คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ​: ปัจฉิมโควิดกถา : NoNew,NoNormal โดย กล้า สมุทวณิช

ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 นั้น เกิดปรากฏการณ์ในระดับหมุดหมายประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เมื่อเป็นครั้งแรกนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ที่แทบทุกประเทศนั้นประสบภัยอย่างเดียวกัน

โลกทั้งใบนั้นพร้อมใจหยุดสยบให้แก่ไวรัส ด้วยหวังว่าการที่มนุษย์พักกิจกรรมที่ต้องพบปะกันทางกายภาพแล้ว จะสามารถจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ ในตอนนั้นมีการคาดการณ์จากผู้รู้ นักวิชาการว่า หลังจากนี้ไปโลกของเราจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมก่อนที่เชื้อไวรัสตัวนี้จะเริ่มต้นระบาดเมื่อปลายปีที่แล้วอีกต่อไป ทุกคนประเมินสถานการณ์ว่ามนุษยชาติจะต้องดำรงอยู่ต่อไปภายใต้ “ชีวิตวิถีใหม่” หรือที่มักทับศัพท์กันว่า “นิว นอร์มอล New Normal”

เราจินตนาการชีวิตวิถีใหม่กันไปต่างๆ นานา เช่น ร้านอาหารวิถีใหม่ที่ต่างคนต่างกินแยกโต๊ะหรือกั้นกลางด้วยผนังป้องกันเชื้อ ที่นั่งบนเครื่องบินจะต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดเรียงไป การไปชมกีฬา คอนเสิร์ต หรือมหกรรมใดที่มีการรวมตัวกันของผู้คนจำนวนมากนั้นจะกลายเป็นอดีต รวมถึงมนุษย์เราจะต้องทำงานกันจากที่พักอาศัย โดยมาพบปะกันเท่าที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเราแต่ละคนต้องรักษาระยะห่างระหว่างกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

นี่คือจินตนาการที่เกิดขึ้นในราวกลางเดือนมีนาคม ถึงปลายเดือนเมษายนผ่านมา 4 เดือน หลังการ “ปิดโลก” ในคราวนั้น เราคงยอมรับกันแล้วว่า การคาดการณ์ข้างต้นนั้นออกจะเป็นจินตนาการที่เกินเลยไปกว่าแนวโน้มที่เราจะต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่มีเชื้อ COVID-19 แพร่ปนอยู่จริงอยู่โข

Advertisement

จริงอยู่ที่สถานการณ์ในทางการแพทย์และการแพร่ระบาดในระดับโลกนั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนไปนัก แม้ว่าจะมีการระบาดลดลงในบางพื้นที่ แต่ก็มีกรณีที่มีการพบการแพร่ระบาดระลอกที่สองเกิดขึ้นในอัตราที่ไม่ได้ทำให้สบายใจเช่นกัน รวมถึงสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกาก็จัดว่าอยู่ในระดับน่ากลัว ยังดีว่าการรักษาและรับมือกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยนั้นทำได้ดีขึ้นเนื่องจากเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้นในระหว่างการรับมือที่ผ่านมา แต่สำหรับวัคซีนป้องกันนั้นก็ยังไม่อยู่ในชั้นที่จะยืนยันได้ว่าจะมีขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอนหรือไม่และเมื่อใด

เมื่อผู้คนทั้งโลก สำคัญที่สุดคือรัฐบาลประเทศต่างๆ ยอมรับแล้วว่าเราไม่อาจหยุดหรือทุเลาโรคนี้ได้ในเวลาอันสั้นด้วยวิธีการอันเด็ดขาดเช่นที่เคยปิดประเทศล็อกดาวน์กันก่อนหน้านี้ ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว ผลเสียจากมาตรการเช่นที่ผ่านมานั้นอาจจะเป็นเหตุของความตายและความทุกข์ทรมานของผู้คนจำนวนมหาศาลยิ่งกว่าผลโดยตรงของไวรัสนี้ อย่างที่ต่อให้ COVID-19 จะจบลงได้ในปีหน้า แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอาจจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกไม่รู้กี่ปี

การยอมรับและชั่งน้ำหนักนี้ส่งผลให้เกิดการ “ลดการ์ด” และ “หรี่ตา” ลงทั้งโลก เช่นกรณีของประเทศที่มีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ไปแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าจะพยายามนำมาตรการดังกล่าวนี้มาใช้ใหม่อีกแม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดรอบสอง เช่นเดียวกับเรื่องการเดินทางข้ามประเทศที่ปัจจุบันหลายประเทศก็เริ่ม “แบะท่า” ออกมากำหนดมาตรการยอมรับว่าอาจจะมีการเดินทางไปสู่ไปหากันระหว่างประเทศก็ได้ ภายใต้มาตรการ Travel Bubble หรือที่จินตนาการว่าต่อไปการเดินทางโดยเครื่องบินจะต้องมีขั้นตอนยุ่งยากอย่างนั้นอย่างนี้ การออกแบบที่นั่งภายในกันแบบนี้แบบนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครทำจริง ทั้งฝ่ายของสายการบินและผู้ควบคุมกฎการบิน

