ท่องเที่ยวในโลกใหม่ – เมื่อ New Abnormal อาจกลายเป็น New Normal

ท่องเที่ยวในโลกใหม่ – เมื่อ New Abnormal อาจกลายเป็น New Normal

ในบทความก่อนผมได้เลยชวนคิดว่าความปกติใหม่ (New Normal) หลังโควิดอาจไม่ได้ “ใหม่” สักทีเดียวแต่เป็นการที่อนาคตเดิมที่กำลังจะมาอยู่แล้วถูกเร่งให้มาถึงเร็วขึ้น (https://www.the101.world/early-arrival-trends/)

แต่มีข้อยกเว้นอยู่หนึ่งกรณีสำคัญคือภาคการท่องเที่ยวที่ชะตาชีวิตอาจถูกเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรในโลกหลังจากไวรัสนี้

เทรนด์เดิม – หัวหอกโลกาภิวัตน์

ช่วงก่อนโควิดอาจกล่าวได้ว่าการท่องเที่ยวเป็นความหวังหนึ่งของโลกาภิวัตน์ในยุคที่การค้าโลกดูจะไม่สดใสเท่าเดิม ในช่วง5ปีที่ผ่านมา รายได้จากการท่องเที่ยวโลกโดยเฉลี่ยโตเร็วกว่าทั้งการส่งออกสินค้าและกว่าGDP โลกสะท้อนให้เห็นว่าการท่องเที่ยวกลายเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจโลก จนในปี 2018 มีมูลค่า 1.7ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นักท่องเที่ยวเดินทางไปต่างประเทศ 1.4พันล้านคนตามตัวเลขของ UN-WTO

Advertisement

โดยลมส่งการท่องเที่ยวมีทั้ง
– การที่ประเทศต่างๆลดความเข้มงวดเรื่องวีซ่าลง
– การเดินทางด้วยเครื่องบินที่มีทางเลือกมากขึ้นและถูกลง
– เทคโนโลยีที่ทำให้การหาข้อมูล วางแผนทริป ทำ personalisation ให้ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของนักเที่ยวได้ง่ายขึ้น
– ไลฟ์ไสตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ใหม่
– การเดินทางเชิงธุรกิจ (ประมาณ13%ของการท่องเที่ยวทั้งหมด)ยังโตได้ดีเพราะธุรกิจยังให้ความสำคัญกับการพบหน้ากันในการสร้างความสัมพันธ์

ลมเปลี่ยนทิศด้วยโควิด-19

มาวันนี้ทุกคนคงรู้ดีว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเป็นภาคอุตสาหกรรมที่โดนพายุโควิดถล่มหนักที่สุด (https://thestandard.co/tourism-and-the-thai-economy-after-…/) และคงไม่ฟื้นได้เต็มที่จนกว่าจะมีวัคซีน

Advertisement

แต่คำถามคือหากช่วง”ไม่ปกติใหม่” (New Abnormal) ที่เรายังไม่มีวัคซีนและยังเดินทางไม่ได้เต็มที่มันถูกลากยาวไปนานๆ เป็นไปได้ไหมว่าแม้หลังจากมีวัคซีนแล้วเทรนด์ของการท่องเที่ยวแบบถาวร?

แม้วันนี้ฝุ่นยังตลบแต่เทรนด์การท่องเที่ยวน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม คือ โดนบังคับ โดนเร่ง และโดนเบรค

1.โดนบังคับ – Trusted Tourism

ตราบใดที่โควิดยังอยู่ Trusted Tourism หรือ การท่องเที่ยวบนฐานของความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยจะเป็นหัวใจของการฟื้นฟูอุตสาหกรรมนี้

โดยมีมาตราการอย่างน้อย4กลุ่ม หนึ่ง การคัดเลือกนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการคุมการระบาดดี อาจจะบางกลุ่มเท่านั้นให้มาได้ และอาจจะจำกัดให้มาแค่บางพื้นที่ด้วย อย่างที่ได้ยินเรียกกันว่า Travel Bubble

