09.00 INDEX ภาพ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กับสถานการณ์ “กลุ่ม4กุมาร”

การนำเสนอ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ในฐานะหัวขบวนทีมเศรษฐกิจคนใหม่ ส่อเค้าลางว่าอาจไม่ราบรื่น ไม่ว่าจะมองในระดับรัฐบาล ไม่ว่าจะมองในระดับพรรค

แม้ว่า ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ก็มีดีกรีระดับ”ดุษฎีบัณฑิต ”ไม่แตกต่างไปจากที่ ดร.อุตตม สาวนายน มี

แม้ว่าสถาบันอันเป็นแหล่งฝึกปรือวิทยายุทธ์จะเป็น ”นิด้า”

ที่ไม่น่าเชื่อก็คือ กระแสต้านจากพลัง ”ภายนอก” อย่าว่าแต่คนซึ่งวางตัวเป็นกลางอย่างสื่ออาวุโสเช่น สุทธิชัย หยุ่น หากที่สำคัญเป็นอย่างมากคือจาก ”กองเชียร์”

Advertisement

เสียงยี้นั้นดังกระหึ่มจากคนที่เคยหนุนคสช. หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จุดหวาดเสียวเป็นอย่างมากก็เมื่อมีการนำไปเปรียบเทียบกับ ศักยภาพของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ศักยภาพของ ดร.อุตตม สาวนายน

ผลก็คือภายในพรรคพลังประชารัฐต้องถอยระดับ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ลงมาเสมอเป็นเพียงมือเศรษฐกิจระดับพรรค

เป็นความจริงที่หากนำเอาชื่อของ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ มาวางเรียงเคียงกับชื่อของ ”กลุ่ม 4 กุมาร” ก็ยากเป็นอย่างยิ่งจะเปรียบได้อย่างทัดเทียม

เพียงกับ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ก็ทำให้ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ต้องหนียะย่ายพ่ายจะแจแล้ว

เพราะว่าประสบการณ์ของ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เสมอเป็นเพียงคนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ขณะที่ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล เคี่ยวกรำมาจากธนาคารกรุงเทพ

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องนำไปเปรียบกับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งแนบแน่นอยู่กับเศรษฐกิจชุมชนมาอย่างยาวนาน

ยิ่ง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ยิ่งได้รับความวางใจจาก ศาสตราจารย์ฟิลิป ค็อตเลอร์ ถึงขั้นร่วมเขียนหนังสือเล่มเดียวกันมาแล้วทั่วโลก

กรณีของ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จึงน่าจะเป็นบทเรียนอันแหลมคมต่อกลุ่มกุมอำนาจใหม่ในพรรคพลังประชารัฐ

ยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจมีความอ่อนไหว ล่อแหลม

เป็นความล่อแหลมหลังสถานการณ์โควิด-19 เป็นความอ่อนไหวเพราะสังคมมีความสงสาร”กลุ่ม 4 กุมาร”

ทำให้ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จำต้อง”ถอยดีกว่า”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image