Advertisement

การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันไวรัสก่อนหน้านี้และที่จินตนาการกันไว้ว่าจะเป็นความปกติใหม่ นอกจากจะขัดต่อธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ต้นทุนความยุ่งยากในการดำเนินธุรกิจซึ่งหมายถึงการใช้ชีวิตของคนทั่วไปนั้นก็เป็นเรื่องที่มีราคาที่ต้องจ่ายมากเกินไป และเป็นราคาแพงที่ไม่มีหลักประกันว่าจะป้องกันอะไรได้จริงแค่ไหนด้วยซ้ำ โลกเรามาไกลกว่าที่การเดินทางโดยเครื่องบินจะมีราคาเท่ากับซื้อรถมือสองสักคันแล้ว

ส่วนประเทศไทยนั้นไม่ต้องพูดถึง มาตรการผ่อนปรนต่างๆ ที่รัฐบาลภายใต้การเสนอของ ศบค. ค่อยๆ ปล่อยออกมาในแต่ละระยะนั้น อาจกล่าวได้ว่า ณ วันนี้เรากลับมาใช้ชีวิตกันเป็นปกติเหมือนช่วงเดือนมกราหรือกุมภาเกือบทุกอย่าง การทำงานที่บ้านหรือ Work from Home ที่เคยเป็นกระแสควบคู่กับหม้อทอดไร้น้ำมันก็กลายเป็นเรื่องที่เหมือนไม่เคยเกิดขึ้น บริษัทห้างร้านและหน่วยงานราชการต่างๆ ก็สั่งให้พนักงานลูกจ้างและเจ้าหน้าที่ของตนกลับมาทำงานกันหมดแล้ว ยกเว้นแต่บริษัทข้ามชาติที่ยังต้องคงมาตรการตามบริษัทแม่ แต่ก็คงอีกไม่นานเท่าไร เช่นเดียวกับที่รถไฟฟ้าและขนส่งมวลชนต่างๆ ก็กลับมาให้บริการกันเต็มล้นความจุกันอีกครั้ง หรือการต่อคิวจ่ายเงินในซุปเปอร์มาร์เก็ตเวลาเร่งด่วนก็ยืนดมไหล่คนข้างหน้ากันเกือบเหมือนเดิม

นอกจากการสวมหน้ากากอนามัยหรือเฟซชีลด์ เราก็ไม่มีอะไรที่อาจจะเรียกได้ว่า “New” หรือเป็น “วิถีใหม่” เลย

ถ้าอย่างนั้นเท่ากับว่าเราจะใช้ชีวิตกันต่อไปเป็นปกติหรือ “Normal” หรือไม่ ก็โชคร้ายที่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เพราะแม้ว่าเราจะกลับไปใช้ชีวิตเกือบปกติอย่างที่ว่า แต่เราก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการยุ่งยากแบบขอไปทีที่ไม่รับรองประสิทธิและไม่มีใครอยากปฏิบัติตาม ที่ทำก็พอแก้บนกันไป เห็นได้จากพนักงานของร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านท่านหรือตามห้างสรรพสินค้ายกเครื่องวัดอุณหภูมิขึ้นมายิงไปแกนๆ แบบนั้น บางจุดก็ไม่มีการจัดคนมาวัดอุณหภูมิไว้แล้ว การสแกน “ไทยชนะ” ก็เป็นอันรู้กันว่าไม่มีใครสนใจที่จะทำตามอย่างจริงจัง แค่ยกโทรศัพท์ขึ้นมาส่อง QR Code เฉยๆ น้องพนักงานหรือพี่ รปภ. ที่ถูกบังคับมาให้เฝ้าประตูก็พอใจแล้ว ส่วนการลงชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ในกระดาษก็เป็นเรื่องสนุกที่จะเขียนชื่อคนตายที่ไหนหรือไส้เดือนกิ้งกืออะไรไปก็ได้ แต่ทุกคนต้องมีภาระเล็กๆ น้อยๆ นี้ เพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าทำตาม “มาตรการของรัฐ” ที่ไม่ได้สนใจประสิทธิผลอะไรตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

