อ.รัฐศาสตร์ มช. เสนอ ‘อดีตผู้บริหาร ไอบีเอ็ม’ นำ ‘ทีมเศรษฐกิจ’ แก้วิกฤตชาติ

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ผศ.ดร.ชนินทร เพ็ญสูตร คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวถึง ทีมเศรษฐกิจที่จะมาบริหารประเทศในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปลายปีนี้ ว่า

ต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ในประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ อย่างในอเมริกา หรือ ยุโรป คนที่ทำงานด้านการเงินกลายเป็นคนรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก ซึ่งอาจยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ เช่น ฟองสบู่ดอทคอมในยุค 2000 หรือ วิกฤตในปี 2008 จึงเป็นอะไรที่น่ากลัวสำหรับสังคมไทยที่กำลังถูกกุมฐานเศรษฐกิจด้วยพนักงานรุ่นใหม่ที่อาจจะยังไม่เคยเผชิญภาวะวิกฤตมาก่อน

“ในกรณีของประเทศไทย เราจึงต้องการคนที่มีประสบการณ์ หมายความว่า ควรจะเป็นคนที่อย่างน้อยผ่านเหตุการณ์ในปี 1997 หรือถัดมา คือรอบปี 2008 ต้องมีประสบการณ์แก้ปัญหาตรงนี้มาก่อน”

ทั้งนี้ ในส่วนของลูกทีม ผศ.ดร.ชนินทรกล่าวว่า จะต้องมีภาคธุรกิจเข้ามาร่วมด้วย แต่ไม่จำเป็นจะต้องเจาะจงไปที่สายไฟแนนซ์ หรือ สายธนาคารเข้ามาในทีมเพียงอย่างเดียว การที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไม่ควรจะมีแค่โทนใดโทนหนึ่ง หลายคนอาจวางตำแหน่งผิด เอานักเศรษฐศาสตร์มาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งทางที่ดี ควรใช้นักเศรษฐศาสตร์ คู่กับ นักการตลาด เป็นทีมที่มีความ “สหวิทยาการ” เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

Advertisement

“เคยมีคนตั้งคำถามในกรณีนี้ อย่าง พอดคาสต์ของต่างประเทศ ที่ว่า ถ้าให้นักเศรษฐศาสตร์มาเป็นประธานาธิบดีจะเกิดอะไรขึ้น เขาบอกว่า ประเทศคงล่มจม เพราะวิธีการแก้ไขปัญหาบางอย่างเป็นวิธีตามหลักทฤษฎี แต่เอาเขาจริงใช้ในเชิงปฏิบัติไม่ได้ ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาจึงต้องมีทั้งฝั่งเศรษฐศาสตร์ และฝั่งการตลาด เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์อาจจะทำนายล่วงหน้าไม่ได้ แต่เมื่อเศรษฐกิจล้มลงไปอธิบายได้เก่งมาก กล่าวคือ นักเศรษฐศาสตร์เป็นกลุ่มอธิบายเหตุการณ์ แต่กลุ่มที่จะฟื้นฟูหลังจากนั้นส่วนตัวยังเชื่อว่าต้องเป็นทีมการตลาดที่เก่ง ซึ่งจะทั้งรับทั้งส่งกัน กลุ่มหนึ่งรับปัญหา อีกกลุ่มผลักดันขึ้นไปในส่วนของการแก้ปัญหา ต้องเป็น ทีมสหวิทยาการ จึงจะดีมาก”

ผศ.ดร.ชนินทรยังกล่าวอีกว่า ส่วนตัวรู้สึกชอบ คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ อย่างมาก เป็นอดีตผู้บริหารไอบีเอ็ม ผู้แก้วิกฤตตัวเลขติดลบของไทยคม จากขาดทุนให้พลิกฟื้นภายใน 6 เดือน ซึ่งจากนั้นก็ไปเป็น ซีอีโอของ ดุสิตธานี เป็นคนที่เก่งมาก ส่วนตัวรู้สึกว่าอยากได้ทีมเศรษฐกิจที่เป็นเลือดใหม่แต่ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้ว เพราะจะเข้าใจหลักการและเหตุผล ยุคเบบี้บูมเมอร์ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเมนหลักทั้งหมด อาจจะเป็นผู้บริหารรุ่นที่รองลงมา เช่น อายุราว 40-50 ปี ที่มองเห็นภาพ

