อ.เจษฎาช่วยแจงดราม่าแต่งตั้งอธิการบดีจุฬาฯ ทำไมคนได้คะแนนสูงสุด กลับไม่ได้เป็น?

อ.เจษฎาช่วยแจงดราม่าแต่งตั้งอธิการบดีจุฬาฯ ทำไมคนได้คะแนนสูงสุด กลับไม่ได้เป็น?

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นเกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังมีนิสิตและประชาชน หลายคนแสดงความเห็นถึงระบบการเลือกอธิการบดี เพราะ ผู้ที่ได้รับการสรรหามาเป็นอธิการบดีซึ่งเป็นอธิการบดีคนปัจจุบัน มีคะแนนจากการหยั่งเสียงเป็นรอง ในการลงคะแนนทั้ง 2 ครั้ง แต่กลับได้รับสรรหามาเป็นอธิการบดีอีก โดยระบุว่า

ตำแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ มาจากการสรรหา ไม่ใช่การเลือกตั้งครับ

มีดราม่าเล็กๆ เกิดขึ้น จากการที่มีคนแชร์ภาพนี้พร้อมกับคำบรรยายในทำนองที่ว่า ท่านอธิการบดีคนใหม่ ( อาจารย์บัณฑิต) ได้รับการเลือกเป็นอธิการบดีจุฬาฯ สมัยที่ 2 แม้ว่าเสียงจากการหยั่งเสียงของคณาจารย์ จะไม่ได้มาเป็นอันดับ 1 ก็ตาม … ซึ่งมีหลายคนเข้าใจผิด ถึงกระบวนการในการเลือกอธิการบดีจุฬาฯ ที่เป็นกระบวนการสรรหา ไม่ใช่การเลือกตั้งนะครับ

ผมเองเคยได้รับเกียรติเป็นกรรมการสรรหาอธิการบดีจุฬาฯ มาก่อนแล้ว ในสมัยที่เคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภามหาวิทยาลัย ประเภทตัวแทนคณาจารย์ประจำจากการเลือกตั้ง เลยขออธิบายกระบวนการสรรหาอธิการบดีของจุฬาฯ ให้ฟังหน่อยนะครับ

Advertisement

ตำแหน่งอธิการบดีของจุฬาฯ นั้น ก็เทียบได้กับผู้บริหารระดับของกระทรวงต่างๆ ซึ่งแม้ว่าจะมีตำแหน่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย โดยโดยรูปธรรมแล้ว ก็เป็นกระบวนการเข้ามาในแบบของข้าราชการ ที่ยังดีว่าไม่ใช่การแต่งตั้งโดยตรง แต่เป็นการใช้ระบบกรรมการสรรหา ตามกลไกที่ระบุไว้ในระเบียบและ พรบ. จุฬาฯ

ซึ่งตามระเบียบนั้น คณะกรรมการสรรหาก็จะทำจดหมายแจ้งไปตามหน่วยงานต่างๆ ของจุฬาฯ ตั้งแต่คณะ สถาบันวิจัย หน่วยงานบริหาร หรือแม้กระทั่งสมาคมศิษย์เก่า กว่า 70 หน่วยงาน ให้ส่งจดหมายกลับมาว่า จะเสนอชื่อท่านใดเป็นอธิการบดีท่านใหม่

แล้วจากนั้นคณะกรรมการสรรหาก็จะทำการประเมินรายชื่อทั้งหมด และพิจารณาว่าจะเชิญท่านไหนมาแสดงวิสัยทัศน์ (ซึ่งจะเชิญกี่ท่านก็ได้) โดยระเบียบระบุชัดเจนว่าไม่ได้เอาจำนวนของผู้รับการเสนอชื่อจากหน่วยงานต่างๆ มานับคะแนนเพื่อใช้ในการตัดสินแบบเลือกตั้ง

ทีนี้ 1 ในกว่า 70 หน่วยงานนั้นก็มีสภาคณาจารย์ด้วย ซึ่งสภาคณาจารย์ก็มีสิทธิ์เสนอชื่อได้แค่ครั้งเดียว จึงสร้างระบบในการหยั่งเสียงของคณาจารย์ในจุฬาฯ ขึ้นมาด้วย ดังเช่นในรูปภาพนั้น … ใช้หลักคร่าวๆ ว่า มีการหยั่งเสียง 2 รอบ : รอบแรก เปิดให้คณาจารย์เสนอชื่อท่านใดก็ได้ , จากนั้นนำคะแนนของ 10 ท่านแรก มาให้คณาจารย์เลือกเป็นรอบที่ 2 ต่อไป , และทางสภาคณาจารย์ก็จะส่งชื่อท่านที่ได้คะแนนสูงที่สุด มาให้กับทางกรรมการสรรหา (โดยจะไม่มีการระบุคะแนนที่หยั่งเสียง มาให้กับกรรมการสรรหารู้ด้วย)

ดังนั้นจะเห็นว่า ผลของการหยั่งเสียงโดยสภาคณาจารย์นั้น ก็เป็นแค่กระบวนการหนึ่งที่ช่วยให้ทางสภาคณาจารย์ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าจะเสนอชื่อท่านใดมาให้กรรมการสรรหา … ไม่ได้มีผลใดๆ นักต่อการสรรหาของกรรมการสรรหาเลย ที่ต้องดูร่วมกับจดหมายตอบกลับจากหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งเรื่องของการนำเสนอวิสัยทัศน์ ของท่านที่ได้รับการเชิญมาด้วย

ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ สั้นๆ คือ ไม่จำเป็นเลย ที่ท่านที่ได้รับคะแนนสูงสุดในการหยั่งเสียงของสภาคณาจารย์ แล้วจะได้เป็นอธิการบดีจุฬาฯ

จริงๆ กลไกการสรรหาแบบนี้ ก็ใช้แต่ระดับของคณบดีแต่ละคณะด้วยนะ ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้ที่ได้รับการหยั่งเสียงได้คะแนนสูงสุดในคณะ ก็ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องได้เป็นคณบดี

หวังว่าคงจะเข้าใจกันมากขึ้นนะครับ มันเป็นแค่กระบวนการในการแต่งตั้งผู้บริหารในระบบราชการแบบหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่กลไกการปกครองตนเองในมหาวิทยาลัย

ปล. น่าแปลกใจว่ากลุ่มนิสิตที่ทำรูปนี้ ทำไมไม่ได้ให้ข้อมูลโดยละเอียดกับสังคม แล้วทำให้หลายคนเข้าใจผิดจุฬาฯ ได้นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image