“ผู้นำฝ่ายค้าน” ติง งบฯ 64 ไม่ตอบโจทย์ประเทศ ลั่น ถ้าชี้แจงไม่ได้ ขอไม่ให้ผ่าน

“ผู้นำฝ่ายค้าน” ติง งบฯ 64 ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาประเทศหลังโควิด-19 ตั้งตำถามถึงรบ.หลายข้อ บอก ถ้าตอบไม่ได้ ก็ไม่อาจจะสนับสนุบงบฯให้ได้

จากนั้นเวลา 11.05 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับการบริหารประเทศในแต่ละปี และสำคัญมากขึ้นสำหรับการบริหารประเทศในภาวะวิกฤตแบบที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้นการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 64 ที่สภากำลังดำเนินการอยู่นี้ จึงต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วน และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังจะนำประเทศไทยไปสู่อีกวิกฤตหนึ่งซึ่งใหญ่โตมาก นั่นคือวิกฤตเศรษฐกิจ การจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ จึงมีลักษณะพิเศษที่ต้องพิจารณา นั่นคือ ต้องสามารถเป็นเครื่องมือรองรับวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังคืบคลานเข้ามาให้ได้ โดยในวิกฤตโควิด-19 นี้ กระทบพร้อมกันทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ จนถึงขนาดเล็ก ตั้งแต่ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร และกระทบไปทั่วโลกพร้อมกัน และยังกระทบทั้งฝั่งอุปสงค์ที่เกี่ยวข้องกับกำลังซื้อ การส่งออกที่เป็นอัมพาต และอุปทานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เรียกได้ว่า ทั้งหมดทุกอย่างพังพินาศไปพร้อมๆ กัน เรื่องท้าทายสำคัญต่อรัฐบาลในเวลานี้คือ มาตรการรองรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะฟื้นตัวเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่คาถาที่รัฐบาลต้องท่องไว้ 3 อย่าง คือ

ป้องกันธุรกิจล้ม รักษาการจ้างงาน ป้องกันผลกระทบที่ลามถึงระบบการเงิน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ธุรกิจล้มกันระยาว แรงงานตกงานมหาศาล และกำลังจะลามถึงสถาบันการเงินในระยะต่อไป หลังหมดมาตรการเยียวยาและพักหนี้ เราจะเห็นเสถียรภาพของระบบธนาคารที่มีปัญหา หนี้เสียจะพุ่งทะยานขึ้น ดังนั้น ระยะต่อไปคือ เราจะจัดทำงบประมาณอย่างไร เพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบต่อความผิดพลาดของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยงบประมาณแผ่นดินเป็นเครื่องมือที่สำคัญ และมีพลังมากในการขับเคลื่อน และปลุกเศรษฐกิจที่กำลังจะหมดลมหายใจให้ฟื้นขึ้นมาได้ ถ้าทำงานอย่างเข้าใจ และถูกวิธี คำถามที่สำคัญ คือ แล้วจะจัดทำงบประมาณอย่างไร ที่รัฐบาลจัดทำมา เป็นคำตอบที่ใช่หรือไม่ แต่งบประมาณ ปี 64 ฉบับนี้ กลับไม่ได้ตอบโจทย์เหล่านี้เลย ยังคงใช้วิธีการจัดทำงบประมาณแบบเก่าๆ ไม่ได้มีการปรับให้เหมาะกับสภาวการณ์วิกฤต นอกจากนั้นยังยึดโจทย์เดิมๆ ที่ต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณแบบเก่าๆ ไม่ทันต่อสถานการณ์ ไม่ได้ตอบโจทย์ข้างต้น

นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า งบประมาณ ปี 64 ยังถูกจัดสรรแบบเก่าๆ มุ่งไปสู่การก่อสร้าง ขุดลอกคูคลอง รวมถึงการจัดอบรมต่างๆ แต่รัฐบาลไม่ได้มองไปที่ภาพใหญ่ คือ อนาคตของไทยจะก้าวไปในทิศทางไหน จะรองรับธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่จากพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ยังไง สินค้าการเกษตรจะถูกยกระดับอย่างไร เพื่อให้เกษตรสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง อุตสาหกรรมใดควรจะเป็นเป้าหมายในระยะ 5 ปีข้างหน้า เราจะเอาประเทศไทยไปอยู่ส่วนไหนของห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลก และงบประมาณ ปี 64 ยังขาดแผนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งหากประชาชนขาดทักษะในการสร้างรายได้ ประเทศไทยไม่มีทางหลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลางได้ ตนอยากฝากไว้ว่างบประมาณควรถูกใช้สร้างทักษะเพื่อสร้างงานที่มีผลผลิตต่อหน่วยสูง เพื่อให้คนไทยมั่งคั่ง นอกจากนี้ งบประมาณปี 64 ต้องไม่ถูกใช้ไปแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายรัฐบาล โดยนโยบายสารพัดแจกเพื่อหวังผลด้านคะแนนเสียงและความนิยม เสมือนเป็นการรีดภาษีประชาชนไปซื้อเสียงล่วงหน้า