ผศ.ดร.ชนินทร เพ็ญสูตร

 “หากมองในมุมสังคมศาสตร์ ประเทศไทยควรเริ่มจาก การทบทวนบทบาทของคำว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ ให้มากขึ้นหากจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะเราได้เรียนรู้จากหลายจังหวัด ตั้งแต่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ไปจนถึงภูเก็ต เศรษฐกิจพังเป็นจำนวนมาก เพราะ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ของ จีดีพี ผูกติดกับการท่องเที่ยว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจึงรู้ว่า การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น แม้กระทั่งในต่างประเทศเอง คำถามคือ เราจะมีวิธีการอย่างไร

Advertisement

“ส่วนตัวชอบฟังเรื่อง 4.0 ซึ่งเราไปก็อปปี้โมเดลมาจาก อินดรัสตรี 4.0 ของประเทศเยอรมัน แต่เยอรมันเองก็มีปัญหา เพราะตั้งแต่หลังยุคสงครามโลก ไม่มีบริษัทใดในเยอรมันที่เด่นเพราะยังเป็นอุตสาหกรรม 3.0 จึงเป็นเหตุให้เยอรมันต้องพลิกขึ้นมา ขอเป็น 4.0 และจะพัฒนาด้านเอไอ ญี่ปุ่นก็เอาสังคม 5.0 ซึ่งสังคมของเขา คนได้รับการตอบแทนจากเศรษฐกิจ 4.0 เพราะญี่ปุ่นเป็นระบบหุ่นยนต์ไปเรียบร้อยแล้ว ด้านจีนก็เป็น เอไอ

ส่วนประเทศไทย หากจะฟื้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริงจะทำอย่างไร เพราะการฟื้นเศรษฐกิจที่คุณพูดคือ ‘ระยะสั้น’ ทั้งนั้น ในเมื่อประเทศอื่นพูดถึงเอไอ และอื่นๆ ไปแล้ว ธุรกิจที่ดิสรัปต์ในไทยจะไปทางไหน เพราะสุดท้ายวิธีการแก้ปัญหาเรายังอยู่ในสังคมที่เป็น ‘ก่อน 4.0′ ซึ่งทุกวันนี้ที่พูด 4.0 ก็ไม่รู้ว่าเข้าใจหรือไม่ มีผลลัพธ์อะไรที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้บ้าง และเรามีการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือไม่” ผศ.ดร.ชนินทรกล่าว และว่า

ต้องบอกว่าบริษัทเอกชนไทย ซื้อเทคโนโลยีมาทั้งหมด เพราะทำเองใช้ต้นทุนที่สูง สุดท้ายเราก็รู้ว่าการท่องเที่ยวไปไม่ได้ และเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มาแย่งภาษีไทย เช่น เน็ตฟลิก เฟซบุ๊ก ไม่ต้องมาตั้งออฟฟิศที่ในไทย แต่สามารถกินเงินคนไทย โดยที่เสียภาษีน้อยกว่ามาก แล้วไทยจะไปทางไหนต่อ เมื่อการมองในมุมเล็กๆ ที่หวังจะพลิกบทบาทขึ้นมา ไม่ได้ช่วยในระยะยาว ประเทศอื่นไปไกลแล้ว ถึงขนาดเป็นตัวที่ผลิตอุตสาหกรรม แต่เรายังอยู่กันอย่างนี้ ต่อให้เราเดินไปก็เหมือนกับเป็นเตี้ยอุ้มค่อมไปเรื่อยๆ ดังนั้น รัฐสวัสดิการ เป็นอีกอย่างที่อยากให้เน้น เพราะตอนนี้รัฐไทย เหมือนกับ รัฐที่ทุกคนต้องมาบริจาคเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ซึ่งในอนาคตสเกลความเสียหายจะใหญ่ขึ้นอีก เพราะคนจะย้ายเข้าเมืองหมด สิ่งนี้รัฐไทยได้รองรับแล้วหรือไม่ อย่างน้อยคือ สวัสดิการสังคม เพื่อรองรับอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ไม่ทันตั้งตัว

“ส่วนตัวชื่มชมโครงการรักษาฟรีทุกคน แต่นอกเหนือจากนี้จะมีอะไรที่เป็นหลักประกันให้กับประชาชนชาวไทย ให้รู้สึกว่าเขาปลอดภัย รัฐให้การคุ้มครองเขา เพราะเชื่อว่าวิกฤตจะมีอีกในอนาคต” ผศ.ดร.ชนินทรระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image