รายงานหน้า 2 : เสียง‘อจ.-ผู้บริหารอปท.’ หนุนเร่งเลือกตั้งท้องถิ่น คืน‘ปชต.’ให้ประชาชน

เสียง‘อจ.-ผู้บริหารอปท.’ หนุนเร่งเลือกตั้งท้องถิ่น คืน‘ปชต.’ให้ประชาชน

รายงานหน้า 2 : เสียง‘อจ.-ผู้บริหารอปท.’ หนุนเร่งเลือกตั้งท้องถิ่น คืน‘ปชต.’ให้ประชาชน

หมายเหตุ ความเห็นจากนักวิชาการและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่าอาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นออกไป เนื่องจากงบประมาณที่จะใช้จัดการเลือกตั้งมีไม่พอเพราะถูกโอนไปใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19

ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เสียง‘อจ.-ผู้บริหารอปท.’ หนุนเร่งเลือกตั้งท้องถิ่น คืน‘ปชต.’ให้ประชาชน

Advertisement

ที่นายวิษณุบอกว่าเงินหมด ไม่มีใช้เลือกตั้งท้องถิ่น เป็นข้ออ้างที่ค่อนข้างตลก งบเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้มาจากส่วนกลาง แต่ท้องถิ่นนั้นๆ ตั้งงบประมาณไว้ ดังนั้น ต้องกลับไปดูว่าแต่ละท้องถิ่นนำงบไปสู้โควิด-19 หมดแล้วจริงหรือไม่ คิดว่าคงไม่ใช่ เชื่อว่าแต่ละท้องถิ่นอยากเลือกตั้งกันอยู่แล้ว

ต้องไม่ลืมว่าตอนนี้เราถูกล็อกโดยประกาศ คสช.อยู่หลายฉบับ ทำให้สมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการสรรหา และเชื่อว่ามีงบประมาณอยู่ แต่การที่นายวิษณุออกมาพูดเช่นนี้ดูเป็นข้ออ้างที่ประหลาด เหมือนบอกว่าจะบริหารราชการแผ่นดิน แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะเงินหมดแล้ว

งบดังกล่าวมาจาก อปท.ตั้งเป็นงบประมาณรายปี เป็นงบเลือกตั้งที่ท้องถิ่นบริหารจัดการเองอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือไม่เข้าใจว่านายวิษณุพูดในลักษณะนี้หมายความว่าการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินปีงบประมาณหน้าจะไม่สามารถตั้งงบส่วนนี้ได้ เพราะเงินหมดแล้ว หรือ ณ ปัจจุบันนี้ เงินที่เตรียมไว้ได้ถูกใช้ไปหมดแล้ว

ปัญหาการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดจากความชุ่ย ไม่มีการเตรียมตัว วางแผน หรือบริหารจัดการที่ดีพอ จะบอกว่ารวมศูนย์หรือไม่ หรือจะเป็นแผนอยู่ยาวหรือไม่ คิดว่าไม่ใช่

ประเมินว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้คือต้นปีงบประมาณ 2564 หรือวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป เพราะขณะนี้ทำงบประมาณแผ่นดินไปแล้วว่าปีหน้าจะใช้จ่ายอย่างไรบ้าง

ท้องถิ่นควรจัดเลือกตั้งได้แล้ว เพราะผ่านมากว่า 6 ปีแล้วที่ไม่ได้เลือกตั้ง เราเห็นแล้วว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากประกาศ คสช.ไม่ตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

รศ.ดร.วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

เสียง‘อจ.-ผู้บริหารอปท.’ หนุนเร่งเลือกตั้งท้องถิ่น คืน‘ปชต.’ให้ประชาชน

เรื่องงบประมาณที่นายวิษณุกล่าวอ้างเป็นเงื่อนไขหนึ่ง แต่อาจมีเหตุผลอื่น หากรัฐบาลมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็น่าจะจัดสรรงบประมาณส่วนกลางเพิ่มเติม

ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่อยากให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น อาจมองได้ว่าสถานการณ์การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นยังอยู่ในสภาวะที่ไม่เป็นแต้มบวก ดังนั้น การเลื่อนออกไปจะมีผลบวกกับขั้วรัฐบาล เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นถือเป็นฐานเสียงสำคัญของการเมืองระดับชาติ เรียกได้ว่าเป็นไพ่สำคัญ หากไม่มั่นใจการลงสนามต่อสู้อาจไม่ได้ชัยชนะ การเลื่อนออกไปไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีโอกาสเตรียมตัวมากขึ้น

อีกแง่ก็มองได้ว่า หากการเลือกตั้งท้องถิ่นผ่านไป อำนาจในการบริหารจะกลับคืนสู่ท้องถิ่น การรวมศูนย์อำนาจก็ต้องปล่อยเพราะมีการกระจายมากขึ้น

อยากเห็นหลายฝ่ายทั้งนายวิษณุ อาจารย์ท่านอื่นๆ หรือจากสำนักงบประมาณ ฝ่ายค้าน และภาคประชาสังคม มานั่งพูดคุยกัน เราจะได้เห็นเหตุผลของฝ่ายต่างๆ ว่างบประมาณมีข้อจำกัดอะไร สามารถเบิกงบ ส่วนอื่นมาใช้ได้หรือไม่ เพื่อสื่อสารไปยังประชาชน

บรรณ แก้วฉ่ำ
นักวิชาการด้านกฎหมายท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ

เสียง‘อจ.-ผู้บริหารอปท.’ หนุนเร่งเลือกตั้งท้องถิ่น คืน‘ปชต.’ให้ประชาชน

ที่นายวิษณุระบุว่าไม่มีงบประมาณจัดเลือกตั้ง อปท.นั้น จากการตรวจสอบพบว่ามี อบต.ขนาดเล็กไม่กี่แห่งที่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ แต่หากรัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้ง จะทำให้ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง ดังนั้นเงินเดือนค่าตอบแทนที่เหลือจ่ายสามารถนำมาจัดเลือกตั้งได้

ดังนั้นที่อ้างว่า อปท.งบไม่เพียงพอ แก้ไขได้ โดยไม่กำหนดวันเลือกตั้งพร้อมกันได้ กทม.กับ อบจ.สามารถจัดเลือกตั้งพร้อมกันทั้งประเทศได้ เพราะไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ ดังนั้นให้จัดเลือกตั้ง กทม.และ อบจ.ก่อนได้

ส่วนการเลือกตั้งเทศบาลกับ อบต. ไม่จำเป็นต้องจัดพร้อมกันทั้งประเทศ เพราะเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก และการจัดเลือกตั้งในแต่ละแห่งพร้อมกัน ยังจะเป็นประโยชน์กว่า เช่น การจัดพิมพ์เอกสารที่ใช้ในการเลือกตั้ง หากจัดเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศจะจัดพิมพ์ไม่ทัน ดังนั้นถ้าเทศบาล และ อบต.บางแห่ง งบไม่พร้อม ก็จัดเลือกตั้งในองค์กรที่มีความพร้อมก่อน

ทั้งนี้ อปท.ไม่มีอำนาจหน้าที่จัดเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรง เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่มอบภาระดังกล่าวให้ อปท.ดำเนินการแทน ดังนั้นควรจัดงบให้ อปท.ด้วย หาก อบต.หรือเทศบาลที่ไม่พร้อมเรื่องงบ กกต.ต้องจัดหางบมาให้ด้วย