“ตนขอย้ำว่า เราไม่อยากเห็นนโยบายแจกเงินเที่ยว รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในส่วนที่เป็นทางผ่านของเม็ดเงินไปสู่กลุ่มทุนใหญ่ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล หรือเป็นมาตรการเพื่อตนและพวกพ้อง โดยใช้ประชาชนและภาษีประชาชนเป็นเครื่องมือ เหมือนที่กระทำมาในอดีต ตนเห็นว่า งบประมาณ ปี 64 ไม่ได้ตอบคำถามที่สำคัญในหลายๆ ข้อ จึงต้องคำถามว่าจะปรับปรุงการรองรับแรงงาน ที่ตกงานจำนวนมหาศาลอย่างไร คนเหล่านี้รัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับอย่างไร จะใช้ภาคส่วนไหนในการรองรับ มีการจัดสรรงบประมาณไปภาคส่วนนั้นอย่างไร งบประมาณ ปี 64 กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายหลังโควิด-19 อย่างไร จะใช้อุตสาหกรรมในลักษณะไหน เป็นที่ทราบกันดีว่าพฤติกรรมผู้ผลิตและผู้บริโภคมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังเกิดโควิด-19 อุตสาหกรรมดาวรุ่งเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านความมั่นคงทางอาหาร ด้านการบริการ และด้านอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ รวมถึงการจัดสรรระเบียบโลกใหม่ รัฐบาลมียุทธศาสตร์แล้วหรือยังว่า ประเทศไทยจะเดินไปทางไหน ก่อนที่จะจัดสรรงบประมาณหว่านไปทั่วแบบเก่าๆ ซึ่งแบบนี้จะไม่ทำให้ประเทศฟื้นตัว และสามารถไขว่คว้าโอกาสที่เกิดจากวิกฤตได้เลย”

Advertisement

“งบประมาณ ปี 64 มีแผนรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างไร ณ ปัจจุบัน สิ่งที่งบประมาณต้องเข้าไปดูแลให้มากคือ ด้านกำลังซื้อ ด้านการสร้างงานที่มีผลผลิตต่อหน่วยสูง รัฐบาลมีแผนเหล่านี้อย่างไร งบประมาณ ปี 64 มีแผนในการรับมือธุรกิจที่ล้มตายจำนวนมากอย่างไร และหากมาตรการเยียวยาหมดอายุลง งบประมาณ ปี 64 จะรับมือผลกระทบถึงสถาบันการเงินอย่างไร หากมีการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก จะทำอย่างไร งบประมาณ ปี 64 มีแผนสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะกลาง เพื่อฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างไร รัฐบาลทราบหรือไม่ว่า โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ทำได้ล่าช้า การจ้างงานในวงแคบ ไม่ใช่คำตอบในช่วงนี้ เพราะให้ผลดีสู้โครงการขนาดเล็กที่กระจายตัวไม่ได้ และงบประมาณ ปี 64 วางแผนการรับมือภาวะราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำอย่างไร มีงบประมาณสำหรับพัฒนาผลผลิตการผลิตต่อหน่วยของเกษตรกรหรือไม่ หรือแค่คิดแบบเดิมๆ ทำแบบเดิมๆ แล้วเกษตรกรก็ยากจนแบบเดิมๆ ต่อไป ที่ผมถามคำถามเหล่านี้เพราะ ผมไม่เห็นคำตอบอยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 64 หากตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ถือเป็นอันตรายกับประเทศ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเช่นนี้ หากรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงต่อคำถามข้างต้น และหากไม่นำกลับไปแก้ไข ผมไม่อาจจะสนับสนุบงบประมาณฉบับนี้ให้ผ่านไปได้” นายสมพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image