‘กลุ่มแคร์’ ระดมสมอง ถกปมท่องเที่ยว หวังฟื้นเศรษฐกิจ โรงแรมโอด มองไม่เห็นอนาคต ไม่รู้ทนได้อีกกี่เดือน

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมข่าวสด อาคารสำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด เขตจตุจักร กรุงเทพฯ มติชน ข่าวสด และกลุ่ม CARE ร่วมจัดเสวนา ‘ระดมสมอง ฟื้นเศรษฐกิจ ชุบชีวิตท่องเที่ยว’ ดำเนินรายการโดย นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และนายสมปรารถนา คล้ายวิเชียร

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กล่าวว่า วันนี้เป็นการระดมสมองภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปเพื่อนำเสนอผู้รับผิดชอบและสังคมส่วนรวม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้แต่ยังต้องเข้มงวดต่อไป ในขณะที่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด สิ่งสำคัญในวันนี้คือการจัดสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจกับการสาธารณสุข ไม่เช่นนั้นอาจไม่สมารถฝ่าฟันวิกฤตินี้ไปได้

นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า โรงแรมในไทยตอนนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีจำนวน 16,282 แห่ง รวมกว่า 7 แสนห้อง โรงแรมไม่มีใบอนุญาต 49,927 แห่ง ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมโรงแรม ถ้านับคน มีจำนวน 1.6-1.8 ล้านคน ไม่รวมคู่สมรสที่จะได้รับผลกระทบจากการตกงาน ธุรกิจโรงแรมดร็อปลงตั้งแต่ปลายปีที่แล้วและมีผลต่อเนื่อง พอช่วงเดือนมกราคมเริ่มดีขึ้น แต่พอตรุษจีน จีนประกาศห้ามออกนอกประเทศแต่ยังมีกลุ่มที่หลงเหลืออยู่ กุมภาพันธ์เริ่มแย่ลงเรื่อยๆ เมษายน-มิถุนายน มีการปิดกิจการชั่วคราว ประมาณ 90-95  เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เราเผชิญคือปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายแรงงาน คือพนักงานที่มีอยู่ ซึ่งตามกฎหมายแรงงานถ้ามีการปิดกิจการชั่วคราว ต้องจ่าย 75 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ซึ่งไม่สามารถจ่ายได้ในขณะนั้น สิ่งที่ทำได้คือสิ่งที่เรียกว่าแรงงานสัมพันธ์ คือการไปพูดคุยกับพนักงานว่าเราคงจ่ายให้แค่บางส่วน ให้พนักงานอยู่บ้าน เพราะตอนนั้นมีการล็อกดาวน์

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย

สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ โรงแรมหลายแห่งเริ่มเปิด แต่หลายแห่งไม่ได้เปิด เมื่อรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ จะเห็นว่าสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งมียอดจองโรงแรมเต็ม เช่น บางแสน อย่างไรก็ตาม มองว่ามีสาเหตุมาจากความอัดอั้นจากการล็อกดาวน์มานาน ซึ่งโรงแรมที่มียอดจองมาก มักอยู่ระหว่างการขับรถยนต์ราว 2-3 ชั่วโมง เช่น พัทยาและหัวหิน แต่ในเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ คนคงไม่ไป และขณะนี้โรงแรมก็ยังไม่เปิด 100 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

“สำหรับโรงแรมในกรุงเทพ มีจำนวน 900 กว่าแห่งซึ่งรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ไม่ได้มีผู้เดินทางจากต่างจังหวัดมาเที่ยวกรุงเทพฯ รายได้ในขณะนี้มาจากการจัดประชุม สัมมนา แต่ก็น้อยลงกว่าเดิมมาก เพราะต้องมีการรักษาระยะห่างทางกายภาพจำกัดจำนวนคนต่อตารางเมตร รายได้ลดลงอย่างมหาศาล โรงแรมที่มีห้องพักมากที่สุด เจ็บปวดที่สุด แม้ตอนนี้ยังมีรายได้แต่ถามว่าครอบคลุมค่าใช้จ่ายหรือไม่ ตอบไม่ได้ เพราะต้องมีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบุคลากร

