‘สุรชาติ’ ชี้ 88 ปีประชาธิปไตยไทยผ่านร้อน-หนาวพอควร เชื่อ ฤดูใบไม้ผลิจะต้องหวนกลับมา

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน สถาบันพระปกเกล้า จัดเสวนาวิชาการครบรอบ 24 มิถุนายน 2475 หัวข้อ “88 ปี ประชาธิปไตยไทย คนไทยพร้อมหรือยัง” วิทยากรโดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ น.ส.ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ นักวิชาการ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนหนังสือเลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ ดำเนินการเสวนาโดย นายปุรวิชญ์ วัฒนสุข นักวิชาการ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

น.ส.ปฐมาวดีกล่าวตอนหนึ่งว่า ในฐานะคนเรียนประวัติศาสตร์ ในใจจะคิดเทียบกับอดีตที่ผ่านมาว่าเรามียุคไหนที่น่าจะเรียนรู้ได้ จึงอยากพาย้อนไปดู 3 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปลาย พ.ศ.2480 ที่มีรัฐธรรมนูญ 2489 ทั้งนี้ ช่วงเขียนวิทยานิพนธ์ได้กลับไปอ่านงานว่าเหตุใดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเมืองถึงเปลี่ยนทั้งภายนอกและในซึ่งส่งผลต่อกัน

น.ส.ปฐมาวดีกล่าวว่า ทันทีที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม แพ้โหวตในสภาแล้วลาออก ทำให้เกิดช่วงรัฐบาลพลเรือนอยู่ระยะหนึ่ง หลายฝ่ายสามารถประนีประนอมจนสร้างรัฐธรรมนูญ 2489 ได้ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มี ส.ส. ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง เหตุที่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญที่ประนีประนอมได้เพราะกลุ่มอนุรักษนิยมหวนกลับมา ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มเสรีไทยทั้งปีกซ้ายและขวา พร้อมๆ กับเกิดจากเงื่อนไขที่ว่าทุกกลุ่มรู้ว่าพื้นที่ของระบบรัฐสภาทำให้สามารถต่อสู้ช่วงชิงผลประโยชน์ได้ เมื่อประนีประนอไม่ได้ก็เป็น 2490 เป็นการรัฐประหาร

Advertisement


“อีกเรื่องหนึ่งคือการเกิดขึ้นของพรรคสหประชาไทย เพื่อสนับสนุนจอมพลถนอม กิตติขจร ให้เป็นนายกฯ พอเข้าไปเป็นรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งไม่นานก็สามารถไปต่อได้ นำไปสู่การปฏิวัติ สุดท้ายคือตัวเองเกิดในยุคพฤษภาทมิฬ หรือยุคที่เป็นการเรียกร้องนายกฯที่มาจากการลือกตั้ง ตอนนั้นสงสัยว่าทำไมประชาชนยุคนั้นไม่เอาทหาร ทำไมกันทหารออกจากการเมือง และสิ่งที่เรียนรู้จากเหตุการณ์นั้นคือเกิดสิ่งที่เรียกว่าประชาชนกับพรรคการเมืองร่วมกัน จึงคิดว่าอนาคตเราจะเป็นแบบนี้หรือไม่”
น.ส.ปฐมาวดีกล่าว

ด้าน ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า ช่วงเป็นผู้นำนักศึกษา ตอนนั้นประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยอยู่ 7 เแห่ง หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.16 ได้เห็นความตื่นตัวในรั้วมหาวิทยาลัย ฉะนั้นเวลาเรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ พ.ศ.2475 จึงมีจินตนาการบางส่วนว่าอาจมีเงื่อนไขแบบสังคมไทยในอดีตที่ภาคส่วนยังเป็นเกษตร แต่หลังปี 2535 เราเห็นความตื่นตัวที่ขยายวงกว้าง ปัจจุบันความตื่นตัววันนี้ไม่ได้อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยแบบเก่า สอดรับกับ 88 ปีว่าเราเห็นอะไร คำตอบคือเห็นกระแสทางความคิด 2 กระแสที่สู้กันไม่จบ ของจริงก็ไม่จบ กล่าวคืออนุรักษนิยมกับเสรีนิยมที่สู้กันในเวทีโลกและในไทย โดยกระแส 2 ชุดนี้สู้แล้วมีช่วงเวลาที่หดหู่ เพราะพาประชาธิปไตยล้ม

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า ผมพูดเสมอว่า 2475 มีอายุเพียง 15 ปี พอถึงรัฐประหาร 2490 เหมือนโลกการเมืองนอกและในก็เปลี่ยน ทำให้อุดมการณ์ 2475 เหมือนถูกหยุด แต่อุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่ได้หยุดไปด้วย ใน 2 กระแสที่สู้กันนี้ คำตอบด้านหนึ่งเห็นชัดว่าปีกอนุรักษนิมยม โดยเฉพาะหลัง 2490 ฝ่ายทหารพยายามคงอำนาจไว้ในการเมืองไทย ขณะเดียวกันก็ทำให้ประชาธิปไตยเกิดความเข้มแข็ง

