ไฉน “พิธา” จึงตั้งฉายา “มหาประยุทธภัย” ให้ “บิ๊กตู่” กลางสภา

ไฉน “พิธา” จึงตั้งฉายา “มหาประยุทธภัย” ให้ “บิ๊กตู่” กลางสภา

ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท ในวาระแรก ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการทรวงกลาโหม ชี้แจงหลักการ และเหตุผล ไปเมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) เป็นวันแรก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะติดลบร้อยละ 5-6 สาเหตุหลักจากสงครามทางการค้า และผลกระทบการระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 4-5 ของจีดีพี เทียบกับปี 2563

มีแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศภายหลังการระบาดของเชื้อโควิด-19 ผ่อนคลายลง รวมถึงการฟื้นตัวของรายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว การผลิตภาคเกษตร และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ

แต่ต่อมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ปี 2564 นอกจากเป็นปีที่ประชาชนทุกข์อย่างแสนสาหัสแล้ว ยังเป็นปีที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้งบประมาณแผ่นดินครบ 20 ล้านล้านบาท นับตั้งแต่เข้าบริหารประเทศจากการยึดอำนาจตั้งแต่ปี 2557

Advertisement

เป็นนายกฯที่ใช้งบประมาณต่อเนื่องมากที่สุด ที่น่าแปลกใจคือ เงินจำนวน 20 ล้านล้านบาท สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้น้อยมาก เพราะเศรษฐกิจไทยดื้อยาอย่างหนัก เป็น”มหาประยุทธภัย” ที่ยิ่งเพิ่มงบประมาณเท่าไหร่ ความเชื่อมั่นยิ่งลดลง ถมงบลงเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็ไม่กระเตื้อง

“เพราะสิ่งที่พวกเราเผชิญอยู่เป็นมหาวิกฤตที่โลกกำลังปรับตัว ไทยจะถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยน แม้เวลานี้รัฐบาลไทยกุมทรัพยากรของประเทศมหาศาลอันเป็นเงินภาษีของประชาชนสูงถึง 7.5 ล้านล้านบาท สำหรับการแก้ไขวิกฤต ถ้ารัฐบาลใช้เป็น เราจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส หรืออย่างน้อยก็น่าจะทุเลาความทุกข์ของคนไทยได้ แต่สิ่งที่น่าเสียดาย คือการจัดงบประมาณก้อนนี้ ทำเหมือนไทยไม่มีวิกฤต เพราะจัดงบประมาณไม่ได้ต่างกับงบประมาณปี 2563 ไม่มีอะไรเปลี่ยน”

จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่การจัดงบแบบเดิมแล้วจะหวังผลลัพธ์แบบใหม่ได้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีประชาชนกว่า 30 ล้านคน เป็นเดิมพัน โดยงบประมาณรายจ่ายก้อนนี้จะชี้ชะตาพวกเขาว่า จะจมหายไปกับวิกฤตครั้งนี้หรือไม่

Advertisement

นายพิธา กล่าวอีกว่า สำนักงบประมาณของรัฐสภา ประเมินไว้ว่า รายได้ของรัฐจากการเก็บภาษีในปี 2563-2564 จะหลุดเป้ารวมถึง 7 แสนล้านบาท ฟังแล้วขนหัวลุก เพราะวันนี้ตัวเลขจริงการของเก็บภาษีของ 8 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ เก็บภาษีหลุดเป้าจริงไปแล้วถึง 2 แสนล้านบาท ดังนั้น เมื่อรายได้หลุดเป้า จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่รัฐบาลจะต้องกู้เพิ่มอีก จากการประมาณการว่าปีนี้จะขาดดุลกว่า 6 แสนล้านบาท ถ้ารายรับปี 2563-2564 หลุดเป้า ดีไม่ดี รัฐบาลอาจจะต้องเตรียมตัวกู้เพิ่มอีกมากถึง 1.3 ล้านล้านบาท

“วันนี้ไม่ใช่เวลาของเรือดำน้ำ รถหุ้มเกราะ กระสุนปืน หรือไม่ใช่เวลาของการสร้างถนน ทำป้าย หรือติดกล้อง แต่เป็นเวลาของวัคซีน การสร้างงาน ความมั่นคงทางสาธารณสุข อาหาร และสิ่งแวดล้อม รัฐบาลคือความหวังสุดท้ายของประชาชน ประเทศจะรอดได้ รัฐบาลต้องใช้เงินเป็น หาเงิน และกู้เงินเป็น ต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นและคุ้มค่า ประชาชนถึงจะมีความหวัง” นายพิธากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image