นักวิชาการ ย้อนเล่าเส้นทาง ปชต. ‘อินโด เกาหลีใต้ ไทย’ เปลี่ยนแปลงโดย ‘สามัญชน’

ภาพจากเสวนา “จากราชดำเนินถึงกวางจู สามัญชนกับการเปลี่ยนแปลง”

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงาน “88 ปี 2475 ความทรงจำของสามัญชน” เพื่อรำลึกถึงการอภิวัฒน์สยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

โดยเวลา 13.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ “จากราชดำเนินถึงกวางจู สามัญชนกับการเปลี่ยนแปลง” ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์เพจ สถาบันปรีดี พนมยงค์ และ ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

นายศราวุฒิ วิสาพรม อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม กล่าวว่า ความทรงจำของสามัญชน ต่อ 2475 เกิดคำอธิบายว่าเป็นการปฏิวัติที่ไร้ขบวนการประชาชน แต่อยากชวนพิจารณาใหม่ว่า สิ่งที่อาจดูไม่สำคัญก็เกี่ยวข้องกับการเมืองใหม่ และ การปฏิวัติ 2475

ถามว่าสามัญชนอยู่ตรงไหน ถ้ามองเหตุการณ์ในวันนั้นจะเห็นคนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น นายอนุ นามสนธิ ราษฎรที่ทราบข่าวเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็สละงานผสมยาที่ตนทำอยู่ร้านประเสริฐโอสถ มายังถนนราชดำเนินช่วยแจกประกาศคณะราษฎร ทั้งคนในต่างจังหวัด ที่ได้รับการสื่อสารจากรัฐบาลคณะราษฎร เช่น นายสวัสดิ์ คำประกอบ อดีต ส.ส. จ.นครสวรรค์ ระบุว่ามีคนมาร่วมเหตุการณ์เหยียบหมื่น มีความยิ่งใหญ่ น่าตื่นเต้น โดยได้บันทึกเป็นจดหมายเหตุของ จ.นครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีการสื่อสาร ประกาศการปฏิวัติหลังวันที่ 24  มิถุนายน 2475 ทางวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ การประกาศในจังหวัด และมีการตอบรับจากราษฎรโดยเขียนจดหมายแสดงความยินดีกับพฤติการณ์ของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และประชาชนบริจาคสิ่งของร่วมสนับสนุน

Advertisement

ด้านชีวิตประจำวัน สะท้อนการถึงเมืองในระบอบใหม่ อาทิ การเผยแพร่รัฐธรรมนูญ มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่สะท้อนถึงระบอบใหม่ เช่น สิ่งก่อสร้าง จาน โอ่ง เบียร์ประชาธิปไตย วิสกี้รัฐธรรมนูญ ธนบัตร สลากกินแบ่งรัฐบาล สัญลักษณ์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในทุกภาค ซึ่งไม่ได้มีการบังคับว่าต้องใช้สัญลักษณ์ที่อิงระบอบใหม่ รวมไปถึง ศาสนสถาน การสร้างสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญโดยการเรี่ยไรเงิน สะท้อนการรับรู้ของคนในพื้นที่ว่ามีอารมณ์ร่วม

สัญลักษณ์รัฐธรรมนูญในศาสนสถาน

นายศราวุฒิกล่าวต่อว่า สามัญชนยังมีส่วนร่วมและการเคลื่อนไหวในพื้นที่สถาบันการเมือง อาทิ สภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้ง การปกครองส่วนท้องถิ่น และสภาจังหวัด เป็นศูนย์รวมปากเสียงของประชาชน คุมการบริหารส่วนจังหวัด จะเห็นคนธรรมดามีส่วนร่วมทั้งในเหตุการณ์การเมือง เช่น กบฎบวรเดช 2476 การเรียกร้องดินแดนคืน หรือแม้แต่ขบวนการเสรีไทย โดยผลกระทบต่อสามัญชนจากการปฏิวัติ 2475 คือ ทำให้เกิดสังคมสมัยใหม่ หลัก 6 ประการ เป็นหลักที่รัฐบาลในยุคแรกต้องนำมาปฏิบัติ ผลที่ตามมาคือ ปี 2478 มีการตั้งโรงเรียนประถมศึกษาครบทุกตำบล เกิดประเพณีผัวเดียวเมียเดียว และปี 2481 มีการยกเลิกการจัดเก็บภาษีทางตรง

“ประชากร 7 ล้านกว่า ภาษีที่รัฐสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เก็บ ส่งผลกระทบต่อคนวงกว้าง ทั้งอาชีพ เกษตรกรรม ภาษีที่ดิน ไร่นา เมื่อคณะราษฎรเข้ามาปฏิวัติ ได้งด และยกเลิกภาษีหลายกรณี ช่วยเรื่องปากท้อง และศักดิ์ศรีที่ชายไทยต้องจ่ายเงินรัชชูปการรายปี 4-6 บาท โดยในหมู่บ้านยากจนภาคอีสานเดือดร้อนกว่า 3 ล้านคน ซึ่งในยุคนั้นเงิน 6 บาท สามารถซื้อโคได้ 2 ตัว หากไม่มีต้องกูยืมเงิน หรือไปทำงานโยธาให้รัฐ สร้างความอึดอัดขับข้องใจในยุคนั้น คือผลกระทบทั้งปากท้องและศักดิ์ศรีความเป็นคน ส่งผลกระทบต่อสังคมไทอย่างมากกว่าที่เราเข้าใจกัน” นายศราวุฒิกล่าว

