สถานีคิดเลขที่ 12 : นายกฯ พบสื่อ โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : นายกฯ พบสื่อ โดย ปราปต์ บุนปาน

มองในภาพกว้าง การที่ท่านนายกรัฐมนตรีเริ่มออกเดินสายพบสื่อมวลชนอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก นับแต่ปี 2557 ก็ถือเป็นความพยายามที่จะทำให้บรรยากาศทางการเมือง “เปิดกว้าง” มากขึ้น

ด้วยท่าทีของผู้นำที่พร้อมจะ “รับฟัง” และ “แลกเปลี่ยนความคิดเห็น” กับสมาชิกร่วมสังคมคนอื่นๆ มากกว่า เดิม

ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสพบปะท่านนายกฯ ขออนุญาตสรุปข้อสังเกตบางประการต่อกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งอาจจะพอมีประโยชน์อยู่บ้าง ทั้งต่อนายกรัฐมนตรีและสังคมการเมืองไทยโดยรวม ดังเนื้อหาต่อไปนี้

(1)

Advertisement

ท่ามกลางอารมณ์ที่แจ่มใสไม่ขุ่นมัว ด้วยท่าทีที่ผ่อนคลายพร้อมรับฟังและเปิดใจ สิ่งหนึ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีน่าจะเปิดเผยกับสื่อทุกสำนักเหมือนกัน ก็เห็นจะเป็นความยึดมั่นจงรักภักดีต่อสามสถาบันหลักของชาติ

ขณะเดียวกัน ท่านนายกฯยังบอกเล่าถึงการทำงานอย่างหนัก ต้องอ่าน-ตรวจสอบเอกสารราชการแผ่นดินให้ละเอียดถี่ถ้วน จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาว่างให้ครอบครัว เช่นเดียวกับที่คนในครอบครัวต้องเสียสละวิถีชีวิตส่วนตัวเพื่อพ่อที่กลายมาเป็นผู้นำประเทศ

การรักศรัทธาในสิ่งถูกต้องดีงามที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน ตลอดจนการมุ่งมั่น เสียสละ และอุทิศชีวิตให้แก่ส่วนรวม ดูคล้ายจะเป็นความเชื่อที่ช่วยยึดโยงอุดมการณ์และประคับประคองตัวตนทางการเมืองของท่านนายกฯเอาไว้ มิให้ล้มทรุดหรือสั่นคลอน

ทว่า “ความแข็งแกร่ง” ดังกล่าวย่อมแปรสภาพเป็น “จุดเปราะ” ที่ทำให้ท่านนายกฯหงุดหงิดในบางครั้งคราว เมื่อถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิติเตียน กระทั่งยั่วล้อเสียดสี โดยมองข้ามคุณสมบัติเหล่านั้นไปอย่างไม่ไยดี

(2)

ท่ามกลางสภาวะการเมืองไทยที่เต็มไปด้วยพรรค พวก กลุ่ม คณะ ซึ่งหมายความว่าปัจจัยชี้วัดความสำเร็จทางการเมือง ไม่ว่าจะในเชิงผลประโยชน์ หรือในเชิงการแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนของประเทศ ล้วนต้องการความร่วมมือของหมู่คณะ หรือการทำงานเป็นทีม

ท่านนายกรัฐมนตรีกลับเลือกที่จะเดินสายพูดคุยกับสื่อมวลชน ในฐานะ “นักการเมือง” เพียงคนเดียว ของคณะทำงานชุดเล็กๆ ที่ประกอบด้วยข้าราชการระดับสูงและเหล่าเสนาธิการ ซึ่งมีฟังก์ชั่นเป็น “ทีมงานเลขานุการ”

การเป็น “นักการเมือง” ที่มารับฟัง-สนทนากับตัวแทนสื่อ ในลักษณะ “ตัวคนเดียว” อาจช่วยให้ท่านนายกฯมีโอกาสได้เน้นย้ำถึงคุณลักษณะส่วนบุคคลของท่าน เช่น การเป็นคนซื่อสัตย์ ไม่รับผลประโยชน์อื่นๆ นอกจากเงินเดือน หรือการไม่เปิดบ้านในวาระพิเศษ

ทั้งยังเปิดโอกาสให้ท่านนายกฯได้แสดงศักยภาพแบบเดี่ยวๆ ในการเป็นผู้นำที่สามารถระบุถึงปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยร่วมสมัยได้อย่างครอบคลุม และสามารถแจกแจงข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาจากมุมมองของหัวหน้ารัฐบาลได้มากพอสมควร

แต่พร้อมๆ กันนั้น ท่านนายกฯก็อาจเผลอติดกับดักของ “คุณลักษณะผู้นำแบบไทยๆ” ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างต้องการผู้นำชนิดเอกบุรุษ/มหาบุรุษ ผู้รอบรู้กระจ่างชัดทุกเรื่องราว

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีมนุษย์ธรรมดาสามัญคนไหนที่จะรู้ไปหมดทุกเรื่อง เชี่ยวชาญไปหมดทุกด้าน และสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคมได้ในทุกประเด็น

ยิ่งในสภาพที่ระบบการจัดสรรแบ่งปันอำนาจทางการเมืองยังไม่ลงตัว ขณะที่มีปัญหาโควิด-19 แทรกซ้อนเข้ามา พร้อมภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

การฝากความหวังไว้ที่คนคนเดียว หรือการที่คนคนเดียวพร้อมจะแบกรับภาระหนักหนาสาหัสไว้บนบ่าของตนเอง ย่อมถือเป็นทำร้ายมนุษย์คนนั้นอย่างไร้ปรานี

ท่านนายกฯตระหนักชัดเจนว่า โครงสร้างของระบบการเมืองไทยเท่าที่เป็นอยู่ นั้นไม่เอื้อให้มี “คนมีความสามารถ” เข้ามาช่วยงานท่านได้มากกว่านี้

แต่ก็เป็นเพราะระบบโครงสร้างข้างต้นมิใช่หรือ ที่เปิดทางสะดวกให้ท่านได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image