“ส่วนตัวไม่ค่อยชอบสำนวนประชาธิปไตยตั้งมั่น เพราะของจริงคือมันไม่ตั้ง แต่ถ้าจะให้มีความเข้มแข็ง ของจริงคือคงถอยกลับไปสู่หลังสงคราม เพราะเกมสภาเป็นเกมเดียวที่ตอบสนองผลประโยชน์ทุกฝ่าย ถ้าทำแบบนั้นได้ก็มีข้อยุติ แต่เชื่อว่าไม่เป็นแบบนั้น เพราะปีกอนุรักษนิยมเชื่อว่าเกมนอกสภาให้ค่าตอบแทนมากกว่า ตั้งแต่เสื้อเหลืองเคลื่อน จนถึงเป่านกหวีด ล้วนเป็นคำตอบหลังปี 2489 ว่าอาการเสื้อเหลือง อาการเป่านกหวีดไม่ต่างจาก 2490 ในมิติทางความคิด และจบลงคล้ายกันคือรัฐประหาร แปลว่าวันนี้สิ่งที่พูดคือไทยในระยะ 10 ปี เป็นประเทศ 1 ใน 3 ของโลกที่ 10 ปีมีการรัฐประหารซ้ำ คือไทย บูร์กินาฟาโซ และฟิจิ

“การรัฐประหารครั้งหลังของบูร์กินาฟาโซใช้เวลาเพียง 7 วัน เพราะองค์กรทั้งหลายในแอฟริกาประกาศไม่รับการรัฐประหารครั้งนี้ และคนในบูร์กินาฟาโซออกมายืนตามถนน ใช้ช้อนเคาะชาม กะละมังประท้วงทหาร ทหารอยู่ 7 วันแล้วเก็บของกลับบ้าน พร้อมขอโทษประชาชน เชื่อว่าวันหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี ชีวิตผมผ่าน 14 ตุลาฯ นั่นคือฤดูใบไม้ผลิครั้งแรก ฤดูใบไม้ผลิใหญ่สุดคือหลัง 2490 และผมเห็นฤดูใบไม้ผลิอีกครั้งในปี 2535 ผมไม่ได้โลกสวย แต่เชื่อว่าฤดูใบไม้ผลิจะหวนกลับมา เพราะสถานการณ์การเมืองบีบคั้นมากแล้ว เชื่อว่าวันนี้ภายใต้การตื่นตัวขนาดใหญ่ของประชาชน ความเปลี่ยนแปลงคือความท้าทาย ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงหลังมานี้เริ่มเกิดความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น จนปฏิเสธไม่ได้ว่าโยงกับประวัติศาสตร์ ซึ่งถอยกลับไปสู่จุดหนึ่งของสังคมการเมืองไทยคือเหตุการณ์การเปลี่ยนแปงการปกครอง การถอยแบบนี้ไปสะดุดอยู่กับหัวเรื่องวันนี้คือตกลงเราพร้อมหรือไม่พร้อม เพราะจนถึงวันนี้ก็มีคนบอกว่าเราไม่พร้อม แต่ขณะที่ไม่พร้อม อย่าลืมว่าไทยและสังคมโลกก้าวสู่ศตววรษที่ 21 แล้ว ฉะนั้น เมื่อถามว่า 88 ปีน้อยไปไหม หากเทียบกับการต่อสู้ในหลายประเทศก็อาจน้อยบ้าง แต่ถามว่าน้อยไหมก็ไม่น้อยแล้ว ดูจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไทยผ่านกันมา คิดว่าหากใช้สำนวนตรงๆ คือ 88 ปี ไทยรู้ร้อน รู้หนาวพอสมควร แล้วเรียนรู้ด้วยเหตุ ด้วยผลพอสมควร

“ความตื่นตัวแบบนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า 2475 คือหมุดหมายหนึ่งของการเมืองไทย พูดง่ายๆ ว่าไม่มีการตื่นตัวทางการเมืองชุดไหนที่ชวนคุยเรื่องรัฐประหารในอดีต เพราะรัฐประหารคือสัญลักษณ์ความล้มเหลว ไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลง ซึ่งปีกอนุรักษนิยมแพ้แล้วตัดสินใจว่าฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีกำลัง จึงไม่มีใครชวนคุยว่ารัฐประหาร 2490 ดีไหม แต่คุยด้วยความรู้สึกว่า 2475 สร้างคุณูปการหรือเปลี่ยนเราอย่างไร โดยวันนี้หลัก 6 ประการของคณะราษฎรกลายเป็นหลักพื้นฐานสากลของการเมืองทั่วโลก” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image