรีภาพ ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เกือบ 10 ปีมีคนผิวสีได้เข้าไปนั่งในรัฐสภากว่า 1,000 คน แต่ก็เป็นประวัติศาสตร์ช่วงสั้นๆ ในยุครีคอนสรักชั่น (ค.ศ.1865-1877)

Advertisement

ปี 1890 คนขาวยึดภาคใต้กลับไป และ ออกกฎหมาย ‘Jim Crow laws’ แบ่งแยกพื้นที่สาธารณะระหว่างคนดำกับคนขาว ไม่ให้ใช้ร่วมกัน จนกลายเป็นค่านิยม ความเชื่อ และอุปนิสัยที่คนดำเจอคนขาวบนรถเมล์ต้องเดินไปแถวหลังสุด ไม่กล้านั่งหน้า และเป็นสำนึกของคนอเมริกันผิวขาวว่าถ้าเจอจะฆ่าเขา ซึ่งเริ่มมาจากยุคทาส ตัวอย่างคนดำฆ่านายทาสผิวขาวทำให้มีจิตสำนึกความหวาดระแวง และมองว่ามีความชอบธรรมในการเหยียด ด้วยความเชื่อที่ถูกส่งผ่านทางสื่อ”

ศ.ดร.ธเนศกล่าวอีกว่า การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้รับเสียง เพราะเคยสัญญาไว้ว่าจะเอาอุตสาหกรรมเก่าขึ้นมา ซึ่งสมัยบารัค โอบามา พยายามเอาออก คนผิวขาวจึงไม่พอใจ

“สมัยโอบามา การต่อต้านสีผิวเริ่มกลับมา แต่ไม่เป็นข่าวเพราะคนกำลังตื่นเต้นที่มีประธานธิบดีผิวสีคนแรก เหมือน 14 ตุลาฯ เราเชื่อว่าประชาชนชนะแล้ว ซึ่งโอบาม่าอยู่ได้ 8 ปี ก็พัง เพราะฝ่ายขวาผนึกเป็นแถว ตั้งแต่ศาล ตำรวจ และทุกหน่วยงาน เริ่มใช้วิธีกีดกันคนผิวดำอย่างเงียบๆ เป็นการฟื้นขึ้นมาของแรงต้าน ที่คนชั้นล่างเริ่มมีอนาคตดีในอเมริกา แต่คนผิวขาวฝ่ายอนุรักษนิยมกำลังตกขอบ ดังนั้น การขึ้นมาของทรัมป์ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มาได้ด้วยการที่พวกฝ่ายขวาปูทางให้ เพราะลำพังหาเสียงไม่มีทางเอาชนะได้ ทุกฝ่ายพร้อมใจกัน ทำอย่างไรที่จะกั้นคนผิวดำไม่ให้ขึ้นมามีอำนาจ”

Advertisement

“ถามว่าทำไมกิจการตำรวจถึงกลายเป็นเป้า เพราะจุดแรกที่จะสร้างความหวาดกลัวให้คนผิวดำ คือ สงครามกลางเมือง ‘Ku Klux Klan’ หรือ KKK จุดไฟเผาบ้านคนดำตอนกลางคืน คือที่มาของการรื้อฟื้น นี่คือ 1890 ในปี 2000 กฎหมายแบบ 1890 ที่แบ่งแยกและเท่ากันกำลังกลับมาในอเมริกา แต่ที่ออกมาประท้วงตอนนี้มีทั้งคนดำ คนผิวขาว และผิวอื่นๆ เพราะรู้สึกว่าอำนาจรัฐอเมริกันตอนนี้ ทั้งกฎหมาย เศรษฐกิจ กำลังรวมหัวกดขี่คนจำนวนหนึ่งที่ขาดโอกาส มาจากที่อื่น เพิ่งตั้งตัวใหม่ และคนที่อยู่มาก่อนอย่างคนผิวดำ จึงเป็นเป้านิ่ง สร้างกระแสให้อีกฝ่ายดังขึ้นมาได้” ศ.ดร.ธเนศกล่าว และว่า

ถ้าไม่มีเครื่องมือโซเชียลมีเดีย เล่นงานตำรวจอเมริกันยาก เพราะการให้ใบสั่งคนผิวดำเป็นการหารายได้พิเศษ ซึ่งโอบามาสั่งให้มีการปฏิรูป และออกกฎหมายช่วย เป็นยุคที่เริ่มมีความหวัง ทุกคนเริ่มเชื่อว่าดีขึ้น แต่อีกไม่กี่ปีก็มีคนถูกยิงตายที่ภาคใต้ ตอนนี้ที่จัดการยากเพราะมีสหภาพตำรวจ เป็นอดีตตำรวจ คอยช่วยปกป้อง คนผิวดำตำรวจยอมความไม่ได้ คือวิบากกรรมของคนผิวดำในอเมริกา ซึ่งทางฝ่ายประท้วงกำลังชูข้อเรียกร้องให้เลิกระบบตำรวจที่เป็นอยู่ตอนนี้

“ไหนๆ ก็เริ่มในอเมริกาแล้ว ก็น่าคิดได้ว่า ระบบรักษาความปลอดภัยระดับท้องถิ่นควรจะจัดการด้วยภาคประชาสังคมกันเอง แนวคิดเดิมเกิดขึ้นจาก ‘รัฐชาติ’ ที่ต้องการรักษาความมั่นคงของชาติตัวเอง ซึ่งอธิบดีตำรวจก็ต้องเป็นฝ่ายของนายกฯ หัวหน้าตำรวจก็ต้องเป็นฝ่ายประธานาธิบดี คล้ายกัน ฉะนั้น การใช้อำนาจแบบผิดๆ ไม่มีทางแก้ได้ในโครงสร้างอำนาจที่ตำรวจยึดโยงกับรัฐ เป็นองค์กรปราบปราม ซึ่งความแตกต่างคือมีความชอบธรรมในการใช้กำลัง แต่สังคมไม่มีเครื่องมือนี้

“เรามาถึงจุดที่คนเคยเชื่อว่า ‘สังคมไม่ต้องมีกำลังเพราะรัฐปกป้องให้’ แต่ 100 กว่าปีมานี้พิสูจน์แล้วว่า รัฐไม่เคยปกป้องเรา แต่ปกป้องตนเองและผู้ใช้อำนาจก่อน ถึงตอนนี้ประชาสังคมทั่วโลกต้องบอกว่า แยกกันดีกว่า ความเป็นประชาธิปไตยในอเมริกาตอนนี้เปิดช่องให้ทำได้ ใช้ตำรวจที่เลือกหรือจ้างกันเอง จัดการกันเอง แล้วดูว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าเก่าหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยกับไอเดียนี้ เมืองไทยก็ทำได้ ความมั่นคงปลอดภัยระดับชาวบ้านต้องอยู่ในมือประชาสังคม ดึงอำนาจจากส่วนกลางมาเป็นของประชาชนได้แล้ว กระจายอำนาจสู่ชุมชน อเมริกันเริ่มทำแล้ว เสนอให้มีการปฏิรูปตำรวจ ให้ชาวบ้านแต่ละเมืองตั้งหน่วยคุ้มครองความปลอดภัยขึ้นมา อสม.เรายังทำได้ ซึ่งก็ได้ผลดี ก็ทำตำรวจบ้าน แล้วขยายไปเป็นครูประจำหมู่บ้าน จะแก้ปัญหาทั้งหมด” ศ.ดร.ธเนศกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image