หากยังไม่ผ่อนคลายหรือมีมาตรการที่ชัดเจน เชื่อว่าโรงแรมต้องปิดอย่างถาวรไปอีกจำนวนหนึ่ง เพราะเปิดมาก็มาครอบคลุมรายจ่าย ไม่แน่ใจว่าจะทนขาดทุนไปได้กี่เดือน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ หากเป็นรายใหม่ที่ไม่ได้มีเงินเก็บมากพอ จะอยู่ได้ไม่ยาว และเชื่อว่าหากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป จะมีโรงแรมที่ปิดถาวรเกิน 20 เปอร์เซ็นต์

ถ้ารัฐยังไม่มีโอกาสมาช่วยเหลือ การท่องเที่ยวอาจไม่ได้เป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศอีกต่อไป เพราะการกลับมาอีกครั้งไม่เต็มร้อย ไม่สามารถรองรับการกลับมาใหม่ การลงทุนด้านการโรงแรม มองไม่เห็นอนาคต” นางศุภวรรณกล่าว

Advertisement
นายแพทย์ ธนรักษ์ ผลิพัฒน์  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค

นายแพทย์ ธนรักษ์ ผลิพัฒน์  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคโควิดจริงๆแล้วไม่ได้รุนแรงมาก ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 60 ปี เสียชีวิตเพียง 1 หรือ 2 ต่อ 1,000 ราย  แต่ถ้าเป็นผู้สูงอายุมีโอกาสเสียชีวิต 3-8 เปอร์เซ็นต์ แต่ถามว่าทำไมต้องกลัว นั่นเพราะหากระบาดอย่างกว้างขวาง จะมีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรทางการแพทย์มาก เช่น เตียง ห้องไอซียู เมื่อไปถึงจุดนั้นจะอันตราย เพราะโรงพยาบาลรับไว้ไม่ได้ทั้งหมด สำหรับประเทศไทย ถือว่ามีทรัพยากรทางการแพทย์ในระดับที่พอดี ไม่ได้เตรียมเผื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายสูงมาก เพราะฉะนั้นเป้าหมายสูงสุดคือการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งจากความสำเร็จของไทยจะเห็นว่ามีการแพร่ระบาดน้อยมาก บางคนเชื่อว่าได้กำจัดโรคไปได้แล้ว แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะหลายประเทศที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เป็นเวลานาน ในภายหลังก็กลับมาพบใหม่อีก สำหรับเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ไม่ให้มีผู้ป่วยนประเทศอีกเลยจนกว่าจะมีวัคซีน หรือมีบ้างแต่คุมได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้มากกว่า มองว่าที่เหมาะสมคือการป้องกันการระบาด และถ้ามาใหม่ก็ไม่ตระหนก เชื่อว่าจะคุมได้ จากวันนี้จนถึงวันที่มีวัคซีน เชื่อว่าจะยังมีผู้ป่วยกลับมาอีก แม้มีวัคซีนแล้ว โอกาสกลับมาระบาดก็ยังมี ยังต้องระวังในระดับหนึ่ง ไม่ให้เจ็บปวดซ้ำอีก

“บางคนแยกสุขภาพกับเศรษฐกิจเป็นคู่ตรงข้าม ส่วนตัวมองว่าแยกไม่ได้ แต่อยู่ข้างเดียวกัน ประเทศไทยคุมโควิดได้ เศรษฐกิจก็จะกลับมามีโอกาส ถ้าคนสุขภาพดี เศรษฐกิจก็ดี คนจน ไม่มีกิน สุขภาพดียาก สองเรื่องจึงอยู่ข้างเดียวกัน ต้องมีการจัดการปัญหาทั้งสั้นและยาว ต้องสร้างสมดุล ด้านการเดินทางเข้าประเทศเพื่อการท่องเที่ยวคิดว่าทำได้ในการจัดการความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด ผมเชื่อว่าถ้าเรามีระบบการจัดการที่ดี เน้นการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาพ สามารถทำได้ในระดับหนึ่ง” นายแพทย์ ธนรักษ์กล่าว

