เสวนา ’80 ปี นิธิ’ ชี้ ปัญญาชนอนุรักษนิยม ‘มนต์สะกดเสื่อม’ เผย ไม่ฝันถึงยุคพระศรีอารย์ ขอแค่กติกาเที่ยงธรรม ห่วงรธน.แก้ยากกลายเป็นระเบิดเวลา

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่มติชนอคาเดมี หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 เขตจตุจักร กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มติชน จัดงาน ‘โกดัง Book Wonder’ เป็นวันสุดท้ายโดยในช่วงบ่ายมีเสวนา ‘‘80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์’ #Oldไม่Out สังคมไทย ไปต่ออย่างไร ในความ(ไม่)ใหม่)’ ดำเนินรายการโดย ผศ.อรุณี กาสยานนท์  จัดโดยนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์

ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ กีรตยาอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเนื่องจากสูตรสะกดความเปลี่ยนแปลงแบบตะวันตกโดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมไทยเคยสะกดประชาธิปไตยแบบตะวันตกเอาไว้ ใช้ความเป็นไทยสะกดปัจเจกนิยมแต่ทุกวันนี้สะกดไม่ได้ สะกดไม่อยู่ เพราะฉะนั้นเหลือแต่เครื่องมือคือกำลังอำนาจ ได้แก่ กฎหมาย และกำลังบังคับ เราจะเห็นได้ว่าในช่วงตั้งแต่คสช.ขึ้นมา การใช้กฎหมายแบบบังคับและการใช้กำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการที่คนจะยอมอยู่ใต้ส่วนผสมเดิมที่สะกดอยู่มันหมดมนต์ขลังแล้ว จึงเหลือวิธีน้อยมากในการทำให้ยอมเลยต้องบังคับ

สำหรับการปฏิรูป ถ้าเป็นไปได้ควรมีการปฏิรูปจากเบื้องล่าง เพิ่มอำนาจต่อรอง ช่วงชิงอำนาจนำ รอรัฐล้มเหลว ซึ่งก็เกือบล้มเหลวในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ได้กองกำลังหมอมาช่วย ในการปฏิรูป ปรบมือข้างเดียวไม่ดัง ปฏิรูปไม่ได้หากชนชั้นนำไม่ร่วมมือ เท่าที่เห็นมาชนชั้นนำชุดนี้ไม่ปฏิรูป ดังนั้น ช่องทางจึงเหลือน้อย ดูจากสภาพการณ์ทั้งหมด คิดว่าต้องปฏิรูปจากเบื้องล่าง

“รัฐทันสมัย เรียกว่ารัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยคือลบทุกอย่าง ไม่เหลือความเหลื่อมล้ำ ทุกคนเป็นปัจเจกเหมือนกันหมด การสร้างเสรีประชาธิปไตยแบบปกติที่ตะวันตกทำ ผ่านกระบวนการที่เจ็บปวด คือ ทำให้ทุกคนยอมรับว่าเป็นแค่ปัจเจกบุคคลคนเดียวแล้วสัมพันธ์กับรัฐ รัฐบังคับใช้อำนาจกับทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งน่ากลัวมาก หากเป็นผู้ที่มีอะไรจะเสีย” ศ.ดร.เกษียรกล่าว

Advertisement

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้มีจินตนาการอะไรที่เลิศเลอหรือเป็นแบบยุคพระศรีอารย์ แต่แค่เรามีประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่มีกฎเกณฑ์ มีกติกาและกลุ่มองค์กรต่างๆทำหน้าที่ในการรักษากฎ กติกาเหล่านี้อย่างเที่ยงธรรม ไม่บิดเบือน ไม่ตีความกฎหมายเข้าข้างพวกตัวเองหรือทำลายฝ่ายตรงข้าม ละเมิดหลักการของกฎหมายที่กำหนดไว้ สังคมที่หน่วงานต่างๆสามารถคัดง้าง มีการตรวจสอบซึ่งกันและกันได้  สังคมที่เคาพในสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ถ้าทำผิดต้องถูกดำเนินคดี อยู่ใต้กติกา ไม่ใช่ว่าทำผิดแล้วลอยนวล เพราะเชื่อว่ากลไกอำนาจรัฐทั้งหลายที่มีอยู่จะช่วยปกป้องตัวเอง เป็นสังคมที่เราสามารถเห็นได้ในสังคมอื่นๆ ไม่ต้องใช้ความสามารถพิเศษอันยิ่งใหญ่ของความเป็นไทยในการครีเอท อย่างไรก็ตาม ความเป็นไทยที่เราเคยชิน คือความเป็นไทยที่ให้ความสำคัญกับระบอบพวกพ้อง เครือข่าย มีระบบการยกเว้น มีสถานะยกเว้นเกิดขึ้นอยู่ตลอกเวลา จนกลายเป็นภาวะปกติ

