ลึกแต่ไม่ลับ: ถ้ารธน.ไม่ผ่านประชามติ อะไรจะถูกยกเครื่อง?

แฟ้มภาพ

ลึกแต่ไม่ลับ: ถ้ารธน.ไม่ผ่านประชามติ อะไรจะถูกยกเครื่อง?

งวดเข้ามาใกล้ทุกขณะ การออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2559 อีกไม่กี่อึดใจแล้ว จะรู้ผล วันที่ 7 สิงหาคม คนไทยทั้งประเทศ จากสัดส่วนของผู้มีสิทธิ์ 50.5 ล้านเสียง จะเป็นผู้ให้คำตอบ

กับ 2 ประเด็น ใน “คำถามแรก” ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์”

“คำถามที่สอง” ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ให้วุฒิสมาชิกแต่งตั้ง ร่วมกับ ส.ส. เลือกนายกรัฐมนตรีในระหว่าง 5 ปีแรกของรัฐธรรมนูญ

แม้ “คสช.-กกต.-กรธ.” จะเชื่อมั่นว่า การออกเสียงลงประชามติ โอกาส “ผ่าน” มีมากกว่า “ไม่ผ่าน”

Advertisement

แต่ทำท่าจะไม่หนักแน่นล้านเปอร์เซ็นต์เสียแล้ว

เนื่องเพราะการออกมาโยนก้อนหินถามทางของ “เสธ.ไก่อู-พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี

ที่ระบุว่า นายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ปรารภว่า ได้ยินมาจากหลายที่พูดรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลต่างๆ หนึ่งในเหตุผล คือ “อยากให้ คสช. อยู่นานๆ ไม่รับดีกว่า”

Advertisement

ถือเป็นการชิงออกตัว กันเหนียว ระดับ “เหนือเมฆ” ยักย้ายจากเดิมที่เคยแทงโต๊ด มาแทงกั๊ก เท่ากับว่ากรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ไม่ผ่านประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม “คสช.” จะไม่ต้องรับหน้าเสื่อ “เจ้าภาพร่วม”

“คณะกรรมการร่าง” ของ “ปู่มีชัย ฤชุพันธุ์” ต่างหากเล่า จะแปรสภาพเป็น “หมู่บ้านกระสุนตก” เพียงลำพัง มูลเหตุที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านเสียงข้างมากของการออกเสียงประชามติ เพราะเนื้อหาแห่งการยกร่าง “ข้อเสีย” มีมากกว่า “ข้อดี”

กล่าวในรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ก่อนจะลงเอยสมบูรณ์ทั้ง 279 มาตรา “คสช.” เองก็ใช่ว่าจะดูงามแลรื่นรมย์ไปเสียทั้งหมด ช่วงยกร่างเสร็จ และนำเสนอ ให้ “แม่น้ำ 4 สาย” ทำการปรับแก้

ปรากฏว่า หนังสือที่ลงนามโดย “พล.อ.ธีรชัย นาควานิช” ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาฯ คสช. ส่งถึง “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่าง ณ วันที่ 14 มีนาคม 2559

“แม่น้ำ 4 สาย” ขอเสนอเพื่อปรับปรุงแก้ไข มีมากถึง 16 ข้อ มีความยาว 4-5 หน้ากระดาษ

ไฮไลต์กลับไปอยู่ที่ “ข้อ 16” ว่าด้วย “แม่น้ำ 4 สายเป็นห่วงปัญหาดังก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 จะย้อนกลับอีกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ภายหลังเลือกตั้ง และภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จึงเห็นว่าหากบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองช่วงเวลา คือช่วงเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาล ในระยะแรก ซึ่งอาจจะไม่ยากนัก โดยมีข้อยกเว้นตามความจำเป็น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และช่วงที่จะใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในระยะต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลมากขึ้นและเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่างๆ ลงให้มาก น่าจะแก้ปัญหาและอธิบายให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนและนานาชาติได้”

จึงเป็นที่ไปที่มาของ “บทเฉพาะกาล” ลงตัวกับช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นเวลา 5 ปี มี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ขณะที่ข้อเสนอแนะอีก 15 ข้อของ “แม่น้ำ 4 สาย” ภายใต้ร่มเงาของ “คสช.” ที่ขอปรับแก้ “กรธ.” อนุเคราะห์ให้ตามคำขอน้อยมาก

โดยเฉพาะ “หมวดองค์กรอิสระ” อาทิ “ข้อ 9” มาตรา 190 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้น ไม่ควรจัดเป็น “ระบบศาลเดียว” เพราะขัดต่อการปฏิบัติในนานาประเทศ ควรแก้ให้การอุทธรณ์เป็นสิทธิทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อให้เป็นระบบสองศาล”

“ข้อ 10” การแยกศาลรัฐธรรมนูญไว้เป็นหมวด 11 ไม่มีเหตุผลหนักแน่นพอ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจว่า มีการเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น ก่อให้เกิดการโต้แย้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็น “ศาล” ตามหมวด 10 และตามมาตรา 3 หรือไม่

“อายุของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แก้จากเจ็ดสิบปี เป็นเจ็ดสิบห้าปี อาจถูกมองว่าเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล ควรใช้เกณฑ์เจ็ดสิบปีเช่นเดิม”

ประเด็น “ศาลรัฐธรรมนูญ” นอกจาก “แม่น้ำ 4 สาย” ขอให้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว ทาง “เทียนฉาย กีระนันทน์” อดีตประธาน สปช. คนใกล้ชิด “บิ๊ก คสช.” ยังวิตกกังขา และออกมาท้วงติง ว่ามีอำนาจหน้าที่มากเกินไป ซึ่งดูแล้วไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลได้ มีความลึกลับมาก

เมื่อตามไปดู “หมวดศาลรัฐธรรมนูญ” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวน 9 คน มาจากศาลฎีกาจำนวน 3 คน ศาลปกครองสูงสุด 2 คน ศาสตราจารย์สาขานิติศาสตร์ 1 คน ศาสตราจารย์สาขารัฐศาสตร์/รัฐประศาสนศาสตร์ 1 คน ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินระดับอธิบดีขึ้นไป 2 คน มีวาระอยู่ในตำแหน่ง 9 ปี

มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 205 คือสามารถวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ วินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส. และ ส.ว. และการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี

“องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรมนูญไม่น้อยกว่า 5 คน และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก คำวินิจฉัยให้ถือว่าเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นๆ”

เท่ากับว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 9 คน “ครบองค์คณะ” คือ 5 คน เสียงข้างมาก คือ 3 คน สามารถชี้เป็นชี้ตายปัญหาได้ทุกปัญหา ถูกมองว่า “ครอบอาณาจักร” มากเกินไป

แรกๆ “คสช.” ค่อนข้างจะอึดอัดใจต่อหมวดหมู่นี้อยู่มากพอประมาณ เลยทำหนังสือขอปรับแก้ไปในนาม “แม่น้ำ 4 สาย”

แต่ “กรธ.” เอากุ้งฝอยไปแลกปลากะพง

ชง “บทเฉพาะกาล” ช่วงบ้านเมืองเปลี่ยนผ่าน ตามคำเสนอแนะ “ข้อ 16” ให้ยกดุ้น

อุบไต๋ หมวดศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้

การออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม ผ่านไปด้วยดีก็แล้วไป แต่กรณีไม่ผ่าน ต้องแต่งตั้งกรรมการยกร่างชุดใหม่

รับประกันซ่อมฟรีได้ว่า หมวดศาลรัฐธรรมนูญ จากร่าง กรธ. ชุด “ปู่มีชัย” ต้องถูกยกเครื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image