สอง การมีกติกาเพิ่มความปลอดภัย เช่น คนที่เข้ามาต้องได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยที่จะเดินทางได้โดยอาจมีหนังสือเดินทางสุขภาพ (Health Passport) ที่ต้องพกติดตัวยืนยันว่า”Safe”

สาม มีมาตราการที่ทำให้สามารถแกะรอยหาโรคได้ (Trace) หากจำเป็น

สี่ ทุกสถานที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความสะอาดและปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยง อย่างเช่นที่ประเทศไทยมีทำ SHA (Safety and Heath Administration)

มาตราฐานเหล่านี้คงผ่อนคลายลงหลังโควิดแต่อาจไม่หายไปหมดเพราะใน10ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าการมีโรคระบาดเกิดในโลกบ่อยขึ้นมากแม้จะไม่รุนแรงเท่าก็ตาม ดังนั้นการให้ความสำคัญต่อมาตราฐานความสะอาดปลอดภัยอาจยังอยู่ในบางส่วน

ในขณะเดียวกันผมเห็นด้วยกับที่คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ CEO ของดุสิตกรุ๊ปได้ให้ความเห็นไว้ว่า Trusted Tourism อย่างเดียวก็อาจจะไม่พอในการจะดึงดูดนักท่องเที่ยวในอนาคตที่การแข่งขันสูงขึ้น ในระยะสั้นมาตราฐานเหล่านี้เป็น “จุดแข็ง” แต่ในระยะยาวอาจกลายเป็น สิ่งที่ทุกคนต้องมีเป็นพื้นฐาน(minimum requirement) การจะเป็น Destination of choice ของนักท่องเที่ยวยังต้องกลับที่พื้นฐานว่าต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าให้ได้ภายใต้เงื่อนไขและต้นทุนใหม่

2.โดนเร่ง – เทคโนโลยี

โควิดอาจทำให้กระแสการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีอยู่แต่ก่อนแล้วมาแรงกว่าเดิมคล้ายกับที่เห็นในอุตสาหกรรมอื่นๆ

หนึ่ง ระบบการจองและลงทะเบียนจะมีบทบาทสำคัญเพราะจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจำกัดความหนาแน่นของคนในสถานที่ต่างๆและช่วยการแกะรอย (Trace) หากกรณีพบผู้ติดเชื้อ

สอง เทคโนโลยีที่ช่วยลดการสัมผัส(Touchless) ไม่ว่าจะเป็น เวลาเช็คอินเข้าโรงแรม สั่งอาหาร ชำระเงิน ฯลฯจะมีความสำคัญมากขึ้น ในวันที่ยังต้องเว้นระยะห่าง

สาม โปรไฟล์นักท่องเที่ยวอาจเปลี่ยนไปอย่างน้อยในระยะ 1 ปีข้างหน้า โดยนักท่องเที่ยวรุ่น Millennials อาจเป็นกลุ่มที่กลับมาก่อนและมีความสำคัญมากขึ้น เพราะนอกจากจะมีความคุ้นเคยกับระบบดิจิทัลต่างๆที่ต้องถูกนำมาใช้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นกลุ่มที่ความเสี่ยงติดโรคต่ำกว่ากลุ่มผู้สูงอายุอีกด้วย

ซึ่งหลายธุรกิจอาจค้นพบว่าการใช้เครื่องดิจิทัลต่างๆมาช่วยเช่นนี้เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนให้กระบวนการต่างๆได้ดีขึ้น การใช้ข้อมูลในการให้บริการลูกค้าสามารถทำpersonalisation ปรับบริการตามความต้องการแต่ละคนได้สะดวกขึ้น ทำให้บางข้อกลายเป็นหลักปฏิบัติใหม่ถาวรแม้ในยุคหลังโควิด

3.โดนเบรค – ท่องเที่ยวเชิงธุรกิจรูปแบบเดิม

ในระยะกลางแม้หลังประเทศต่างๆเปิดให้การเดินทางเพื่อธุรกิจเกิดขึ้นได้ ต้นทุนของการเดินทางเช่นนี้อาจสูงขึ้นเพราะขั้นตอนและกระบวนการต่างเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ซ้ำสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำยังทำให้หลายบริษัทต้องรัดเข็มขัดจำกัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