แต่บางเรื่องก็ไม่ใช่เพียงการสร้างภาระเล็กน้อยอย่างการซื้อของในร้านสะดวกซื้อ การปฏิบัติตามมาตรการขึงขังของรัฐจนไร้สติก่อให้เกิดภาพที่ไม่รู้จะโกรธก่อนหรือเศร้าก่อน เช่นโรงเรียนๆ หนึ่งให้นักเรียนวัยประถมยืนกลางฝนเป็นแถวยาว เพื่อรอตรวจวัดอุณหภูมิก่อนจึงให้เข้าโรงเรียนได้ หรือมาตรการลักปิดลักเปิดที่ให้นักเรียนสลับกันเรียนแล้ววันที่ไม่เรียนก็ให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องกลับไปทำงานเต็มเวลาแล้วหาทางแก้ปัญหาเอา รวมถึงให้นักเรียนนั่งกันอยู่ในคอกกันเชื้อไม่ให้เล่นหรือพูดคุยกัน มาตรการนี้อาจจะมีประโยชน์อยู่ ถ้ามันไม่มีข้อเท็จจริงว่า พอพ้นจากรั้วโรงเรียนไปแล้ว นักเรียนก็ต้องขึ้นรถเมล์หรือรถสองแถวคันเดียวกัน หรือพ่อแม่ของนักเรียนก็ต้องออกไปทำงานพบปะผู้คนมาทั้งวันด้วยรถไฟฟ้าที่แน่นขนัดมาแล้วทั้งวัน
ไม่นับข้อกำหนดมาตรการคลายล็อกที่กลายเป็นเรื่องตลกของคนอ่าน แต่เป็นความเจ็บปวดของผู้ประกอบการ อาบอบนวดเปิดได้ แต่ห้ามค้าประเวณี ราวกับว่าแต่ก่อนมีการแพร่ระบาดนั้นทำได้ หรือสถานบริการเปิดได้แต่ต้องนั่งดื่มนั่งกินแบบกลุ่มใครกลุ่มมัน (และห้ามไปต่อร้านข้าวต้มด้วย)

ส่วนในทางการเมือง ข้ออ้างเรื่อง COVID-19 กลายเป็นเครื่องมือในการยึดอำนาจและลิดรอนสิทธิของประชาชนโดยถูกต้องตามกฎหมาย การอ้างว่าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสกลายเป็นเหตุผลในตัวของมันเองในการใช้อำนาจอย่างไม่สมเหตุสมผล เช่น การต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีกเดือน และคาดเดาได้ว่าเดี๋ยวก็จะหาเหตุมาต่ออายุไปเรื่อยๆ โดยที่เราก็รู้เท่ากับพวกเขาว่า พ.ร.ก.นี้เอาไว้ใช้ควบคุมคนไม่ใช่ควบคุมโรค

ก็คิดว่ามันสมเหตุสมผลหรือไม่กับการดำเนินคดีกับผู้ที่จัดกิจกรรมบนทางเดิน Sky Walk ของระบบรถไฟฟ้าโดยอ้างว่านั่นเป็นการ “ชุมนุมมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค” ซึ่งฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในขณะถ้ามองขึ้นไปเหนือทางเดินนั้น บนรถไฟฟ้าที่กำลังวิ่งผ่านมา ก็มีผู้โดยสารเต็มแน่นยิ่งว่าผู้คนที่ชุมนุมกันแล้วถูกดำเนินคดีเสียอีก

เท่านี้ก็รู้แล้วว่าเขาใช้มาตรการนี้เพื่อควบคุมหรือป้องกันอะไร

นี่คือชีวิตที่เราจะอยู่ในวิถีที่ไม่ใหม่แต่ก็ใช่จะปกติสุข เราอาจจะต้องยอมรับว่าในระยะเวลาปีถึงสองปีนี้ เราจะอยู่ร่วมโรคกับไวรัสชนิดหนึ่งที่สุ่มเลือกให้ใครต้องทุกข์ทรมานด้วยอาการเจ็บป่วยอย่างหนักหรือถึงแก่ชีวิต ภายใต้ความไม่แน่ไม่นอนของเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและของโลก การต้องจำยอมทำอะไรหรือเห็นอะไรที่ไร้เหตุผลชวนหัวตามแบบพิธีของรัฐ และการใช้อำนาจเผด็จการที่อ้างเรื่องไวรัสเป็นอาวุธ

ต่อจากนี้ คงไม่มีอะไรที่จะต้องกล่าวถึงวิกฤตไวรัสนี้อีกต่อไปแล้ว ที่เหลือคือการใช้ชีวิตวิถีเก่าในโลกที่ไม่เป็นปกติ ที่ No New แต่ก็ No Normal

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image