นาย สุรวัช อัครวรมาศ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในตอนนี้คือผู้ประกอบการคนไทยไม่เข้มแข็งจากหลายสาเหตุ ผู้ประกอบการคนไทย ขายตั๋วสู้คนอื่นไม่ได้ ที่เชียงใหม่ ไนท์ซาฟารี ชัดที่สุด ขายตั๋วให้บริษัทหนึ่ง ราคา 300 บาท แต่บริษัททัวร์ไปซื้อในราคา 450 บาท สุดท้ายต้องซื้อกับบริษัทนี้ทั้งหมด รวมทั้งไกด์ต้องวิ่งไปหาบริษัทเดียว สิ่งสำคัญที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง คือผู้มาลงทุนท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งระบบ เดี๋ยวนี้มีอีกเยอะที่ไม่ใช่คนไทย ขออนุญาตใช้ว่านอมินี เมื่อ พ.ศ. 2559 เคยพบปัญหาว่าจากการที่ทางรัฐบาลจัดการเรื่องทัวร์จีน โดยระบุว่าเรียบร้อยแล้ว แต่ถามว่าไม่มีทัวร์ศูนย์เหรียญแล้วใช่หรือไม่ จริงๆแล้วเป็นเพราะเราไม่อยากพูดคำว่าทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่ปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้น ยังคงอยู่  ขอยืนยันว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถึงไม่เจอโควิด บริษัทคนไทยก็แทบจะอยู่ไม่ได้แล้ว บริษัทที่นำทัวร์จากจีนเข้ามา เดิมที่เป็นคนไทยหายหมด ตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ทำไมไม่หาวิธีแก้ไขให้ชัดเจน อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่เข้มแข็งของผู้ประกอบการคนไทย คือเรื่องระบบภาษี

การเยียวยาของรัฐบาลมาตรการที่ได้รับมีแค่ 3 อย่าง อย่างแรกคือ 62 เปอร์เซ็นต์ของประกันสังคมซึ่งกำลังจะหมดในเดือนนี้ กำลังวิงวอนอยู่ว่าขอต่อไปอีกสัก 3 เดือนได้หรือไม่ คำว่าต้องหยุดกิจการทุกอย่างจึงจะรับเงินนี้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย ต้องเข้าหมวดเหตุสุดวิสัย แต่ผมเอาเงินส่วนตัวจ่ายให้พนักงาน และให้เขาไปรับ 62 เปอร์เซ็นต์ด้วย ซึ่งจำนวนสูงสุดที่จะได้ก็เพียง 9,300 บาทเท่านั้นจาก 15,000 บาท อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ถือว่าช่วยได้เยอะ จึงอยากให้ต่อไปอีก 3-6 เดือน อย่างน้อยที่สุดคือถึงสิ้นปี นี่คือสิ่งที่เรายังพอมองเห็น สำหรับซอฟท์โลนที่มีการพูดถึงมาโดยตลอด ที่ทำไม่ได้เพราะเหตุผลเรื่องความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ ตนต้องการผลักดันเรื่องภาษีมาก เพราะทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเดินลำบาก

“สิ่งสำคัญที่สุดที่ภาครัฐคิดว่าให้กับเราตอนนี้ จากงบประมาณ จากงบ 22,400 ล้าน ที่จะถึงเร็วๆนี้ มีงบให้กำลังใจสำหรับ อสม. 1 ล้าน 2 แสนคน รวมเงิน 2,400 ล้านบาท ซึ่งดีมาก คนที่จะได้รับประโยชน์คือบริษัททัวร์  13,000 ราย อย่างไรก็ตาม อย่าบอกว่าเราได้รับแล้ว เพราะมีเงื่อนไขหลายอย่าง คุณให้คนละ 2, 000 บาท พัก 1 คืน รวมไกด์ ค่ารถ และทุกอย่าง ขณะนี้มีประเด็นสำคัญคือต้องให้บริษัททัวร์ที่สนใจรับ อสม. มาขึ้นทะเบียนให้เสร็จในวันที่กำหนด ซึ่งยังพอทำได้ แต่กลับต้องให้ใส่โปรแกรมทัวร์ให้เรียบร้อยเหมือนกัน ซึ่งจะเกิดปัญหาจากการล็อคโปรแกรมที่กำหนดด้วยว่าห้ามเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นไปไมได้” นายสุรวัชกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image