‘เฉลิมชัย’ หนุนไทยเป็นมหาอำนาจจิ้งหรีดโลก พร้อมเสนอครม.แก้กฎกระทรวงโรคระบาดสัตว์

รมว.เฉลิมชัย เดินหน้าช่วยผู้ประกอบปศุสัตว์ รวมถึงการบินไทย หลังร้องระงมเจอผลกระทบค่าธรรมเนียมตามกฏหมายโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2559 เตรียมดันเข้าครม.ให้รับทราบ ชี้ช่วยได้ทั้งระบบแถมช่วยส่งเสริมอาชีพเลี้ยงจิ้งหรีดของไทยไปตลาดโลกที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้าน เกษตรกรสุโขทัยยกนิ้วให้ ชี้ต้องทำ เพราะผลิตเท่าไรก็ไม่พอขาย ฟันรายได้เกือบ 20 ล้านต่อปี

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบกิจการด้านปศุสัตว์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกฏกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมตามกฏหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2559 เช่น เครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแห่งประเทศไทย ขอให้ทบทวนและกำหนดยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ออกนอกราชอาณาจักรประเภท แพะ แกะ เนื่องจากราคาแพะ ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้เกษตรกรขายแพะยากขึ้น และวงรอบการเลี้ยงนานขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดาภาวะแพะล้นตลาดได้ รวมถึง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากลูกค้าย้ายไปใช้บริการของสายการบินอื่นในเส้นทางที่ไม่ผ่านราชอาณาจักรไทย เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมดังกล่าว ทำให้สูญเสียรายได้มากกว่าร้อยละ 50 และสูญเสียความเป็นผู้นำด้านการขนส่งสัตว์และซากสัตว์ ในเส้นทางบินยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น

“ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามกฏกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียม ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ 2559 ซี่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2559 นั้น มีการกำหนดค่าธรรมเนียมในบางรายการไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการด้านปศุสัตว์ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบต่อการประกอบกิจการด้านปศุสัตว์ จึงเห็นสมควรแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้มีความเหมาะสม

“ ขณะนี้ได้ลงนามในหนังสือร่างกฏกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าทำเนียมตามกฏหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ ( ฉบับที่…) พ.ศ…. เสนอต่อนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษย์ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย เพื่อให้รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาและนำเสนอให้เข้าสู่วาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีให้รับทราบและอนุมัติหลักการโดยเร็วที่สุด”

Advertisement

ในการแก้ไขดังกล่าว จะทำให้การเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ลดลง โดย แพะ แกะ ใบอนุญาตนำสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร จากตัวละ 250 บาท เป็นตัวละ 25 บาท ใบอนุญาตนำสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร จากตัวละ 200 บาท เป็นตัวละ 20 บาท ค่าที่พักสัตว์ที่นำเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร จากตัวละ 50 บาท เป็นตัวละ 10 บาท อีกทั้งยังกำหนดให้เพิ่มการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ออกนอกราชอาณาจักรสำหรับสัตว์ประเภท ม้า โค กระบือ แพะ แกะ ที่ด่านศุลกากรบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส อันเป็นมาตรการส่งเสริมจูงใจให้ผู้ประกอบการใช้ช่องทางด่านศุลกากรบูเก๊ะตาในการส่งออก พร้อมกันนี้ยังกำหนดให้เพิ่มการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ผ่านราชอาณาจักร หรือใบอนุญาตนำซากสัตว์ผ่านราชอาณาจักร สำหรับสัตว์ประเภท สุนัข แมว ไก่ เป็ด ห่าน สัตว์ปีกชนิดอื่น ขาสำหรับใช้ทำพันธุ์ หรือซากสัตว์ที่นำผ่านราชอาณาจักรทางอากาศยาน เฉพาะกรณีที่ไม่มีการเปิดตรวจตู้สินค้าหรือแบ่งถ่ายโอนสินค้า และสัตว์หรือซากสัตว์นั้นยังอยู่ในเขตปลอดภาษีหรือ Free Zone จนกระทั่งมีการเปลี่ยนถ่ายแล้วขนส่งผ่านออกไปนอกราชอาณาจักรภายในระยะเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง

นายเฉลิมชัยกล่าวต่อไปว่า ประโยชน์อีกประการที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรคือ ร่างกฏกระทรวงฯดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงจิ้งหรีดของเกษตรกร ด้วยปัจจุบันเกษตรกรมีการเลี้ยงจิ้งหรีดกันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ส่งเสริมให้คนทั่วโลกบริโภคกันมากขึ้น เพราะเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่มีราคาถูกและหาได้ง่ายในท้องถิ่น