Advertisement
วันประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย

ด้าน ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงประวัติศาสตร์การเมืองของอินโดนีเซีย ว่า วันที่ 21 พ.ค. 1998 ประธานาธิบดี ซูฮาร์โต ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคระเบียบใหม่ หรือ ระบอบอำนาจนิยม (1966-1998) ที่ทหารมีอำนาจและเข้ามามีอิทธิพล มีที่นั่งในสภา เข้าสู่ยุคปฏิรูป 1998 – ปัจจุบัน สามัญชนที่มีบทบาทสำคัญในอินโดนีเซียมีมาก โดยเฉพาะนักศึกษา ช่วงแรกเป็นลูกหลานชนชั้นนำ จากนั้นขยายไปในกลุ่มคนธรรมดา บรรดานักศึกษา ค่อยๆ พัฒนาลัทธิชาตินิยม และเรียกร้องเอกราชในที่สุด กล่าวคือ นักศึกษามีบทบาทสำคัญในการให้กำเนิดประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งภาระเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้ติดตัวนักศึกษามาจนปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งกองกำลังต่างๆ โดยมีคนธรรมดาเข้าไปสังกัด ซึ่งมีบทบาทต่อการปฏิวัติแห่งชาติ วันที่ 17 สิงหาคม 1945 อินโดนีเซียประกาศเอกราช มีสงครามต่อสู่เพื่อเอกราช 1945-1949 และมีการปฏิวัติทางสังคมต่อต้านผู้ปกครองเดิมในช่วงเลาเดียวกัน

“ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง นักศึกษาจะออกมาประท้วง แต่ซูฮาร์โตใช้ทุกวิธีทางเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เช่น ออกกฎหมายควบคุม ทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่ถนัด แต่ในปี 1997 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในไทย ส่งผลต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซีย และความแตกแยกในกองทัพ คนอดอยาก เกิดการจลาจลในเดือน พ.ค.1998 มีหลายปัจจัยประกอบกันในกระบวนการโค่นล้มซูฮาร์โต รวมถึง พรรคประชาธิปไตยประชาชน (PRD) ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ซูฮาร์โตใช้กฎหมายควบคุมนักศึกษา จนมีการออกแถลงการณ์ วันที่ 22 ก.ค.1996 1.ยกเลิกกฎหมายที่กดทับสิทธิประชาชน 2.ยกเลิกบทบาท 2 อย่างของกองทัพ 3.เรียกร้องสิทธิให้ชาวติมอร์ อาเจะห์ ปาปัว 4.ต่อสู้เพื่อแย่งชิงประชาธิปไตยคืนมา 5.ทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆในการจับตาการโกงเลือกตั้ง 1997 และ 6.จัดตั้งประชาชนเพื่อต่อต้านเผด็จการทหารยุคระเบียบใหม่ โดยมีการเคลื่อนไหวต่อต้านซูฮาร์โตกระทั่งลาออกจากตำแหน่ง” ผศ.ดร.อรอนงค์กล่าว

พิธีรำลึกถึง พัคจงซอล ผู้เสีมยชีวิตจากการซ้อมทรมานในเกาหลีใต้

รศ.ดร.จักรกริช สังขมณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเกาหลีใต้ ว่า สามัญชนมีส่วนในประวัติศาสตร์ซึ่งที่มีการบันทึกผ่านสื่อต่างๆ เดิมการเขียนประวัติศาสตร์เกาหลีสมัยใหม่ (หลังอาณานิคม) มักให้ภาพและวาทกรรมเกี่ยวกับความพ่ายแพ้ อ่อนแอ ล้มเหลวของการสร้างชาติ จึงเปิดทางให้ผู้นำที่เข้มแข็งเข้ามา โดยรัฐใช้แขนขาดึงภาคส่วนร่วมพัฒนาประเทศ ทั้ง องค์กรธุรกิจ หน่วยงาน ประชาชน สยบอยู่ภายใต้ผู้นำซึ่งเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ มองไม่เห็นตัวแสดงอื่นๆ ในการพัฒนาการของประวัติศาสตร์ชาติ

หลังจาก พัคจองฮี ประธานาธิบดีเหาหลีใต้ ถูกลอบสังหาร ในปี 1979 ส่งผลให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง และการเบ่งบานของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องการเคลื่อนตัวสู่ประชาธิปไตย แต่ ซ็อนดูฮวัน ผบ.การรักษาความมั่นคง สถาปนาตนเป็น ผอ.หน่วยสืบสวนกลาง (KCIA) ควบคุมสื่อ ห้ามชุมนุม ภายใต้กฎอัยการศึก ภายหลังมีการชุมนุมประท้วงการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม และถูกปราบปรามโดยตำรวจ จนเหตุการณ์บานปลาย วันที่ 20 พ.ค.นักศึกษาเสียชีวิต 2 คน สร้างความไม่พอใจที่ลุกลามจากนักศึกษาสู่พลเมือง ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้มีการขอโทษ แต่บ่าย 21 พ.ค.ทหารลั่นไกใส่ผู้ชุมนุมจนบานปลาย มีการตั้งกองกำลังพลเรือน แย่งชิงอาวุธและยุทธศาสตร์ทางทหาร และสิ้นสุดการล้อมปราบเมื่อ 27 พ.ค.

