‘อนุสรณ์ ธรรมใจ’ ชู โมเดล ‘สมุดปกเหลือง’ แก้พิษเศรษฐกิจ ชี้ ‘ปรีดี’ คือ มันสมองชาติ

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงาน “88 ปี 2475 ความทรงจำของสามัญชน”

โดย นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวเปิดงานเสวนาในหัวข้อ จากราชดำเนินถึง “2475: ความรู้ ความทรงจำและสถานการณ์ปัจจุบัน” ผ่านเพจสถาบันปรีดี พนมยงค์ และ ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายอนุสรณ์กล่าวว่า แม้ประเทศไทยของเราจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นเวลาถึง 88 ปีก็ตาม แต่ประชาธิปไตยก็ยังไม่ตั้งมั่นและไม่มั่นคง มีการรัฐประหารมากถึง 13 ครั้ง มีการฉีกและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 20 ฉบับ สังคมไทยจึงไม่สามารถสถาปนาระบอบการปกครองโดยกฎหมายหรือการปกครองโดยรัฐธรรมนูญได้ โครงสร้างของระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและอำนาจไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง จึงสร้างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ฟังเสียงประชาชน

“ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารก็จะมีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ ระยะเวลายาวนานถึง 88 ปี ที่สยามก้าวสู่ยุคใหม่เปิดศักราชประชาธิปไตย แต่ก็ยังไม่สามารถก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้ และประเทศก็หาได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และในปีนี้จะมีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมถูกเลิกจ้างจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน”

Advertisement

นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า ประเทศยังไม่สามารถก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ ประชาธิปไตยก็ไม่มั่นคง ประชาชนไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ติดกับดักประเทศรายได้ระดับปานกลางมากกว่า 3 ทศวรรษ การก้าวพ้นจากประเทศด้อยพัฒนายากจน สู่ประเทศรายได้ระดับปานกลางของไทยใช้เวลายาวนานกว่า 50-60 ปี เป็นผลจากความไม่เป็นประชาธิปไตยในทางการเมืองและเศรษฐกิจ จึงขอเสนอ ข้อเสนอ “เบญจลักษณ์รัฐสยามประเทศไทย 2570” เป็นการต่อยอดจากร่างยุทธศาสตร์ประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ.2575 เพื่อพัฒนาให้มีลักษณะเบื้องต้น 5 ประการ จึงจะสามารถพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศรายได้สูง ประชาชนมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีในระดับต้นๆ ของโลกในปี พ.ศ.2580 ดังนี้

1.สังคมภราดรภาพนิยมและสันติสุข

2.เศรษฐกิจดุลยธรรม ผสมผสานเศรษฐกิจเสรีนิยมแบบตลาดกับข้อดีของระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง และต้องลดอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจในระบบ เพิ่มการแข่งขัน ลดความเหลื่อล้ำ เพิ่มความเป็นธรรม

Advertisement

3.รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน มีระบบนิติรัฐที่เข้มแข็ง และ ยึดมั่นในหลักการนิติธรรม

4.การก้าวข้ามพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลาง มุ่งสู่ ประเทศพัฒนาแล้ว

5.ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบกระจายศูนย์ เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง

“ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย คือ ความเหลื่อมล้ำในโอกาส ช่องว่างระหว่างรายได้ การกระจุกตัวของความมั่งคั่งและทรัพย์สิน โดยสามารถนำแนวคิด ภราดรภาพนิยมซึ่งสอดคล้องกับหลักธรรมในพุทธศาสนา มาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ แนวคิดนี้พยายามประสานประโยชน์ มากกว่าผลประโยชน์ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง เป็นแนวคิดที่เลือกทางสายกลาง มองว่า มนุษย์เกิดมาต้องเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ต่อกัน การที่เราร่ำรวยขึ้นหรือยากจนลง ย่อมเป็นผลจากกระทำของผู้อื่น หากยึดถือแนวคิดเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดความสมานฉันท์ ปรองดองกันและสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้

แนวทางนี้จะสนับสนุนบทบาทของสหกรณ์และบทบาทของรัฐทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเห็นจุดอ่อนและความล้มเหลวของกลไกตลาด โดยเค้าโครงเศรษฐกิจของ ท่านปรีดี พนมยงค์ นั้น เป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ การจะสถาปนาให้เกิดระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคงได้ ต้องอาศัยการอภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ การอภิวัฒน์เฉพาะทางการเมืองไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง ‘เค้าโครงเศรษฐกิจสมุดปกเหลือง’ จะพบว่า ตั้งอยู่บนรากฐานของความคิดแบบภราดรภาพนิยม สังคมนิยมประชาธิปไตย ผสมผสานกับเศรษฐกิจแบบชาตินิยม และ หลักพุทธธรรม-มนุษยธรรม แนวคิดภราดรภาพนิยม เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางความคิดสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยเพื่อชาติ และราษฎร”  นายอนุสรณ์กล่าว

นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจสยามช่วงอภิวัฒน์ 2475 ถึงช่วงที่ไทยได้นำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 มาใช้นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก การปฏิรูปเศรษฐกิจของคณะราษฎรและการแก้ปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (พ.ศ. 2475-2484)  ช่วงที่สอง เศรษฐกิจเงินเฟ้อสูงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2484-2488) ช่วงที่สาม เศรษฐกิจยุคชาตินิยมภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เศรษฐกิจสยามอยู่ในภาวะซบเซาอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก สยามต้องเผชิญกับปัญหาความผันผวนระบบอัตราแลกเปลี่ยน ปัญหาการส่งออกตกต่ำ ฐานะทางการคลังของรัฐบาลและหนี้สาธารณะ ปัญหาการผลิตข้าวและหนี้สินของชาวนาและกรรมกรในเมือง โดยปัญหาตกต่ำทางเศรษฐกิจก่อนการอภิวัฒน์ อันเป็นผลจากการตกต่ำของการส่งออก

ภายหลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ปัญหาทางเศรษฐกิจดังกล่าวยังคงรอวันแก้ไข และกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล วิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของคณะราษฎร คือ การมอบหมายให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่างนโยบายเศรษฐกิจ หรือ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และปรับปรุงการแบ่งปันผลผลิตในสังคม ด้วยการแปลงกระบวนการผลิตของไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม โดยรัฐจะเป็นผู้ลงทุนดำเนินการขั้นแรก ในรูปของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งในนโยบายการพึ่งตนเองเป็นหลัก ปราศจากการครอบงำของต่างชาติและกำจัดความเหลื่อมล้ำของผู้คนทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

“ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ คือ มันสมองของคณะราษฎร มีบทบาทในการกำหนดนโยบายด้านต่างๆ แต่ข้อเสนอ เค้าโครงเศรษฐกิจสมุดปกเหลือง ได้รับการต่อต้านจากอำนาจอนุรักษนิยมและขุนนางเก่า รวมทั้งบางส่วนของคณะราษฎร ภายใต้บริบทของประเทศไทยในเวลานั้นที่มีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมีปัญหาวิกฤตการณ์ แนวความคิดแบบสังคมนิยมแพร่หลายและได้รับความนิยมมากขึ้น มีการพึ่งพาตัวเองทางด้านเศรษฐกิจของชาติต่างๆ ซึ่งอาชีพส่วนใหญ่ของคนไทย คือ ชาวนา และข้าราชการ ราษฎรส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวนายังมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก โอกาสในการเป็นเจ้าของที่ดินมีน้อย ต้องเสียอากรการเช่านา และมีการเก็บเงินรัชชูปการที่ไม่เป็นธรรม

หลวงประดิษฐ์มนูธรรรม จึงได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ.2476 โดยมุ่งหมายที่จะให้ราษฎรมีความสุขสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจตามหลักเอกราชทางเศรษฐกิจซึ่งเป็น 1 ใน หลัก 6 ประการ ซึ่งเขียนไว้ใน ‘หมวดที่ 1 ประกาศของคณะราษฎร’ ของเค้าโครงการเศรษฐกิจ ว่า ‘จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก’ “

นายอนุสรณ์กล่าวว่า หากไม่มีความกล้าหาญเสียสละ และยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตยเพื่อราษฎร ของสมาชิกคณะราษฎรทั้ง 102 ท่าน หากไม่มีคณะผู้ก่อการคณะราษฎร 7 ท่าน ประเทศก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบการปกครองที่ใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ 88 ปีที่แล้ว เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เดิมเคยกำหนดให้เป็น “วันชาติ” ควรถูกรื้อฟื้นให้มีความรำลึกถึงอีกครั้ง ด้วยการประกาศให้เป็นวันหยุดในฐานะวันสำคัญของชาติเช่นในอดีต และควรมีการจัดงานรัฐพิธีเพื่อเฉลิมฉลองวันดังกล่าว

“ความเสียสละ และความกล้าหาญของสมาชิกในขบวนการประชาธิปไตยที่ยึดถือแนวทางสันติธรรม จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า โดยปราศจากความรุนแรง และการทำให้เกิดค่านิยมในการเคารพ ‘ความเป็นมนุษย์’ ของคนอื่น และเห็นแก่ประโยชน์สาธารณะ สังคมจะมีความปรองดองสมานฉันท์และสันติสุข การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่จะเกิดขึ้นหลังประเทศไทยควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้แล้ว ต้องทำให้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่เป็นกติกาสูงสุด ให้อำนาจเป็นของราษฎร รัฐสภาซึ่งเป็นสถาบันที่แสดงถึงอำนาจของประชาชนต้องมีอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศอย่างชัดเจน” นายอนุสรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image