ธเนศวร์ เจริญเมือง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

เสียง‘อจ.-ผู้บริหารอปท.’ หนุนเร่งเลือกตั้งท้องถิ่น คืน‘ปชต.’ให้ประชาชน

ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง อปท. กว่า 7,800 แห่ง โดยผู้บริหารชุดเดิมรักษาการแทน จึงเกิดระบบเช้าชามเย็นชาม ไม่ตอบสนองความต้องการประชาชน ส่งผลให้ท้องถิ่นอ่อนแอ เพราะยังอยู่ภายใต้อำนาจ คสช.และรัฐบาล ทำให้ประชาชนได้แต่มองดูเท่านั้น เพราะท้องถิ่นอยู่นานเกินไปแล้ว

ไม่ว่าผู้บริหาร หรือปลัดรักษาการ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง ขาดจากการเชื่อมโยงกับประชาชน ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

ดังนั้นควรมีเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเร็ว เพื่อเป็นรากฐานนำไปสู่ประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน เพื่อความใกล้ชิด ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ควรผูกยึดติดกับการเลือกตั้งระดับชาติ เพราะท้องถิ่นมีความพร้อมบริหารจัดการเลือกตั้งได้ทันที

รัฐบาล และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรประกาศเลือกตั้งท้องถิ่นกลางปีนี้ เพื่อให้ว่าที่ผู้สมัครเริ่มหาเสียงกับประชาชนได้ ก่อนจัดการเลือกตั้งช่วงเดือนตุลาคม และประกาศผลให้เสร็จภายในปี 2563 ไม่จำเป็นต้องรอไปเลือกตั้งในปี 2564 เพราะช้าเกินไป ทำให้ประชาชนเสียโอกาสใช้สิทธิ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย

ทัศนัย บูรณุปกรณ์
นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่

เสียง‘อจ.-ผู้บริหารอปท.’ หนุนเร่งเลือกตั้งท้องถิ่น คืน‘ปชต.’ให้ประชาชน

พร้อมจัดเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเตรียมงบประมาณรองรับอยู่แล้ว การเลือกตั้ง อปท. ใช้งบท้องถิ่น 80-90% ที่เหลือเป็นงบของ กกต. และกระทรวงมหาดไทย ส่วนตัวอยากให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุด ถ้าเลือกตั้งช้า เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชน ที่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองและพัฒนาท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกผู้บริหารและสมาชิกสภาชุดใหม่ได้อย่างอิสระ ไม่มีการชี้นำหรือครอบงำ ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักประชาธิปไตยสากลทั่วไป

ที่ผ่านมาท้องถิ่นมีปัญหา ไม่สามารถวางแผนระยะยาวได้ เนื่องจากไม่ทราบว่าจะสิ้นสุดวาระหลังรักษาการเมื่อไร ส่งผลต่อยุทธศาสตร์ นโยบาย และโครงการแผนงานพัฒนา ทำให้การพัฒนาท้องถิ่นไม่ต่อเนื่อง ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ ถ้าเลือกตั้งแล้วได้ผู้บริหารชุดเดิม สามารถพัฒนาต่อยอดได้ หากเป็นผู้บริหารชุดใหม่ อาจเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้

ดังนั้น อยากให้รัฐบาลและ กกต.ประกาศเลือกตั้งให้ชัดเจนว่าเป็นเมื่อไร จะได้วางแผนพัฒนาชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน

ศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล
ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย

เสียง‘อจ.-ผู้บริหารอปท.’ หนุนเร่งเลือกตั้งท้องถิ่น คืน‘ปชต.’ให้ประชาชน

ขณะนี้มีกระแสจากหลายฝ่ายเรียกร้องให้เลือกตั้งท้องถิ่น หากมีการเลือกตั้งก็ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ทั้งการทำป้าย รถแห่ การจ้างงาน สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้

ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลมีเสียง ส.ส.เพียงพอที่จะตัดสินใจเรื่องสำคัญในสภาได้ และรัฐบาลมีจุดแข็ง เช่น แก้ไขปัญหาโควิด-19 การดูแลผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อฟื้นฟูประเทศ การเลือกตั้งท้องถิ่นจึงไม่มีผลกระทบกับคะแนนนิยม อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถทำได้ ขณะเดียวกันฝ่ายค้านอ่อนแอ แย่งชิงการนำ หาจุดขายกับประชาชนไม่ได้ เลือกตั้งซ่อม ส.ส.หลายจังหวัดที่ผ่านมา แพ้ทุกสนาม ดังนั้น รัฐบาลอาจไฟเขียวให้ กกต.ไปดำเนินการเลือกตั้งท้องถิ่น

กรณีที่นายวิษณุบอกว่าไม่มีงบประมาณ อาจเป็นงบประมาณที่เป็นค่าตอบแทนให้ผู้ตรวจการ กกต. หรือค่าใช้จ่ายของ กกต.กลาง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น เป็นเงินงบประมาณของท้องถิ่นเกือบทั้งหมด หากงบประมาณที่ตั้งจ่ายไว้ประจำปีไม่เพียงพอ ก็สามารถใช้จ่ายจากเงินสะสมของท้องถิ่นได้

อาจมี อบจ.ที่มีหน่วยเลือกตั้งมาก ต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก ต้องใช้งบประมาณเยอะ อาจของบประมาณบางส่วนจากส่วนกลาง

ขณะที่การปลดล็อกหลังรัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น จะทำให้ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ทำหน้าที่รักษาการสิ้นสภาพทันที ทำให้ อปท.ขนาดเล็กมีงบประมาณจากค่าตอบแทนรายเดือนของผู้บริหารและสมาชิก เพื่อนำไปใช้จ่ายในการเลือกตั้งได้

ประเสริฐ วชิรเขื่อนขันธ์
นายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง จ.สมุทรปราการ
และอดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.)

เสียง‘อจ.-ผู้บริหารอปท.’ หนุนเร่งเลือกตั้งท้องถิ่น คืน‘ปชต.’ให้ประชาชน

อปท.ส่วนใหญ่จะกันงบประมาณในการเลือกตั้งไว้ หลังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สั่งการให้ อปท.ทั่วประเทศเตรียมความพร้อมล่วงหน้ากว่า 2 ปีแล้ว หากงบไม่เพียงพอให้โอนงบอื่นที่ไม่จำเป็นมาใช้ก่อน หรือใช้งบจ่ายขาดสะสม รวมทั้งงบสำรองเงินสะสมที่กันไว้เผื่อเหตุฉุกเฉิน หากรัฐบาลสั่งเลือกตั้งคงไม่มีปัญหาเรื่องบประมาณ

ปีนี้รัฐบาลควรจะจัดให้มีการจัดการเลือกตั้ง อปท.ในบางรูปแบบ อย่างน้อยน่าจะเป็น อบจ. หรือ อบต. ขณะที่เทศบาลกับเมืองพัทยา น่าจะเลือกพร้อมกันเพราะใช้กฎหมายที่มีสาระสำคัญเหมือนกัน

การทำหน้าที่รักษาการนาน 7-8 ปี เป็นผลมาจากรัฐประหารเมื่อปี 2557 เดิมคณะปฏิวัติชุดอื่นจะไม่ลงลึกถึงการเมืองท้องถิ่น จะไม่ให้ผู้บริหารท้องถิ่นรักษาการ ยกเว้นของ คสช. ซึ่งไม่คาดคิดว่าจะให้รักษาการนานเกินไป

การเลือกตั้ง อปท.ล่าช้าคงไม่เกี่ยวกับปัญหาการควบรวม อบต.ขนาดเล็ก หรือการยกฐานะ อบต.ทั่วประเทศเป็นเทศบาลตามแนวทางการปฏิรูปท้องถิ่น หาก คสช.ตั้งใจจะดำเนินการ ก่อนหน้านี้สามารถใช้มาตรา 44 ทำได้ทันที แต่ถึงปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากรูปแบบเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image