ส่วนตัวอยากเห็นสังคมไทยที่มีความเป็นไทยอย่างที่เราคุ้นเคยกันน้อยลง และอยากเห็นระบบที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบว่าเราจะไม่มีนักการเมืองและข้าราชการที่คอรัปชั่น  ไม่ได้ฝันอย่างนั้นเพราะการคอรัปชั่นต้องมีอยู่แล้ว แต่ต้องมีระบบที่จะจัดการกับคนคอรัปชั่นได้อย่างเด็ดขาด และเป็นบทเรียนที่จะทำให้คนอื่นๆ ไม่กล้าทำแบบเดิม หรือถ้าทำจะต้องมีวิธีการที่แยบยลพอที่จะป้องกันตัวเองได้ แต่สังคมไทยไม่ใช่อย่างนั้น ทุกอย่างเปลือยเปล่า มีการโกงและโกหกตลอดเวลาเพราะเชื่อว่าพวกตนกุมอำนาจทุกอย่างไว้

Advertisement

“อยากให้สังคมไทย เป็นสังคมที่ระบบที่สามารถจัดการตัวเอง จัดการปัญหาต่างๆ และพูดถึงปัญหาใหม่ๆ โลกของเราทุกวันนี้ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อัตลักษณ์ ชีวิตคน แอลจีบีที แต่สังคมไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพูดกันเรื่องที่พื้นฐานมาก เช่น คนเท่ากันหรือเปล่า เลือกตั้งดีหรือไม่ จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรข้ามพ้นไปได้แล้ว แต่สังคมไทยไปต่อไม่ได้ เหมือนอยู่กับที่ และถอยหลังเสียอีก” รศ.ดร.พวงทองกล่าว

ด้านผศ.ดร.ปิยบุตร  แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า  กล่าวว่า  ตนขอพูดผ่านสิ่งที่ทำงานมาโดยตลอด คือ รัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุด เป็นเรื่องกติกาของสถาบันการเมือง และการประกันสิทธิเสรีภาพ ต่างๆ ปัญหาของประเทศไทยอาจเรียกว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง และวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญด้วย ฉันทามติครั้งสุดท้ายของประเทศไทยคือรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเกิดการตกลงกันว่า ไม่เอาแล้วกับการที่ให้ทหารเข้ามารัฐประหารบ่อยๆ ไม่เอาแล้วกับการให้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวการเมือง ต้องการให้มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ไม่ใช่เข้ามาแล้วลาออก ยุบสภา เปลี่ยนรัฐบาล จนส่งมอบนโยบายอะไรไม่ได้ พร้อมกันนั้น ต้องให้มีระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐด้วย รวมทั้งการประกันสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน  แต่ปรากฏว่ามีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งมีความรู้สึกว่า รัฐธรรมนูญ 40 ไปครอบงำวุฒิสภา และองค์กรอิสระจนทำให้การเมืองเสียดุลยภาคไป แล้วเลือกใช้วิธีที่ผิดคือตัดสินใจสนับสนุนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จากนั้นออกแบบรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีเป้ามายหลักคือต้องการกำจัดกลุ่มการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง พอทำแล้วปรากฏว่าไม่สำเร็จ พ.ศ.2557 จึงต้องรัฐประหาซ่อม แล้วออกแบบกติกาแบบที่เป็นอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560

กล่าวโดยสรุปคือรัฐธรรมนูญไทย 4 ฉบับหลัง ได้แก่ ฉบับปี 49, 50, 57 และ 60 กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ส่วนตัวใช้คำว่า แก้แค้น เอาคืน เป็นรัฐธรรมนูญแบบกินรวบทั้งกระดาน พูดง่ายๆคือ ใครชนะ ใครเป็นเจ้าของอำนาจจะออกแบบกติกาให้ตัวเองและจะอยู่ในอำนาจตลอดเวลา โดยไม่คิดถึงว่าวันหนึ่งหากตัวเองเป็นผู้แพ้แล้วจะอยู่อย่างไร โดยเฉพาะฉบับปี 60 แย่กว่านั้นคือออกแบบมาแล้วไม่ให้คนอื่นแก้ด้วย

