พลิกวิกฤต‘โควิด’เป็นโอกาส เร่งเครื่อง 5จี ฟื้นเศรษฐกิจ

พลิกวิกฤต‘โควิด’เป็นโอกาส

เร่งเครื่อง 5จี! ฟื้นเศรษฐกิจ

หมายเหตุ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วและรุนแรงไปทั่วโลก นำมาซึ่งชีวิตวิถีใหม่ กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสร้างการเปลี่ยนแปลง และทำให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน จนถึงอุตสาหกรรม ก้าวสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในฐานะผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม จึงจัดงาน AIS 5G ร่วมแรงสู้ฟื้นฟูประเทศไทย พร้อมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และเชิญผู้เกี่ยวข้องมาแสดงทรรศนะ ผ่านระบบ ZOOM Virtual Conference วันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา

Advertisement

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

5G ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพด้วยคุณสมบัติที่หลากหลาย
และกำลังแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งสามารถผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้า ดึงดูดทั้งนักลงทุน นักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ เพื่อมาท่องเที่ยว มาใช้ชีวิต สร้างอนาคต
ที่ดีกับประเทศด้วย 5G ที่สามารถใช้ได้จริงเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เราต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส และประเทศไทยได้โอกาสนั้น เพราะเราประสบความสำเร็จในการผลักดันเทคโนโลยี 5G มาใช้ในด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล ซึ่งมีส่วนทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น แตกต่างกับ
ในหลายประเทศที่แม้จะเป็นประเทศชั้นนำแต่สถานการณ์ก็ยังไม่คลี่คลาย ดังนั้นเราจึงควรใช้
โอกาสนี้ เพื่อการพัฒนาต่อยอด 5G

Advertisement

ซึ่งล่าสุดรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ โดยรัฐบาลตั้งใจให้คณะกรรมการชุดนี้เข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุน ผลักดันให้ภาครัฐทุกหน่วยงานทำงานไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งช่วยให้ประชาชน

และภาคเอกชนสามารถมีโอกาสในการใช้ 5G ให้เป็นประโยชน์ ในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า และมั่นคงมากยิ่งขึ้น

 

สมชัย เลิศสุทธิวงค์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอสกว่า 3 เดือนที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยเราอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย โดยการจำกัดและควบคุมการแพร่ระบาดได้ ทำให้วันนี้หลายภาคส่วนมีการหารือร่วมกันว่า จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจของประเทศกลับสู่ภาวะปกติได้ ทั้งนี้ ‘เอไอเอส’ ในฐานะองค์กรหนึ่งในสังคมไทย มีความมุ่งมั่นที่จะนำความแข็งแรงของเรามาช่วยเสริมสร้าง ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตขึ้น

จากข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างและลึกซึ้ง จากการประมาณการทางเศรษฐกิจในหลายประเทศเมื่อปลายปี 2562 อาทิ สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, ญี่ปุ่น และจีน คาดว่า
ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) จะเติบโตขึ้น แต่ในวันนี้ทุกประเทศจีดีพีหดตัว แม้จะมีประเทศจีนที่สูงขึ้น แต่สูงขึ้นเพียง 1% ขณะที่ญี่ปุ่นที่หดตัวที่ 5.2% สหรัฐอเมริกาหดตัวที่ 5.9% สหราชอาณาจักร หดตัวที่ 6.5% เยอรมนีหดตัวที่ 7.0% รวมถึงประเทศไทยที่เมื่อปลายปี 2562 คาดการณ์ว่า จีดีพีจะขยายตัวถึง 2.5% แต่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า จะหดตัวที่ 6.7% ซึ่งนี่เป็นเพียงการคาดการณ์ ตัวเลขจริงจะมาก หรือจะน้อยอย่างไร ขึ้นอยู่กับการที่เราจะฟื้นฟูประเทศของเราได้อย่างไร

สำหรับภาพรวมของธุรกิจด้านโทรคมนาคมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งอย่างน้อยจะขยายตัวดีกว่าจีดีพี แต่ในปีนี้ช่วงไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน พบว่า ยอดการใช้งานแม้จะสูงขึ้นถึง 20% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รายได้ หรือมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมลดลง 2-3% ทั้งนี้ แม้หลายคนระบุว่า ในสถานการณ์วิกฤตนี้ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมน่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่โชคดี เนื่องจากที่ไม่รับผลกระทบ แต่จริงอยู่ว่าทุกคนใช้งานมากขึ้น ทำให้เอไอเอสต้องลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อให้โครงข่ายเพียงพอต่อการใช้งาน ในขณะที่เราไม่สามารถสร้างมูลค่าทางรายได้เพิ่มขึ้น ด้วย 3 ปัจจัย คือ 1.การปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ส่งผลให้รายได้จากการจำหน่ายซิมการ์ดสำหรับนักท่องเที่ยวหายไป 2.การที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าบริการไปถึงมือผู้บริโภค ไม่สามารถกระทำได้ และ 3.ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทำให้ประชาชนไม่มีกำลังซื้อมากพอ

รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมาตรการสนับสนุนการทำงานจากที่บ้าน (เวิร์กฟรอมโฮม) ทั้งการให้อินเตอร์เน็ตฟรี 10 กิกะไบต์ และการให้โทร 100 นาทีฟรี สำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งเอไอเอสยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในสังคม ในการช่วยเหลือประชาชน แต่แน่นอนว่าจะทำให้รายได้ต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย แต่อ่ยางไรก็ตามยังมั่นใจว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมยังโชคดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งถึงแม้จะได้รับผลกระทบแต่ไม่มากหนัก แม้ยอดรายได้ของอุตสาหกรรมจะไม่เหมือนเดิมในรอบ 10 ปี ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่า ภาพรวมของธุรกิจด้านโทรคมนาคมจะหดตัวน้อยกว่าจีพีดี เช่น หากจีพีดีหดตัวที่ 6-7% ภาพรวมของธุรกิจด้านโทรคมนาคมหดตัวที่ 2-3%

ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (โซเชียล ดิสแทนซิ่ง) ส่งผลให้เกิดการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่ หรือที่เรียกว่าความปกติในรูปแบบใหม่ (นิวนอร์มอล) อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจมองว่าหลังจากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกตินิวนอร์มอลอาจหายไป จึงกลายเป็นข้อถกเถียงกันในสังคม แต่สิ่งที่อยากจะสรุปเพิ่มเติมและปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ ดิจิทัลไลเซชั่น ได้มีการพัฒนาปรับปรุงตัวเองอย่างรวดเร็ว คำว่า ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น เราพูดกันมานานนับ 10 ปี แต่หลายคนอาจคิดว่ายังไม่จำเป็น แต่หลังจากผ่านพ้นช่วงโควิด-19 เชื่อว่าการประยุกต์เข้าสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะมาอย่างรวดเร็ว ทั้งในเชิงของเทคโนโลยีที่รองรับแล้วในปัจจุบันทั้งในเชิงของพฤติกรรมผู้บริโภค ที่อาจถูกบังคับให้ต้องเข้ามาใช้ ซึ่งสิ่งสำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไป การทำธุรกิจใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องมีวิธีในการทำธุรกิจ หรือรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เพราะถ้าเรายังทำอยู่แบบเดิม แน่นอนว่าเราจะไม่สามารถอยู่รอดหรือเติบโตได้ในอนาคตแน่นอน

เอไอเอสจึงขอเสนอโมเดล 3F คือ ช่วงตกต่ำจากวิกฤต หรือ FALL ต่อมาคือ ช่วงแห่งการต่อสู้เพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤตไปให้ได้ หรือ FIGHT และช่วงสร้างอนาคตอย่างยั่งยืน หรือ FUTURE ซึ่งในทุกช่วงเวลาล้วนแล้วแต่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเข้ามาเป็นฐานรากที่แข็งแกร่งเพื่อช่วยประคับประคองและเสริมขีดความสามารถทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด อย่างเอไอเอส 5G ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ดิจิทัลเส้นใหม่ ที่ได้เริ่มนำมาใช้ช่วยเหลือ เพื่อหล่อเลี้ยงประเทศจากวันนี้เป็นต้นไป

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี เอไอเอสได้ลงทุนมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท โดยในปีนี้ได้เตรียมงบลงทุนไว้ที่ 35,000-45,000 ล้านบาท ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเอไอเอสเป็นผู้ให้บริการที่ถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด คือ ย่านความถี่ต่ำ 50 เมกะเฮิรตซ์ (700 และ 900 เมกะเฮิรตซ์) ย่านความถี่กลาง 170 เมกะเฮิรตซ์ (1800 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์) และย่านความถี่สูง คือย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ 1200 เมกะเฮิรตซ์ และเปิดให้บริการเอไอเอส 5G เป็นรายแรกของประเทศตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 พร้อมขยายเครือข่ายไปครบทั้ง 77 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้มองว่า 5G จะขยายไปสู่กลุ่มลูกค้าทั่วไป ทั้งการทำงานจากที่บ้าน (เวิร์กฟรอมโฮม) และการเรียนออนไลน์ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วยให้ 5G ขยายไปสู่กลุ่มลูกค้าทั่วไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันเอไอเอสมีเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่มีความต้องการใช้งานหนาแน่น อาทิ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ แต่ในเดือนกรกฎาคมนี้ จะเร่งขยายเครือข่าย 5G โดยเน้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในพื้นที่โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และนิคมอุตสาหกรรม และในเดือนสิงหาคม 2563 จะเร่งขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการออกแพคเกจ ค่าโทร เป็นต้น

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีจุดมุ่งหมายในการตั้งเอสดีจี แล็บ ก็เพื่อจะทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่แห่งการทดลอง ทั้งเรื่องการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมถึงมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ที่ต้องดีขึ้น ผ่านการใช้พลังงานสะอาด อาหารปลอดภัย การที่มีเทคโนโลยี 5G จากเอไอเอส ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี นี่คือ เอสดีจี แล็บ ที่ธรรมศาสตร์ร่วมกับเอไอเอส ในมุมผู้บริโภค

5G เทคโนโลยีวีอาร์เสมือนจริง จะสร้างประสบการณ์ใหม่ พลิกโฉมการเรียนรู้และการสร้างสรรค์คอนเทนต์ของคนไทยอย่างสิ้นเชิง สามารถประยุกต์ใช้ในวงการศึกษา ท่องเที่ยว และความบันเทิง ทำให้คนไทยสนุกกับการเรียนรู้ที่แตกต่าง ขยายขีดความสามารถในการผลิตคอนเทนต์ที่แข่งขันกับตลาดโลกได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image