แต่เมื่อเฟสนี้อาจอยู่กับเราเป็นปีสิ่งที่ธุรกิจอาจค้นพบคือการเดินทางเจอหน้ากันไม่ได้มีความจำเป็นเท่าที่คิดแต่ก่อน ต่อไปแค่พบหน้ากันตอนต้นเพื่อรู้จักและตอนปิดดีลสำคัญที่เหลือทำงานผ่านทางออนไลน์

การบินไปไกลๆเพื่อพูดในงานสัมมนาใหญ่อาจไม่จำเป็นเมื่อเราสามารถทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้ จากนี้ไปจนถึงวันที่โลกคุมไวรัสอยู่การสัมมนาผ่านช่องทางออนไลน์คงมีการพัฒนาไปอีกมาก

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อธุรกิจกลุ่มMICE อย่างมหาศาล

ฐานลูกค้าอาจถูกบีบให้แคบลงเหลือเพียงระดับผู้บริหารชั้นสูง งานที่ไม่สามารถทำทางไกลได้จริงๆ และการกระตุ้นจากหน่วยงานรัฐที่อาจพยายามจัดกิจกรรมสนับสนุนท่องเที่ยวในประเทศ

ในขณะเดียวกันเราก็อาจเห็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เช่น หากเทรนด์การทำงานนอกออฟฟิศมาจริงในระยะยาวเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยจะปั้นตัวเองเป็นจุดหมายแห่งการทำงานนอกสถานที่คนเก่งๆจากนานาประเทศ (ที่ผมเรียกว่า ธีมWork From Thailand – ดูบทความ https://www.matichon.co.th/politics/news_2215887)ให้แม้นักธุรกิจมาน้อยลงแต่อาจอยู่นานขึ้น รายจ่ายต่อหัวมากขึ้น เป็นต้น

New Normal ท่องเที่ยวที่เราอยากให้เป็น

สุดท้ายนี้หากมองอีกมุมการที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพสูงขึ้น ต้องเลือกนักท่องเที่ยวมากขึ้น คิดถึงการรายได้ต่อหัวจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
ล้วนอาจเป็น “โอกาส”ที่จะมาหันหัวเรือการท่องเที่ยวให้ไปในทางที่อยากเห็นมากขึ้นในระยะยาว

เราอาจจะอยากได้การท่องเที่ยวเน้นเชิงคุณภาพไม่ใช่เอาแต่จำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเดียว

อาจอยากได้ท่องเที่ยวที่กระจายความเสี่ยงมีนักท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบจากหลายประเทศ

อาจอยากได้การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนดูแลสิ่งแวดล้อม

อาจอยากได้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ต้องพึ่งพาท่องเที่ยวมากเกินไป

แต่ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราอยากได้กันมานานแล้ว หากจะทำให้เกิดได้จริงคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอย่างเดียวเท่านั้นแต่มีนโยบายด้านอื่นประกอบด้วย

เราต้องตอบโจทย์เรื่อง “คน”ให้ได้ เช่น หากเราจะเน้นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเรามีบุคคลากรทางการแพทย์พอหรือยัง? ต้องปลดล็อกอะไรบ้าง?

หากเราจะไปทางใหม่SMEและแรงงานที่ถูกสร้างมาเพื่อรับดีมานด์การท่องเที่ยวแบบMass จะไปไหน เรามีนโยบายรองรับการปรับตัว Reskill ให้เขาหรือยัง?

เรามีภาคเศรษฐกิจอื่นที่โตได้ดีพอที่จะซึมซับแรงงานที่อาจจะมีoversupply จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือไม่?

หากตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้สุดท้ายเมื่อโควิดผ่านไปการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ Old Normal ก็อาจจะกลับมาด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจระยะสั้นบังคับ

อย่าติดในปกติเก่าในโลกใหม่กันเลยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image