ส่วนตัวคิดว่าพื้นฐานที่สำคัญ คือ 1. รัฐธรรมนูญต้องยืนยันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนตามหลักการประชาธิปไตย 2. ต้องมีการออกแบบสถาบันทางการเมืองต่างๆ ให้มีการแบ่งแยกอำนาจได้อย่างดุลยภาค ไม่ใช่โป่งไปที่นักการเมืองจัดการเลือกตั้งหรือบรรดาองค์กรตรวจสอบ 3.  ต้องมีการประกันสิทธิ เสรีภาพ โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดคือเสรีภาพในการแสดงออก เพราะสะท้อนว่าเมื่อเราแสดงออกไปแล้ว ตัดสินใจอะไรบางอย่าง มีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ตาม ฝ่ายข้างน้อยที่ไม่ชนะ ก็ยังจะสามารถแสดงออกต่อไป เพื่อเปลี่ยนใจคนให้ฝ่ายตัวเองขึ้นมาเป็นเสียงข้างมากที่ชนะบ้าง เพราะฉะนั้นการประกันเสรีภาพในการแสดงออกคือการประกันว่าทุกๆการตัดสินใจของประชาชน แม้ผิดพลาดแต่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงให้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ แล้วแต่ละฝ่ายก็จะอดทนอดกลั้นกันว่า ถึงจะคิดไม่เหมือนกัน ก็ไม่เป็นไร แต่มีการรณรงค์แข่งกันได้

  1. ต้องรับประกันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความแตกต่างหลากหลาย ยึดหลักว่าเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วย่อมมีความเสมอภาค เท่าเทียม ที่สำคัญคือ เปิดทางให้มีการแก้กติกาได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่เขียนให้แก้ยากมากๆ จะติดล็อกในตัวเองจนกลายเป็นระเบิดเวลา

“สำหรับปัจจุบันที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจคสช.ที่สืบทอดอำนาจมาเป็นรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น ไม่เคยมองรัฐธรรมนูญโดยมีวิธีคิดในฐานะคุณค่า ซึ่งจริงๆแล้วสังคมไทยก็มีปัญหาเรื่องนี้ ในขณะที่โลกตะวันตกซึ่งมีการพัฒนาคอนเช็ปต์เรื่องรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้ มีคุณค่าพื้นฐานสำคัญ 2-3 เรื่อง คือ 1. เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกันเพราะประชาชนร่วมกันออกแบบ ไม่ใช่พวกใดพวกหนึ่ง 2. รัฐธรรมนูญต้องเป็นกติกาที่ประกันไว้ให้กับทุกฝ่าย ไม่ใช่คิดรวบหมด ต้องกล้าจินตนาการว่าวันหนึ่งคุณแพ้ จะอยู่อย่างไรกับรัฐธรรมนูญแบบนี้ ไม่ใช่จินตนาการว่าตัวเองจะชนะตลอดแล้วออกแบบให้เอื้อตัวเองฝ่ายดียว อย่างไรก็ตาม  วิธีของคสช. คือรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการปกครอง ในการอ้างความชอบธรรม ยึดอำนาจเสร็จต้องออกรัฐธรรมนูญปี 57 นิรโทษกรรมสิ่งที่ตัวเองทำมาทั้งหมด ประกาศคำสั่งที่ตัวเองออกมาถูกหมด

พลเอกประยุทธ์ อ้างกฎหมายตลอดเวลา ทั้งที่เป็นคนทำผิดกฎหมายคนแรก คือฉีกรัฐธรรมนูญ  ในขณะเดียวกันเมื่อประชาชนอ้างรัฐธรรมนูญบ้าง เช่น เสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง พลเอกประยุทธ์กลับกระโดดหนีจากรัฐธรรมนูญโดยบอกว่าอย่าดูแต่รัฐธรรมนูญ ต้องดูกกฎหมายอื่นบ้าง

สรุปคือรัฐธรรมนูญในวิธีคิดของพลเอกประยุทธ์คือตัวเอง วิธีคิดแบบนี้ไม่มีวันหากติการ่วมกันในประเทศไทยได้เลย ตราบใดที่คณะผู้ปกครองชุดนี้ยังนั่งอยู่ตรงนี้ ยากมากที่จะแสวงหาฉันทามติร่วมกันในการออกแบบสังคมการเมืองไทย” ผศ.ดร.ปิยบุตร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น ผศ.ดร.ปิยบุตร  แจกลายเซ็นหนังสือ ‘การเมืองแห่งความหวัง’ ซึ่งมีผู้อ่านต่อแถวรอรับลายเซ็นและร่วมพูดคุยเป็นจำนวนมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image