กรุงโซล 9 ก.ค. 1987

“ปี 1981 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ช็อนดูฮวัน ลงเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดี จากการเลือกตั้งด้วยรัฐธรรมนูญที่ตนได้แก้ไขใหม่ มีการใช้ความรุนแรงปราบปราม พัคจงซอล นักศึกษามหาวิทยาลัยโซล ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวและยัดข้อหาภัยความมั่นคง และเสียชีวิตในเดือนมกราคม 1987 ก่อให้เกิดความไม่พอใจในขบวนการนักศึกษา เรียกร้องหาสาเหตุการตาย

ด้าน ช็อนดูฮวัน มีกระบวนการพยายามสืบทอดอำนาจอย่างน้อยผ่าน 2 ช่องทาง คือ 1.การรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญเดิม การเลือกตั้งทางอ้อม และ 2.ผ่านตัวแทน เมื่อเรื่องเริ่มแดงว่า พัคจงซอลเสียชีวิตด้วยการกดน้ำ สร้างความไม่พอใจกว้างขวาง นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ มิ.ย.1987 นักศึกษาประชาชนรวมตัวประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงโซล มากกว่า 1 ล้านคน นำไปสู่การประท้วงต่อเนื่อง ทำให้ช็อนดูฮวันยอมกลับลำ และให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งทางตรง เปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์เกาหลีในเวลาต่อมา”

“หลังเหตุการณ์กวางจู ทำให้คนจำนวนมากเห็นว่า ความจริงแล้วประชานเป็นผู้เสียสละ ร่วมในขบวนการต่อสู้ มีเลือดเนื้อ ความคิด มีตัวตน หลังจากนั้นจึงมีการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์เกิดขึ้นมากมาย อาทิ หนังสือ บทกวี ภาพเขียน ภาพยนตร์ บทเพลง ซึ่งนักประวัติศาสตร์เรียกว่า กระบวนการมินจุง (สามัญชน) จะเห็นว่าการต่อสู้ของประชาชนเกิดขึ้นมาตั้งแต่ 1970 แล้ว คำว่า มินจุง (สามัญชน) มินจก (ชาติ) และ มินจู (ประชาธิปไตย) จึงกลายเป็น 3 เสาหลักของขบวนการ มินจุงในเวลาต่อมา” รศ.ดร.จักรกริชกล่าว

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

ด้าน ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ประเทศชาติเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประวัติศาสตร์การมีส่วนร่วมของสามัญชนก็จะมากขึ้นด้วย เกิดการตีความที่หลากหลาย ไม่ถูกผูกขาดโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

“ความจริงแล้ว หลังการปฏิวัติ 2475 ประวัติศาสตร์สามัญชนถูกผลิตขึ้นจำนวนมาก เพียงแต่คณะที่ต้องการฟื้นระบอบเก่าได้ชัยชนะ หลังปี 2490 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบเรียนประวัติศาสตร์ แบบเรียนสังคมศึกษา แม้แต่เรื่องพุทธศาสนายังถูกบรรจุเข้าไป โดยระบุว่า เพื่อใช้ศาสนาในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ระบอบเผด็จการในสังคมไทยที่พัฒนามา ฉีกเราไปอยู่ในโลกของศาสนจักร โลกของความเชื่อ และความไม่เชื่อมั่นในตนเองของประชาชน”

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมี 2 รูปแบบ คือ 1.เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หรือ 2.เปลี่ยนแปลงโดยใช้วิธีมวลชน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันมีผลแน่ แต่ต้องเผชิญปัญหาระยะยาวว่าด้วยการไม่เปลี่ยนแปลงทางความคิด-ความเชื่อของคน แต่หากใช้การเปลี่ยนแปลงแบบมวลชน หรือ การปฏิวัติ จะเคลื่อนไหวในระยะยาวเพื่อเปลี่ยนวิธีคิดและวัฒนธรรมของประชาชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าอย่างมโหฬาร

“แม้คณะราษฎรจะใช้การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันโดยการเปลี่ยนชุดรัฐบาล แต่ตระหนักว่าจะต้องเผชิญการต่อสู้กับปฏิญญาระบอบเก่าในการชิงคืนพื้นที่ จึงใช้คำว่า ‘ประชาชน’ แทนคณะราษฎร เพราะอาจถูกมองได้ว่า มีคณะราษฎร ก็ต้องมีคณะเจ้านาย มีการจัดปาฐกาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ดังนั้น ในแง่การสื่อสารทางการเมืองกับราษฎรจึงเป็นความพยายามที่ต้องทำงานอย่างหนัก” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image