“ ดังนั้นควรมีการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้มากขึ้นเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรพร้อมกับการลดต้นทุนในการผลิต โดยเฉพาะเรื่องของการส่งออกไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากมีการลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และค่าที่พักซากสัตว์ จะเป็นการช่วยลดต้นทุนให้แก่เกษตรกรอันจะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง ประกอบกับได้มีการประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติม ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 โดยกำหนดให้จิ้งหรีดเป็นสัตว์ชนิดอื่นด้วย จึงเห็นควรกำหนดให้อัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำซากสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร และค่าที่พักซากสัตว์ที่นำเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เฉพาะซากสัตว์ประเภทจิ้งหรีดให้มีความเหมาะสม และให้แตกต่างจากซากสัตว์ชนิดอื่น เพื่อเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด

Advertisement

นายเฉลิมกล่าวต่อไปว่า สำหรับการกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำซากสัตว์ประเภทจิ้งหรีดเพื่อการบริโภคของคนหรือสัตว์ออกนอกราชอาณาจักรกิโลกรัมละ 3 บาท และค่าที่พักซากสัตว์ประเภทจิ้งหรีดที่นำเข้ามาและส่งออกไปนอกราชอาณาจักร กิโลกรัมละ 2 บาท
“ปัจจุบันพบว่า จิ้งหรีดถูกนำไปค้าขายในรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบสด แช่แข็ง แปรรูปโดยทอด คั่ว หรือบรรจุกระป๋อง รวมถึงทำเป็นผงบด เพื่อเป็นส่วนผสมในการทำเบเกอรี่ และแปรรูปเป็นแป้งจำพวกเส้นพาสต้า โปรตีนบาร์ ผงแป้ง ขนมขบเคี้ยว และ โปรตีนเชค (proten shakes) โดยกลุ่มประเทศที่นิยมบริโภคได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา เอเชียตะวันออก ละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีข้อมูลผลการศึกษาถึงตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลก มีอัตราการเติบโตระหว่างปี 2561-2566 คิดแบบ Compound Annual Growth Rate (CAGR) ที่ร้อยละ 23.8 และคาดว่าในปี 2566 ตลาดจะมีมูลค่าถึง 37,900 ล้านบาท

“ สำหรับการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงจิ้งหรีด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมปศุสัตว์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ทั้งสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง ซึ่งมีกำลังการผลิตจิ้งหรีดรวมมากกว่า 7,000 ตันต่อปี ป้อนตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ สร้างมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงหลังการทำนาหรือในช่วงฤดูแล้ง อีกทั้งทาง มกอช. ได้มีการประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อความปลอดภัยของผลิตผลจากจิ้งหรีด และมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรองตามมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด”

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า พร้อมกันนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ผู้เลี้ยงแมลง โดยเฉพาะจิ้งหรีด ปัจจุบันมีแปลงใหญ่จิ้งหรีดทั้งหมดจำนวน 11 แปลง เกษตรกรสมาชิก469 ราย พื้นที่รวมประมาณ 848.5 ไร่ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บุรีรัมย์ พิจิตร พิษณุโลก มหาสารคาม ลพบุรี สระแก้ว และจังหวัดสุโขทัย มีกำลังการผลิตรวมกว่า 1.1 พันตันต่อปี พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพผลผลิต จนได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) การปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP)มาตรฐานการผลิตอาหาร (HACCP) มาตรฐานฟาร์มเครื่องหมาย อย. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

นางสาวชุติกาญจน์ เจื้อยแจ้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจิ้งหรีดแปลงใหญ่ชุติกาญจน์ ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โทร. 08-6448-2520 กล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 36 ราย มีการเลี้ยงจิ้งหรีดในระบบโรงเรือนทั้งแบบปิด และแบบเปิด ผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด GAP ปัจจุบันตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก สวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ ส่วนลูกค้าในประเทศ จะเน้นการจำหน่ายทางออนไลน์ ทั้งปลีก-ส่ง สินค้าส่วนใหญ่เน้นการแปรรูป ได้แก่ ผงโปรตีนจากจิ้งหรีด 100% ซึ่งนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ จิ้งหรีดอบกรอบปรุงรส ข้าวเกรียบ คุกกี้ และน้ำพริก โดยมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 1,600,000 บาท หรือประมาณ 19,200,000 บาทต่อปี

นางสาวชุติกาญจน์กล่าวอีกว่า สมาชิกของกลุ่มจะเน้นเลี้ยงจิ้งหรีดพันธ์สะดิ้งเป็นสะดิ้งเป็นหลัก ซึ่งแต่ละเดือนจะมีผลผลิตหลายสิบตัน แต่ปริมาณที่เลี้ยงได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะผงโปรตีนจากจิ้งหรีด ร้อยละ 90 ของปริมาณที่ผลิตได้จะส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่จำหน่ายภายในประเทศ

“ จิ้งหรีดรวมถึงแมลงอื่นๆ ถือเป็นอาหารโปรตีนคุณภาพสูง ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้นการเลี้งจิ้งหรีดจึงเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกรไทยในการสร้างรายได้ที่น่าสนใจ และการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเลี้ยง การตลาด การพัฒนาเข้าสู่การรับรองมาตรฐานการผลิตต่าง ๆ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้ดีมาก”นางสาวชุติกาญจน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image